ซีเอ็นเอ็น - ภาพถ่ายและวิดีโอ เผยผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีตุรกีกำลังไล่เตะผู้ประท้วงเหมืองถ่านหินระเบิดคร่าชีวิตกว่า 300 ศพ กระตุ้นเสียงขุ่นแค้นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้สึกโกรธแค้นที่มีต่อรัฐบาลไปแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า เหตุผู้ช่วยทำร้ายผู้ประท้วงเกิดขึ้นขณะที่นายกรัฐมนตรี เรเซป เทย์ยิบ เอร์โดกัน กำลังลงตรวจพื้นที่เกิดเหตุในเมืองโซมา หนึ่งวันหลังจากเหมืองถ่านหินของบริษัทโซมา โฮลดิ้ง เกิดระเบิดและถูกไฟเผาผลาญ
ในวิดีโอพบเห็นผู้ประท้วงชายคนหนึ่งถูกกองกำลังความมั่นคงเข้ารวบตัว แต่ระหว่างที่เขาเสียหลักนอนอยู่กับพื้น ก็พบเห็นที่ปรึกษาของเอร์โดกัน ในชุดสูทปรี่เข้าไปวางแข้งเต็มแรง และต่อมาทราบว่าผู้ที่ลงมือก็คือนายยูซูฟ เยอร์เคล ภาพหตุการณ์นี้กระตุ้นความเสียงโวยวายในตุรกี โดยเฉพาะบนโลกสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นในประเทศแห่งนี้ที่กระทบต่ออำนาจการปกครองของนายเอร์โดกัน
นอกเหนือจากคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว คำพูดของนายเอร์โดกัน เกี่ยวกับเหตุเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บของคนงานเหมืองเมื่อวันพุธ (14) ก็กระตุ้นต่อมโมโหและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด หลังเขาสัญญาว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุเหมืองระเบิด แต่ปฏิเสธเสียงประณามว่าเป็นความผิดของรัฐบาล โดยชี้ว่าอุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
ไม่นานหลังจากนั้น เหตุประท้วงก็ปะทุขึ้นทั้งที่เมืองโซมา และเมืองอื่นๆทั่วตุรกี รวมถึงกรุงอังการาและอิสตันบูล โดยมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจปราบจลาจล
นอกเหนือจากไม่พอใจคำพูดผู้นำตุรกีแล้วผู้ประท้วงยังโทษรัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยในการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งที่เคยเกิดเหตุระเบิดที่เหมืองแห่งนี้มาแล้วหลายครั้ง ขณะที่สหภาพต่างๆก็เรียกร้องให้ผละงานประท้วงทั่วประเทศในวันพฤหัสบดี (15)
ส่วนสถานการณ์ที่เหมืองในเมืองโซมา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอิสตันบูล ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 480 กิโลเมตร ความพยายามกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึม แต่พบสัญญาณแห่งความขุ่นแค้นต่ออุบัติเหตุครั้งนี้น้อยกว่าที่อื่นๆ
ในวันพฤหัสบดี (15) ประธานาธิบดีอับดุลเลาะห์ กุล ใช้คำพูดที่ปลอบประโลมระหว่างลงเยือนเมืองโซมา หนึ่งวันหลังจากนายกรัฐมนตรีของเขาพูดจากเรียกเสียงโมโหจากประชาชน “เหตุไฟไหม้เหมืองที่คร่าชีวิตคนงานจำนวนมาก คือความเศร้าโศกของคนทั้งประเทศ” กุล บอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมกับกล่าวแสดงความเสียใจกับญาติๆ ผู้เสียชีวิต
เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและกู้ภัย สามารถกู้ศพคนงานเหมืองได้เพิ่มเติมในวันพฤหัสบดี (15) แม้ยังคงมีควันคุกรุ่นอยู่ ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจนถึงตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 283 ราย สูญหาย 150 คน และมีคนงานที่ได้รับความช่วยเหลือออกไปได้ทั้งสิ้น 363 คน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ตอนเช้าวันพุธ (14) เป็นต้นมา ยังไม่พบผู้รอดชีวิตอีกเลย
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อ เออร์โดแกน ซึ่งเคยถูกมวลชนตุรกีออกมาชุมนุมขับไล่เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ขณะที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวคดีคอร์รัปชันที่บุคคลในครอบครัว เออร์โดแกน และพันธมิตรทางการเมืองของเขาเข้ามาซ้ำเติมอีกระลอก