เอเอฟพี – สหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดในตุรกีประกาศหยุดงานในวันนี้(15) เพื่อประท้วงโศกนาฏกรรมเหมืองถ่านหินระเบิดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 282 ศพ และยังมีคนงานอีกจำนวนมากที่ติดอยู่ใต้ดินรอการช่วยเหลือ
สมาพันธ์สหภาพแรงงานตุรกี (KESK) ซึ่งเป็นตัวแทนแรงงานกว่า 240,000 คน แถลงผ่านเว็บไซต์ว่า “พวกที่สนับสนุนนโยบายแปรรูปกิจการเป็นของเอกชน พวกที่ลดค่าใช้จ่ายและทำให้แรงงานต้องเสี่ยงชีวิต คือต้นเหตุของการสังหารหมู่ที่เหมืองถ่านหินในเมืองโซมา และคนเหล่านี้จะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ”
ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังระคนโกรธแค้นของชาวตุรกีเพิ่มทวีขึ้นทุกขณะ สวนทางกับความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตภายในเหมืองถ่านหินเมืองโซมา จังหวัดมานิซา ทางตะวันตกของตุรกี
เมื่อวานนี้(15) ยังเกิดเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงหลายพันคนในกรุงอังการาและนครอิสตันบูล ซึ่งประณามรัฐบาลและอุตสาหกรรมเหมืองของประเทศว่าละเลยความปลอดภัยของคนงาน
นายกรัฐมนตรี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน แห่งตุรกี สัญญาว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุเหมืองระเบิด แต่ปฏิเสธเสียงประณามว่าเป็นความผิดของรัฐบาล โดยชี้ว่า “อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ”
“นี่คืออุบัติเหตุระหว่างการทำงานครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของชาติ” เออร์โดแกน กล่าวขณะลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ท่ามกลางเสียงร่ำไห้ของญาติคนงานที่เรียกร้องให้นายกฯ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
เออร์โดแกน ชี้ว่า เวลานี้ยังไม่สามารถระบุยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายที่แน่นอน แต่ผู้บริหารเหมืองคาดว่า น่าจะยังมีคนงานติดอยู่ใต้ดินอีกประมาณ 90 คน หลังเหมืองถ่านหินแห่งนี้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อวันอังคาร(13) โดยสาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
ด้านหน่วยกู้ภัยประเมินว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น โดยคนงานส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป
ผู้นำตุรกีพยายามบรรเทาความตื่นตระหนกของสังคม โดยชี้ว่าเหตุการณ์เหมืองระเบิดครั้งนี้ยังไม่ร้ายแรงเท่าอุบัติเหตุเหมืองที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างว่า “เคยมีคนตายที่อังกฤษ 204 คนในปี 1862 และอีก 361 คน ในปี 1864”
ญาติและเพื่อนฝูงของเหยื่อซึ่งไปชุมนุมใกล้กับอาคารที่ เออร์โดแกน กำลังแถลงข่าวถึงกับเลือดขึ้นหน้า โดยมีบางคนวิ่งเข้าไปเตะถีบรถยนต์ของนายกฯ เพื่อระบายความแค้น
ตำรวจตุรกีใช้แก๊สน้ำตาและสายยางฉีดน้ำแรงดันสูงขับไล่ประชาชนราว 3,000-4,000 คนที่ออกมาประท้วงบริเวณจตุรัสคิซิเลย์ใจกลางกรุงอังการา ส่วนที่นครอิสตันบูลก็มีการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมหลายพันคนเช่นกัน
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อ เออร์โดแกน ซึ่งเคยถูกมวลชนตุรกีออกมาชุมนุมขับไล่เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ประกอบกับในช่วงไม่กี่เดือนมานี้มีกระแสข่าวคดีคอร์รัปชันที่บุคคลในครอบครัว เออร์โดแกน และพันธมิตรทางการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
ทาเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตุรกี แถลงเช้าวันนี้(15)ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเหมืองระเบิดได้เพิ่มขึ้นเป็น 282 ราย และเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องปฏิบัติงานอย่างยากลำบาก เนื่องจากเพลิงที่ลุกไหม้ภายในเหมืองยังไม่ดับ
มูรัต เคอร์โกกลู คนงานจากเหมืองอีกแห่งที่มาช่วยกู้ภัย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อวานนี้(14)ว่า “เราจะพยายามช่วยเหลือคนที่ยังติดอยู่ภายในออกมาทีละคน แต่คุณก็ทราบดีว่าไม่มีหวังอีกแล้ว พวกเขาทุกคนพบจุดจบหมดแล้ว”
รายงานข่าวในช่วงแรกๆ ระบุว่า ขณะเกิดเหตุมีคนงานอยู่ภายในเหมืองรวมทั้งสิ้น 787 คน และล่าสุดเมื่อค่ำวันพุธ(14) บริษัท โซมา โกมูร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้บริหารเหมืองได้แถลงว่า สามารถช่วยคนงานออกมาได้ “เกือบ 450 คน”
เมืองโซมาถือเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และอยู่ห่างจากนครอิสตันบูลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 480 กิโลเมตร