เอเจนซีส์ - หน่วยกู้ภัยเมื่อวันพุธ (14 พ.ค.) เร่งรีบค้นหาคนงานอีกกว่า 100 ชีวิต ซึ่งคาดว่ายังติดอยู่ใต้เหมืองถ่านหินทางตะวันตกของตุรกีที่เกิดระเบิดตั้งแต่คืนวันอังคาร (13 ) ท่ามกลางความหวังริบหรี่ เนื่องจากไฟยังคงไหม้ภายในเหมืองที่มีความลึกกว่า 400 เมตร โดยที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตซึ่งยืนยันแล้วได้เพิ่มขึ้นเป็น 238 ราย ถือเป็นหนึ่งในความหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดของอุตสาหกรรมเหมืองตุรกี
นายกรัฐมนตรี เรเซป เทย์ยิบ เอร์โดกัน บอกเลื่อนการเดินทางเยือนต่างประเทศ และให้ตัวเลขชีวิตคนเหมืองที่สูญเสียล่าสุดในวันพุธ ระหว่างที่เขาไปตรวจเยี่ยมเหมืองถ่านหินแห่งนั้น ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโซมา ห่างจากนครอิสตันบูลไปทางใต้ราว 250 กิโลเมตร ก่อนหน้านั้น เขายังได้ประกาศให้ทั่วประเทศไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วัน รวมทั้งสั่งลดธงชาติลงครึ่งเสา
ทางด้าน เทเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีพลังงานตุรกีแถลงก่อนหน้าการไปตรวจเยี่ยมของเอร์โดกัน ว่า มีคนงาน 787 คนอยู่ในเหมือง ขณะเกิดระเบิดเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. คืนวันอังคาร และได้รับการช่วยเหลือตลอดจนออกมาได้เองรวมแล้ว 363 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บอย่างน้อย 80 คน โดย 4 คนอาการสาหัส
หากนำจำนวนผู้ที่ออกมาได้แล้ว และผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิต หักออกจากจำนวนคนงานที่อยู่ในเหมืองตอนระเบิด ก็หมายความว่ายังคงมีคนงานซึ่งไม่ทราบชะตากรรมอีกร่วมๆ 200 คน อย่างไรก็ตาม ยิลดิชกล่าวว่าไม่อาจระบุได้ชัดๆ ว่ายังมีผู้ติดอยู่ในเหมืองจำนวนเท่าใด เพราะตัวเลขซึ่งทางบริษัทเหมืองให้มานั้นมีความไม่แน่นอนบางประการ
แต่เขายอมรับว่า “เมื่อพิจารณาจากปฏิบัติการกู้ภัยแล้ว ผมต้องยอมรับว่า ความหวังของเรา (ในการช่วยเหลือผู้ที่ยังติดอยู่นั้น) ริบหรี่ลงเรื่อยๆ” เขากล่าวขณะเฝ้าดูเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 400 คน รีบเร่งทำงานแข่งกับเวลา
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกฯ เอร์โดกัน ระบุในเวลาต่อมาว่า แม้ยังไม่อาจให้ตัวเลขที่แน่นอน แต่ประมาณการกันว่ายังคงคนงานติดอยู่ในเหมืองราว 120 คน
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนกะการทำงาน จึงมีคนงานอยู่ในเหมืองมากกว่าปกติซึ่งอาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามอัดออกซิเจนเข้าไปในเหมืองเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่ภายใน ทว่า ไฟยังคงไหม้ภายในเหมืองแม้เหตุระเบิดผ่านไปแล้วถึง 18 ชั่วโมง บรรยากาศโดยรอบปกคลุมด้วยกลุ่มควัน และสาเหตุของการเสียชีวิตคือการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์
เจ้าหน้าที่ตุรกีเปิดเผยว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการระเบิดและไฟไหม้ โดยน่าจะสาเหตุจากหม้อแปลงไฟฟ้าทำงานผิดพลาด
ก่อนหน้านี้ยิลดิซแถลงว่า คนงานบางส่วนติดอยู่ในบริเวณตอนล่างๆ ของเหมืองแห่งนี้ที่มีความลึกถึง 420 เมตร ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า พนักงานไม่สามารถใช้ลิฟต์เพื่อออกจากเหมืองได้ เนื่องจากการระเบิดทำให้ไฟดับ
คนงานที่อยู่เหมืองใกล้เคียงถูกนำตัวมาเพื่อให้ความช่วยเหลือปฏิบัติการกู้ภัย คนงานวัย 30 ปีผู้หนึ่ง เล่าว่า เขารีบไปยังที่เกิดเหตุเพื่อช่วยพี่ชายที่ยังสูญหายตั้งแต่เช้าวันพุธ แต่ลงไปในเหมืองได้เพียง 150 เมตรเนื่องจากมีควันหนาทึบ เขายังบอกว่า ไฟยังไหม้ในเหมืองและคนงานติดอยู่ลึกมาก
“ไม่มีหวังเลย” เขาบอก
ช่วงคืนวันอังคาร (13) ผู้คนที่ชุมนุมกันอยู่ปากเหมือง พากันส่งเสียงดีใจเมื่อคนงานถูกช่วยขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน รถพยาบาลหลายสิบคันวิ่งเข้า-ออกเพื่อรับศพ และผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวนมากออกันอยู่บริเวณทางเข้าเหมืองบนไหล่เขา โดยที่ตำรวจวางแนวรั้วและตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยรอบโรงพยาบาลรัฐโซมาเพื่อป้องกันไม่ให้ฝูงชนฝ่าเข้าไป
ห้องเย็นและรถห้องเย็นถูกใช้เป็นห้องดับจิตชั่วคราวในบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อเก็บรักษาร่างคนงานที่นำออกจากเหมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดจิตแพทย์ให้คำแนะนำญาติคนงานที่ติดอยู่ในเหมืองด้วย
ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องผ่านสื่อสังคมให้ไปชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัท โซมา โคเมอร์ อิสเลตเมเลอรี เจ้าของและผู้ดำเนินการเหมือง ซึ่งออกคำแถลงว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นแม้บริษัทดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยระดับสูงสุดและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และเสริมว่า ขณะนี้ได้เริ่มการสอบสวนหาสาเหตุแล้ว
“สิ่งสำคัญอันดับแรกของเราคือ ช่วยคนงานออกมาจากเหมือง” คำแถลงของบริษัทระบุ
ด้านกระทรวงแรงงานและประกันสังคมตุรกี ก็สำทับว่า เหมืองแร่ที่เกิดเหตุได้รับการตรวจสอบ 5 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2012 โดยครั้งสุดท้ายคือในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และไม่พบการละเมิดมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด
ทว่า พรรคฝ่ายค้านใหญ่โจมตีว่า เมื่อไม่นานนี้พรรคของเอร์โดกันคว่ำข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุที่แม้ไม่รุนแรงแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเหมืองหลายแห่งในโซมา
อุบัติเหตุในเหมืองเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในตุรกีเนื่องจากปัญหามาตรฐานความปลอดภัยต่ำ หายนะเหมืองแร่ครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศนี้เกิดขึ้นในปี 1992 จากเหตุแก๊สระเบิดทำให้คนงานในเมืองซองกูลดัคเสียชีวิตถึง 263 คน และปี 2010 เกิดเหตุแก๊สระเบิดอีกครั้ง ทำให้คนงานเหมืองในเมืองเดียวกันเสียชีวิต 30 คน