เอเอฟพี/บีบีซี/รอยเตอร์ส - ความโกรธกริ้วที่มีต่อรัฐบาลตุรกีจากหายนะเหมืองถ่านหินระเบิดปะทุขึ้นเป็นวงกว้างในวันพุธ(14) จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ตำรวจและผู้ประท้วงในหลายเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีเอร์โดกัน ก็ถูกล้อมและด่าทอระหว่างลงพื้นที่ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตยืนยันอย่างเป็นทางการเพิ่มเป็น 274 ศพและอีกราว 120 คนยังสูญหาย
เหตุพังถล่มและเพลิงนรกเผาผลาญ ณ เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่ง ห่างจากเมืองอิสตันบูล ไปทางใต้ราว 250 กิโลเมตร กระตุ้นความขุ่นเคืองลุกลามไปทั่วประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในชาติที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ณ ที่ทำงานเลวร้ายที่สุดในโลก
เหล่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นสหภาพฝ่ายซ้าย พากันตะโกนต่อต้านรัฐบาลระหว่างเดินขบวนไปตามถนนอิสติคลัลในอิสตันบูล ส่วนตำรวจก็ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำเข้าใส่และกระสุนยาง ซึ่งผลจากการปะทะส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งและอีกหลายคนถูกจับกุมตัว ขณะเดียวกันก็มีรายงานพบเห็นการประท้วงที่อาคารสำนักงานใหญ่ของโซมา โฮลดิ้ง บริษัทเจ้าของเหมืองในอิสตันบูลด้วย
นอกจากนี้แล้ว ความขุ่นเคืองต่อรัฐบาลยังปะทุขึ้นในเมืองโซมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองถ่านหินมรณะ โดยผู้คนพากันล้อมรถและโห่ไล่ด่าทอนายกรัฐมนตรีเรเซป เทย์ยิบ เอร์โดกัน อย่างเดือดดาล ระหว่างที่เขาลงตรวจพื้นที่เกิดเหตุ ขณะที่สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าผู้ประท้วงบางส่วนถึงขั้นเตะรถยนต์ที่เขานั่งมาและเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง
จากนั้นช่วงที่เขาโผล่ออกมาจากรถยนต์ ก็ได้ยินเสียงตะโกนโห่ไล่ดัง และระหว่างนั้นก็มีเหตุชุลมุนวุ่นวายจนมีคนถูกจับกุมตัวไปหลายราย ขณะที่ภาพข่าวเผยให้เห็นว่าหน่วยบอร์ดีการ์ดรุดเข้าล้อมกรอบปกป้องนายกรัฐมนตรีรายนี้ทันที ก่อนที่พาตัวเขาไปหลบที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ประท้วงอีกกลุ่มได้ก่อเหตุโจมตีที่ทำการพรรคเอเคประจำเมืองแห่งนี้ด้วย
ขณะเดียวกันตำรวจตุรกี ก็ได้ยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุมราว 3,000 ถึง 4,000 คน ที่ใช้จตุรัสคิซิเลย์ ย่านกลางกรุงอังการา ประท้วงอุบัติเหตุเหมืองระเบิดที่คร่าชีวิตคนงานจำนวนมาก ในหายนะทางอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ โดยผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่าพบเห็นผู้ชุมนุมโยนพลุไฟเข้าใส่กองกำลังความมั่นคง
นอกจากความเดือดดาลของประชาชนทั่วไปแล้ว ผู้สื่อข่าวของบีบีซี รายงานด้วยว่าบรรดาญาติมิตรของคนงานเหมืองแร่ที่ยังสูญหาย ก็พากันไปรวมตัวที่โรงพยาบาล พร้อมประกาศจะขอปักหลักไม่ยอมไปไหนจนกว่าจะได้รับทราบข่าวคราวของบุคคลอันเป็นที่รัก
นายเอร์โดกัน ต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับปฏิกิริยาตายด้านต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ หลังจากเขายกเอาอุบัติเหตุเหมืองที่เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก มาปกป้องประวัติการทำงานของรัฐบาลตุรกี
อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าจะใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีเพื่อค้นหาคนงานเหมืองที่สูญหายและให้คำมั่นจะดำเนินการสืบสวนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ "ผมขอให้ทุกคนรู้เลยว่า จะมีการตรวจสอบหายนะครั้งนี้ทุกแง่มุม" เขากล่าว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศให้มีการไว้ทุกข์แก่เหยื่อทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน
ในวันพุธ(14) หน่วยกู้ภัยยังคงเร่งมือค้นหาคนงานอีกราว120 ชีวิต ซึ่งคาดว่ายังติดอยู่ใต้เหมืองถ่านหินทางตะวันตกของตุรกีที่เกิดระเบิดตั้งแต่คืนวันอังคาร (13 ) ท่ามกลางความหวังริบหรี่ เนื่องจากไฟยังคงไหม้ภายในเหมืองที่มีความลึกกว่า 400 เมตร
เทเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีพลังงานตุรกีแถลงก่อนหน้าการไปตรวจเยี่ยมของเอร์โดกัน ว่า มีคนงาน 787 คนอยู่ในเหมือง ขณะเกิดระเบิดอันมีต้นตอจากหม้อแปลงไฟขัดข้อง และได้รับการช่วยเหลือตลอดจนออกมาได้เองกว่า 400 คน คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บอย่างน้อย 80 คน โดย 4 คนอาการสาหัส ด้วยหนึ่งในผู้เสียชีวิตมีชื่อว่าเคมาล ยิลดิซ อายุแค่ 15 ปี
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนกะการทำงาน จึงมีคนงานอยู่ในเหมืองมากกว่าปกติซึ่งอาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่รายงานข่าวระบุว่าพวกที่ติดอยู่ภายในนั้น ติดอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ราว 4 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้ดินราว 2 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามอัดออกซิเจนเข้าไปในเหมืองเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่ภายใน ทว่า ไฟยังคงไหม้ภายในเหมืองแม้เหตุระเบิดผ่านไปแล้วถึง 18 ชั่วโมง บรรยากาศโดยรอบปกคลุมด้วยกลุ่มควัน และสาเหตุของการเสียชีวิตคือการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์
ในช่วงค่ำวันพุธ(14) เจ้าหน้าที่ออกมาปรับปรุงข้อมูลล่าสุด โดยยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจากในเหตุเหมืองแร่ระเบิด เพิ่มเป็นอย่างน้อย 274 ราย นับเป็นหายนะทางอุตสาหกรรมเหมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ขณะที่นายเทเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีพลังงาน เสริมว่าไฟที่ยังลุกโชนเป็นอุปสรรคต่อความพยายามกู้ภัยที่กำลังทำงานแข่งกับเวลา