xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อเหมืองมรณะตุรกีพุ่งทะลุ 200 ศพ พบมีคนงานยังติดค้างอีกอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในเหมืองถ่านหินทางตะวันตกของตุรกีล่าสุด ได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 201 ราย ขณะที่ทีมกู้ภัยต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อหาทางช่วยเหลืออีกนับร้อยชีวิตที่ยังคงติดอยู่ใต้ดิน

รายงานข่าวซึ่งอ้างทาเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีพลังงานของตุรกีในวันพุธ (14) ระบุยอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (13) ที่เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งในเมืองโซมา จังหวัดมานิซาได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 201 ราย

ขณะที่ผู้รอดชีวิตจำนวนอย่างน้อย 80 รายที่ถูกช่วยเหลือขึ้นมาจากใต้ดินต่างมีอาการบาดเจ็บ ซึ่งบางรายในจำนวนนี้มีอาการสาหัส และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจเพิ่มสูงกว่านี้ แม้หน่วยกู้ภัยพร้อมเครื่องจักรกลหนักจากทั่วประเทศ จะถูกระดมเข้ามาในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังติดอยู่ใต้ดินที่คาดว่าจะมีจำนวนอีกนับร้อย

“ทีมกู้ภัยของเรายังคงเร่งทำงานแข่งกับเวลา พวกเขาตระหนักดีถึงความสำคัญของทุกวินาทีที่ผ่านเลยไป แต่ข้าพเจ้าเกรงว่า เราอาจต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับกับข่าวที่ไม่สู้ดีนักที่อาจเกิดขึ้น” รัฐมนตรีพลังงานของตุรกี กล่าว

ด้าน นายกรัฐมนตรี เรเซป ทายยิป แอร์โดกัน ผู้นำรัฐบาลตุรกีประกาศยกเลิกแผนเดินทางเยือนแอลเบเนียในทันที และประกาศจะเดินทางมุ่งหน้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุที่โซมาในวันพุธ (14) โดยนายกรัฐมนตรีตุรกีกล่าวก่อนออกเดินทางจากกรุงอังการาว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นความสูญเสียครั้งเลวร้ายของชาติ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจอย่างถึงที่สุดต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย

ขณะที่ “โซมา โคมูร์” บริษัทที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการขุดเจาะเหมืองที่เกิดเหตุออกคำแถลงแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ยังคงยืนยันว่า ทางบริษัทได้นำมาตรการด้านความปลอดภัยในระดับสูงสุดเข้าบังคับใช้กับเหมืองแห่งดังกล่าว และมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

คำแถลงของบริษัทสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับคำให้การของเหล่าคนงานที่รอดชีวิตซึ่งต่างระบุตรงกันว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยภายในเหมืองแห่งนี้อยู่ในขั้นเลวร้าย และคนงานต้องทำงานโดย “รองรับความเสี่ยงด้วยตนเอง” ตลอดเวลาที่อยู่ภายในเหมือง

ด้านศาสตราจารย์ เวดาต ดิดารี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของตุรกีออกมาเตือนว่า อุปสรรคสำคัญยิ่งต่อความพยายามในการช่วยเหลือคนงานที่ยังติดอยู่ใต้ดิน คือ “การขาดออกซิเจน” พร้อมระบุว่า หากพัดลมระบายอากาศที่ติดตั้งภายในเหมืองหยุดทำงาน โอกาสที่คนงานที่ยังติดค้างอยู่ภายในจะเสียชีวิตทั้งหมด อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 1992 ตุรกีต้องเผชิญกับอุบัติเหตุที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเหมืองแร่ หลังเกิดการระเบิดของก๊าซภายในเหมืองแห่งหนึ่งที่จังหวดซอนกุลดัค ริมฝั่งทะเลดำเป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิตถึง 263 ราย






กำลังโหลดความคิดเห็น