เอเอฟพี/รอยเตอร์ - กลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียยืนกรานวันนี้ (8 พ.ค.) ว่าจะยังเดินหน้าจัดการลงประชามติแยกดินแดน ทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ในสุดสัปดาห์นี้ต่อไป แม้ว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้เรียกร้องให้เลื่อนกำหนดการดังกล่าวออกไปก่อน
เดนิส ปูชิลิน ผู้นำกลุ่มผู้ประท้วงฝักใฝ่รัสเซียกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เมืองโดเนสค์ ซึ่งมีประชากร 1 ล้านคน และกลุ่มนิยมรัสเซียตั้งให้เป็นเมืองหลวงของ สาธารณรัฐประชาชนโดเนสก์กว่า “การลงประชามติจะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้”
โฆษกกบฏนิยมรัสเซียในเมืองสลาเวียนสก์ ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงจนเกินควบคุม ได้แถลงยืนยันกับเอเอฟพีทันทีว่า จะมีการจัดการลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ (11)
การยืนยันครั้งนี้ มีขึ้นหนึ่งวันหลัง ปูตินออกมาเรียกร้องให้กลุ่มผู้ประท้วงนิยมมอสโกเลื่อนวันลงประชามติออกไป เพื่อเปิดทางให้การเจรจาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติวิกฤตความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจดึงยูเครนออกมาจากริมขอบเหวของการแบ่งแยกดินแดน
ภายหลังตกตะลึงกับท่าทีของปูติน ผู้ประท้วงฝักใฝ่รัสเซียได้ปรึกษาหารือกัน และออกมาปฏิเสธข้อเสนอของผู้นำแดนหมีขาวในวันนี้ (8)
“จะไม่มีการเลื่อนวันลงประชามติออกไป” ปูชิลินกล่าว พร้อมเสริมว่า สมาชิก “สภาประชาชน” ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการในสาธารณรัฐของเขามีมติให้จัดการลงประชามติต่อไป
นอกจากนี้ ยังจะมีการลงประชามติแบบเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งอยู่โดยรอบเมืองลูกันสค์ แต่ฝ่ายกบฏในลูกันสค์ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงว่า จะยังเดินหน้าจัดการลงประชามติต่อไปหรือไม่
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน (8) ทางการยูเครนออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของปูติน ที่ขอให้กองทัพยูเครนระงับการใช้ปฏิบัติการทางทหารกับฝ่ายกบฏ ที่เข้ายึดครองเมืองมากกว่า 10 แห่ง
นอกจากการส่งสัญญาณที่อาจช่วยผ่าทางตันวิกฤตความขัดแย้งระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ปูตินยังประกาศถอนกำลังทหารออกจากพรมแดนยูเครน
อย่างไรก็ตาม กองกำลังองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต), กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และทำเนียบขาวระบุว่า ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่า รัสเซียได้ถอนกำลังทหารออกจากพรมแดน ซึ่งเป็นจุดที่มอสโกส่งทหารเรือนหมื่นไปประจำการ พร้อมอ้างสิทธิรุกรานยูเครนเพื่อป้องกันประชากรที่พูดภาษารัสเซีย
ท่าทีก่อนหน้านี้ของผู้นำเครมลิน นับเป็นการส่งสัญญาณครั้งแรกว่า เขาไม่สนับสนุนให้มีการลงประชามติ ซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (11) เพื่อแยกการปกครองของ 2 จังหวัดทางภาคตะวันออกของยูเครน ขณะที่เหล่านักวิเคราะห์ชาวรัสเซียระบุว่า พวกเขาเชื่อว่า ผู้ประท้วงจะรับฟังข้อเรียกร้องของปูติน ซึ่งต้องการให้เลื่อนการลงประชามติออกไป
ปูตินแถลงว่า “เราขอเรียกร้องให้ตัวแทนชาวยูเครนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ผู้สนับสนุนการจัดตั้งสหพันธรัฐ โปรดเลื่อนการลงประชามติที่ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ออกไป”
ปูตินกล่าวว่า “เราได้ยินมาโดยตลอดว่า กองกำลังของเราที่ประจำการที่พรมแดนยูเครนเป็นสิ่งที่น่ากังวล เราได้ถอนกำลังเหล่านั้นแล้ว วันนี้พวกเขาไม่ได้อยู่ที่พรมแดนยูเครน แต่กลับไปปฏิบัติภารกิจปกติที่ค่ายซ้อมรบ”
ทางด้าน พล.อ.อันเดอร์ส โฟกห์ ราสมุสเซน เลขาธิการนาโตกล่าวในระหว่างเดินทางเยือนโปแลนด์ว่า “รัสเซียควรจะทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติ และยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนเร่งถอนกำลังทหารออกจากพรมแดน เพื่อเปิดทางให้มีการหาทางออกทางการเมือง”
ปูตินกล่าวที่กรุงมอสโก หลังเข้าร่วมหารือกับประธานองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ซึ่งเผยว่า ในเร็วๆ นี้ ทางหน่วยงานจะเสนอ “โรดแมป” ในการปลดชนวนวิกฤตยูเครน
***สภาประชาชน***
ก่อนหน้านี้ ในวันเดียวกัน (8) ผู้นำกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียกล่าวในที่ประชุมของสมาชิกที่ตั้งตนเป็น “สภาประชาชน” ว่า พวกเขาจะพิจารณาข้อเรียกร้องของปูติน ที่ระบุให้เลื่อนการลงประชามติออกไป
เดนิส ปูชิลิน กล่าวกับรอยเตอร์ที่เมืองโดเนสค์ว่า “เราให้ความเคารพสูงสุดต่อประธานาธิบดีปูติน หากเขาเห็นว่าจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการเดิมออกไป แน่นอนว่าเราจะหารือกันถึงประเด็นนี้
ทางด้าน นายกรัฐมนตรี อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุก แห่งยูเครน ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของปูติน โดยชี้ว่าเป็นเพียง “คำพูดไร้สาระ”
ทางฝ่าย ทำเนียบขาวระบุว่า ควรยกเลิกการลงประชามติ “ที่ไม่ชอบ และผิดกฎหมาย” มากกว่าการเลื่อนออกไป
ชาวบ้านในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มติดอาวุธใฝ่รัสเซียตกตะลึงกับท่าทีเช่นนี้ของปูติน ในเวลาที่ประเทศนี้กำลังใส่เกียร์เดินหน้าเข้าหาเอกราชเต็มกำลัง และเผชิญเหตุนองเลือดนานหนึ่งสัปดาห์ จนกระแสเกลียดชังกรุงเคียฟทวีความร้อนแรง
นาตาเลีย สมอลเลียร์ ลูกจ้างที่กำลังนำอาหารมาให้ผู้ประท้วงนิยมมอสโกซึ่งประจำการอยู่ ณ จุดตรวจ บนถนนในสลาเวียนสค์ เมืองซึ่งกลุ่มติดอาวุธเตรียมพร้อมรับมือกับรัฐบาลที่รุกคืบเข้ามาในสัปดาห์นี้ว่า “ปูตินอาจไม่เข้าใจสถานการณ์ ไม่มีทางที่การลงประชามติจะไม่เกิดขึ้น”
กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า กลุ่มผู้ประท้วงอาจฟังข้อเรียกร้องของปูติน ที่ชี้ว่าควรระงับการลงประชามติไว้ก่อน
เยฟเกนี มินเชนโค นักวิเคราะห์การเมืองนิยมรัสเซียชี้ว่า “ในหมู่ผู้ที่ต้องเผชิญกับกำลังทหารยูเครน พวกเขาน่าจะทราบดีว่า หากไม่มีรัสเซีย และกองทัพรัสเซียคอยสนับสนุน พวกเขาอาจเพลี่ยงพล้ำต่อการโจมตีอย่างหนักหน่วงจากกองทัพยูเครน”