เอเอฟพี - ณ สถานที่หนึ่งบนเกาะต้องห้ามเล็กๆ ทางตะวันออกของเขตบรองซ์ ซึ่งชาวนิวยอร์กส่วนใหญ่ไม่รู้จักมาก่อน มีดวงวิญญาณหลายล้านดวงที่ถูกลืมและได้รับการขุดฝังในหลุมศพขนาดมหึมาโดยนักโทษ
นับตั้งแต่ปี 1869 ศพเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด คนไร้บ้าน คนยากจน และคนไร้ญาติถูกนำมาฝังอัดแน่นในหลุมเดียวกันแบบซ้อน 3 โลง บนเกาะฮาร์ต
ร่างผู้เสียชีวิตเหล่านี้ถูกฝังในสนามเพลาะอันกว้างใหญ่ที่ไม่ปรากฏชื่อเรียก โดยไร้แผ่นป้ายจารึก มีเพียงแต่เสาต้นเล็กๆ สีขาวที่ปักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ โดยเสาต้นหนึ่งแทนร่างผู้เสียชีวิต 150 ศพ ขณะที่เด็กและทารก 1 พันคนจะถูกฝังรวมกันอยู่ในหลุมศพเพียงหลุมเดียว
สุสานแห่งนี้นับเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ทว่ามีผู้ไปเยือนน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ทำหน้าที่ขุดหลุมเพื่อเตรียมฝังร่างผู้เสียชีวิตคือนักโทษจากเกาะไรเกอร์สซึ่งต้องโทษในความผิดสถานเบา และได้รับมอบหมายให้นำร่างผู้เสียชีวิตไปฝังที่หลุมศพ
เมลินดา ฮันท์ ศิลปินแนวทัศนศิลป์ และประธานโครงการเกาะฮาร์ต ซึ่งรณรงค์ให้มีการปรับปรุงทัศนวิสัยของสุสาน และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้มาเยือนกล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีร่างผู้เสียชีวิตส่งมาที่เกาะแห่งนี้เกือบ 1,500 ศพ
เหล่าผู้มีอำนาจระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1869 มา ร่างของประชาชนเกือบ 1 ล้านคนถูกนำมาฝังในสุสานนี้
เกาะร้างที่มีลมแรงแห่งนี้ประกาศห้ามไม่ให้ใช้สถานที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์ และถ่ายภาพ นอกจากนี้ บรรดาผู้มาเยี่ยมหลุมศพจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเกาะแห่งนี้
เกาะฮาร์ต ซึ่งแต่ก่อนเป็นสุสานฝังศพผู้เสียชีวิตในสงครามกลางเมือง เคยถูกใช้เป็นค่ายซ้อมรบ, เรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษ จาก 11 รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่ลุกฮือเพื่อประกาศแยกตัวออกจากอเมริกา, สถานกักกัน, ที่พักพิงสำหรับผู้ป่วยจิตเวช หรือแม้กระทั่งฐานทัพขีปนาวุธในช่วงสงครามเย็น
เกาะแห่งนี้มีท่าเรือเพียงแห่งเดียวซึ่งมีรั้วลูกกรงล้อมรอบ พันรั้วลวดหนามและติดเดือยแหลม ตลอดจนติดป้ายที่มีข้อความว่าห้ามเข้า
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่สุสานบนเกาะร้างแห่งนี้เก็บข้อมูลซึ่งระบุว่า ใครถูกฝังบริเวณใดไว้น้อยมาก และการเข้าไปเยี่ยมหลุมศพก็ต้องใช้การเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่อย่างลำบากยากเข็ญ
ร่างผู้เสียชีวิตบางรายสูญหายหรือถูกเผา บางครั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่ทราบเลยว่า ทางการนครนิวยอร์กนำร่างบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาไปฝังไว้จุดใด
ฮันท์กล่าวว่า “คุณมีสิทธิที่จะทราบว่าใครอยู่ที่ไหน การเปิดเผยตำแหน่งที่อยู่ของศพอย่างอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่มีวัฒนธรรมใดยอมรับการกระทำเช่นนี้ได้”
กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า หน่วยงานไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับผู้มาเยี่ยมหลุมศพ บนเกาะที่มีแต่อาคารร้างสภาพทรุดโทรมแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังถูกกดดันหนัก เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจก็อนุญาตให้คนจำนวนเล็กน้อยเข้าไปเยี่ยมหลุมศพบนเกาะนี้ได้ตั้งแต่ปี 2007 แม้ว่าผู้ที่เดินทางเข้าไปจะได้แต่ยืนมองหลุมฝังศพ จากศาลาพักผ่อนที่ตั้งห่างอยู่ห่างไกลออกไปก็ตาม