xs
xsm
sm
md
lg

นิตยสารไทม์สยก “แม่บ้านอิเหนาเหยื่อทารุณกรรม” เป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลของโลกปี 2014

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาด เออร์เวียนา ซูลิสเตียนิงซิห์ แม่บ้านชาวอินโดนีเซียซึ่งได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2014 โดยการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ส
เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – นิตยสารไทม์สยกย่องแม่บ้านชาวอินโดนีเซียซึ่งถูกทารุณกรรมโดยนายจ้างชาวฮ่องกง เป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2014 เช่นเดียวกับ มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่ถูกตอลิบานยิงศีรษะ และ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ

เออร์เวียนา ซูลิสเตียนิงซิห์ วัย 23 ปี ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงทำร้ายร่างกายเป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งชะตากรรมของเธอได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมหันมาใส่ใจการปฏิบัติต่อแม่บ้านชาวต่างชาติ และยังนำมาซึ่งเสียงประท้วงอย่างรุนแรง

ไทม์ส ยกย่องความกล้าหาญของ ซูลิสเตียนิงซิห์ ที่ออกมาเปิดโปงการกระทำของนายจ้าง และผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพชาวต่างชาตินับแสนคนที่เข้าไปทำงานเป็นคนรับใช้ภายในบ้าน

“ผู้หญิงที่กล้าหาญอย่างเธอเท่านั้นจึงจะเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสเรียกร้อง และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” สุมาลี มัม นักสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา เอ่ยถึงวีรกรรมของ ซูลิสเตียนิงซิห์ ซึ่งมีชื่อติดโผ 100 บุคคลทรงอิทธิพลของโลกที่นิตยสารไทม์สเผยแพร่ เมื่อวานนี้ (24)

“เออร์เวียนา เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายคุ้มครองแม่บ้านคนอื่นๆ ที่อาจจะประสบชะตากรรมเดียวกับเธอ ทำให้สังคมได้เห็นถึงความทุกข์ยากของประชากรที่ถูกมองข้าม” มัม กล่าว

เอมาน วิลลานูเอวา โฆษกองค์กรประสานงานผู้อพยพเอเชียซึ่งมีฐานที่ฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีวันนี้ (25) ว่า “การที่ เออร์เวียนา มีชื่ออยู่ในลิสต์บุคคลทรงอิทธิพลของโลกในปีนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สวัสดิภาพของแม่บ้านต่างชาติ การใช้แรงงานทาส และการล่วงละเมิด ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญ”

เขากล่าวเสริมอีกว่า การเชิดชูเกียรติของแม่บ้านอิเหนาครั้งนี้จะเป็นกำลังใจให้เหยื่อรายอื่นๆ กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

หลอ วัน-ตุง วัย 44 ปี ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสองชาวฮ่องกง คว้าข้าวของภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นไม้ถูพื้น, ไม้บรรทัด หรือไม้แขวนเสื้อ มาเป็นอาวุธทำร้ายร่างกาย ซูลิสเตียนิงซิห์

หลอ ถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายและข้อหาข่มขู่อีก 4 กระทงจากการล่วงละเมิด ซูลิสเตียนิงซิห์ และแม่บ้านชาวอินโดนีเซียอีก 2 คนที่เข้าไปทำงานก่อนหน้านั้น
ชะตากรรมของ ซูลิสเตียนิงซิห์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงการทารุณกรรมแม่บ้านต่างชาติที่เกิดขึ้นแพร่หลายในฮ่องกง
ซูลิสเตียนิงซิห์ เดินทางออกจากฮ่องกงเมื่อเดือนมกราคม และเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองซราเกน (Sragen) บนเกาะชวา ขณะนั้นอาการของเธอเข้าขั้นวิกฤต

ฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของเอเชียมีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านเกือบ 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว องค์การนิรโทษกรรมสากลได้แถลงประณามการปฏิบัติต่อแม่บ้านชาวอิเหนา “เยี่ยงทาส” ในฮ่องกง พร้อมตำหนิรัฐบาลท้องถิ่นที่ยัง “เพิกเฉย” ต่อเรื่องนี้

ซูลิสเตียนิงซิห์ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลทรงอิทธิพลในหมวด “บุคคลอันเป็นสัญลักษณ์” (icons) เช่นเดียวกับ มาลาลา ยูซาฟไซ และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยังคงมีชื่อติดโผบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกในหมวดผู้นำ (leaders) ส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมวดนี้ ได้แก่ ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน, นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น, จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน และ นเรนทรา โมดี ผู้นำพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ซึ่งหลายฝ่ายคาดเดาว่าจะได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอินเดียคนต่อไป

บียอนเซ นักร้องสาวชื่อดัง, เจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลทรงอิทธิพลในหมวดผู้มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล (titans) ในขณะที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมอื้อฉาวของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ถูกยกย่องเป็นบุคคลทรงอิทธิพลในหมวดผู้บุกเบิก (pioneers)
(จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐ, ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน, นากรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
มาลาลา ยูซาฟไซ
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน
กำลังโหลดความคิดเห็น