xs
xsm
sm
md
lg

โพลล่าสุดชี้ พรรคฝ่ายค้านหลัก “บีเจพี” จ่อคว้าชัยเลือกตั้งอินเดีย ปิดฉากทศวรรษแห่งอำนาจของพรรค “คองเกรสส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นเรนทรา โมดี
รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในอินเดียชี้ พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ภารติยะชนตะ (บีเจพี) ภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดี พร้อมด้วยพรรคการเมืองพันธมิตร จ่อคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่จะเปิดฉากขึ้นในวันจันทร์ (7) และชัยชนะในการเลือกตั้งของบีเจพีจะถือเป็นการปิดฉากการครองอำนาจของพรรคคองเกรสส์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำโดยสถานีข่าว “ซีเอ็นเอ็น-ไอบีเอ็น” และ “โลกนิติ” ระบุว่า พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) จะชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงราวร้อยละ 38

ขณะที่ผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์เอ็นดีทีวี ในกรุงนิวเดลี ระบุว่า พรรคบีเจพีและพันธมิตรฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงราว 32.9 เปอร์เซ็นต์ จากการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียที่จะจัดขึ้นอย่างมาราธอนจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าจะทราบได้ในวันที่ 16 พฤษภาคม

สถานีข่าว “ซีเอ็นเอ็น-ไอบีเอ็น” และ “โลกนิติ” ระบุว่า พรรคบีเจพีและพันธมิตรจะได้ที่นั่งในรัฐสภาระหว่าง 234-246 ที่นั่ง ขณะที่เอ็นดีทีวีคาดการณ์ว่า บีเจพีและพรรคพันธมิตรจะได้ถึง 259 ที่นั่งจากทั้งหมด 543 ที่นั่ง

ในส่วนของพรรคคองเกรสส์และพันธมิตรที่ครองอำนาจในอินเดียมานานกว่าทศวรรษนั้น ผลสำรวจที่ออกมาล่าสุดในวันเสาร์ (5) ระบุว่า อาจได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 28 และได้ที่นั่งราว 111-123 ที่นั่งเท่านั้นตามผลสำรวจของ “ซีเอ็นเอ็น-ไอบีเอ็น” และ “โลกนิติ” ขณะที่ผลสำรวจของเอ็นดีทีวีระบุ พรรคคองเกรสส์และแนวร่วมอาจได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 26.9

นักวิเคราะห์ระบุว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคบีเจพี อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงไปของอินเดีย โดยเฉพาะการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองฮินดูชาตินิยมอย่างโมดี มุขมนตรีจากรัฐคุชราต ที่ประกาศกร้าวจะใช้ “ไม้แข็ง” จัดการกับปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนกับจีน และศัตรูตัวฉกาจอย่างปากีสถาน หากได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมให้คำมั่นจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่อินเดีย เช่นเดียวกับ ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุนที่เขาเคยทำไว้ในรัฐคุชราต

ผลงานในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระดับรัฐที่โมดีเคยสร้างไว้ กลายเป็น “ความหวังใหม่” ให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซาของอินเดียภายใต้การบริหารในยุคนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์ ที่อัตราการเติบโตของจีดีพีลดต่ำสุดในรอบทศวรรษเหลือเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินเฟ้อในแดนโรตีพุ่งสูงเฉียด 10 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี โมดี เคยถูกนักสิทธิมนุษยชนประณามว่าเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลทางศาสนาในรัฐคุชราตเมื่อปี 2002 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ขณะที่ในปี 2005 รัฐบาลสหรัฐฯได้เพิกถอนวีซ่าของโมดี โดยอ้างกฎหมายอเมริกันซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่มีประวัติ “ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างรุนแรง” เข้าประเทศ แม้โมดี ยืนกรานว่าตนไม่ได้กระทำความผิดในเหตุการณ์เมื่อปี 2002
กำลังโหลดความคิดเห็น