เอเอฟพี - ศึกเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ (7 เม.ย.) ขณะที่ผลโพลทุกสำนักชี้ตรงกันว่า ผู้นำฝ่ายค้านอย่าง นเรนทรา โมดี น่าจะคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมาครอง ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจซบเซา การทุจริตคอร์รัปชัน และเหตุจลาจลทางศาสนา ที่กำลังรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไข
ผลสำรวจก่อนหน้านี้พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 814 ล้านคนทั่วประเทศจะเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองคู่แข่งของรัฐบาล และนำความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปมาสู่พรรคคองเกรสซึ่งได้รับโอกาสบริหารประเทศมานานถึง 10 ปี ภายใต้การนำของตระกูลนักการเมือง “คานธี”
การหย่อนบัตรลงคะแนนเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 07.00 น. (08.30 น.ตามเวลาในไทย) ที่หน่วยเลือกตั้ง 6 แห่งในรัฐอัสสัม และตรีปุระทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชา และมักเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลที่อยู่คั่นกลางระหว่างบังกลาเทศ, จีน และพม่า
การเลือกตั้งรัฐสภาในอินเดียซึ่งแบ่งออกเป็น 9 วันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ และคาดว่าจะประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ภายใน 4 วันให้หลัง
สันโตษี ภูเมช วัย 30 ปี ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ไปลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในรัฐอัสสัม บอกว่า “ฉันอยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน และสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกๆ ของฉัน”
“ฉันบอกไม่ได้หรอกว่าลงคะแนนให้ใคร แต่มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องมาเลือกตั้ง”
เมื่อวันศุกร์ (4) ผู้ช่วยของ นเรนทรา โมดี หัวหน้าพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน หลังจากที่เขากล่าวต่อผู้สนับสนุนว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการ “แก้แค้นรัฐบาลที่ปกป้องและให้ค่าชดเชยแก่พวกที่สังหารชาวฮินดู”
ราหุล คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส ฉวยโอกาสนี้กล่าวโจมตีพรรคบีเจพีเมื่อวาน (6) ว่า “คนพวกนี้ (พรรคบีเจพี) ไปที่ไหนก็ก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง พวกเขาจะยุยงให้ชาวฮินดูและมุสลิมเกลียดชังกัน”
ชาวอินเดียนั้นมีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและเกลียดชังนักการเมืองฮินดูชาตินิยมจัดอย่าง โมดี เนื่องจากเขามีประวัติพัวพันกับเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมในรัฐคุชราต เมื่อปี 2002 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 2,000 คน
เมื่อปี 2005 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เพิกถอนวีซ่าของโมดี โดยอ้างกฎหมายอเมริกันซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่มีประวัติ “ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างรุนแรง” เข้าประเทศ แม้โมดี ยืนกรานว่าตนไม่ได้กระทำความผิดในเหตุการณ์เมื่อปี 2002 ก็ตาม
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ส่งทูตประจำกรุงนิวเดลีเข้าพบ โมดี เพื่อฟื้นความสัมพันธ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังเห็นแนวโน้มชัดเจนว่านักการเมืองผู้นี้จะคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอินเดียคนต่อไป พร้อมเสนอจะยกเลิกการแบนวีซ่าหาก โมดี ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ
เมื่อวานนี้ (6) โมดี ออกมาวิงวอนให้ชาวอินเดียช่วยลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคของเขา เพื่อให้ บีเจพี ครองที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 543 เสียง และจะเป็นการหักธงผลสำรวจก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า บีเจพี จะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ไม่มากพอ และต้องจับขั้วกับพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
“ผมต้องการคำอวยพรจากท่านเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ และรัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นจะต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 300 เสียงในโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎรอินเดีย)”