อุบัติเหตุเรือเฟอร์รี “เซวอล” พลิกคว่ำก่อนจะอับปางที่นอกชายฝั่งเกาหลีใต้ในเช้าวันพุธที่ 16 เมษายน กลายเป็นหนึ่งในข่าวช็อกความรู้สึกผู้คนทั่วโลกมากที่สุด หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมกลางสายน้ำในครั้งนี้ พุ่งสูงกว่า 160 ชีวิต ขณะที่อีกมากกว่า 140 คนยังสูญหาย และคาดว่าทั้งหมดเสียชีวิตแน่นอนแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าจำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุครั้งนี้จะมีไม่น้อยกว่า 300 ศพ แต่ถึงกระนั้น เหตุการณ์เศร้าสลดครั้งนี้ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า โลกไม่เคยหมดสิ้น “คนดี” ที่พร้อมยืนหยัดและเสียสละเพื่อผู้อื่นในช่วงเวลาวิกฤต
ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยยามฝั่งแดนโสมขาวยังระบุด้วยว่า มีผู้รอดชีวิตและได้รับการช่วยเหลือจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศรวมทั้งสิ้น 174 คน จากจำนวน 476 ชีวิตที่อยู่บนเรือในขณะเกิดเหตุโดยที่ในจำนวนผู้ที่รอดชีวิตนั้นมี “กัปตันเรือ พร้อมด้วยลูกเรือส่วนใหญ่” รวมอยู่ด้วย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมด คือ เหล่า “ผู้โดยสาร”
จนถึงขณะนี้สาเหตุการอับปางของเรือเซวอล ซึ่งเป็นเรือเฟอร์รีระวางขับน้ำ 6,825 ตัน ที่ต่อในญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 และบริษัท ชองแฮจิน มารีน ของเกาหลีใต้ได้ซื้อต่อมาใช้งานในปี 2012 ยังคงเป็นปริศนา โดยทีมสอบสวนของรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเร่งนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่เรือเซวอลหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน ทำให้สินค้าขนาดใหญ่ที่บรรทุกมาในเรือเทไปด้านใดด้านหนึ่ง น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือเสียสมดุลและอับปางลงในที่สุดในบริเวณน่านน้ำห่างจากชายฝั่งด้านใต้ของเกาะบยองปุง (Byungpoong Island) ราว 20 กิโลเมตร ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางที่แท้จริง คือ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างเกาะเจจู
ในส่วนของกระบวนการสอบสวนของทางการเกาหลีใต้นั้น ล่าสุดมีข้อมูลว่า ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ อี จุน ซก กัปตันเรือวัย 69 ปี อาจมิได้ทำหน้าที่ของตนอยู่บริเวณสะพานเดินเรือ โดยพบหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างซึ่งมีประสบการณ์ต่ำทำหน้าที่ควบคุมการเดินเรือในขณะเกิดเหตุ ขณะที่กัปตันเรือรายนี้ซึ่งตกเป็นข่าวว่าได้หนีเอาตัวรอดออกมาจากเรือ โดยไม่สนใจชะตากรรมของเหล่าผู้โดยสาร ได้ออกมาแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทต้นสังกัดของเขา แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้
มีรายงานที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนักในเกาหลีใต้ว่า ลูกเรือรายหนึ่งที่ทำงานในเรือเฟอร์รีเซวอลในวันเกิดเหตุออกมายอมรับเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า กัปตัน อี จุน-ซก วัย 69 ปี เพิกเฉยต่อคำขอ “อย่างน้อย 3 ครั้ง” ของลูกเรือ ที่เสนอให้มีการประกาศ “สละเรือ” และการไม่ตอบสนองของกัปตันผู้นี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเดินเรืออยู่บนสะพานเดินเรือ ถูกระบุว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนักเรียน และครูรวม 339 คนจาก “โรงเรียนมัธยมดันวอน” ที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปทัศนศึกษายังเกาะเจจู
ด้านเครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์ “เคบีเอส” ของเกาหลีใต้รายงานในวันอังคาร (22) โดยอ้างเอกสารบันทึกการสนทนาระหว่างลูกเรือและศูนย์ควบคุมการเดินเรือบนเกาะจินโด โดยในบันทึกดังกล่าวพบข้อความที่กัปตันและลูกเรือ ออกคำสั่งให้ผู้โดยสารอยู่กับที่ ในขณะที่เรือกำลังอับปาง
จากหลักฐานเบื้องต้นที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่แสดงถึงความไร้มนุษยธรรมของกัปตันและลูกเรือตลอดจนการบกพร่องต่อหน้าที่อย่างเลวร้ายของพวกเขา ส่งผลให้ ประธานาธิบดีหญิง พัค กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ กล่าวประณามพฤติกรรมของกัปตัน อี จุน-ซก และลูกเรือว่าเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ และถือว่ากัปตันและลูกเรือกลุ่มนี้เป็น “ฆาตกร” ขณะที่ “โคเรีย เฮรัลด์” รายงานว่า กัปตันผู้นี้อาจต้องรับโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หากศาลตัดสินว่าเขามีความผิด
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเรือเฟอร์รีเซวอล ก็ยังคงมีเรื่องราวที่งดงามของเหล่า “ผู้กล้า” หลายรายทั้งชายหญิงที่เลือกที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกับตนให้รอดชีวิต แม้สุดท้ายแล้ว ตนเองจะต้องจบชีวิตลงก็ตาม ดังเช่น กรณีของ ปาร์ค จียอง ลูกเรือสาววัย 22 ปี ที่เพิ่งทำงานบนเรือเซวอลได้เพียงแค่ 6 เดือน ที่ปฏิเสธสวมเสื้อชูชีพ เนื่องจากเห็นว่ามันไม่เพียงพอกับผู้โดยสาร และไม่ยอมกระโดดลงจากเรือเพื่อเอาตัวรอด โดยเธอปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นในความพยายามช่วยเหลือผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดจนถึง “วินาทีสุดท้าย”
นอกเหนือจาก ปาร์ค จียอง แล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับการยกย่องในฐานะฮีโร่ของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย จอง ชาวุง นักเรียนอายุ 17 ปี เขาได้สละเสื้อชูชีพให้เพื่อนคนหนึ่งที่กำลังจะจมน้ำ และยังเข้าไปช่วยเพื่อนนักเรียนอีกหลายคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เสียชีวิต เนื่องจากทนความหนาวเย็นของน้ำไม่ไหว
ส่วนอีกคนคือ คิม ฮองกยอง อายุ 59 ปี หนึ่งในผู้โดยสารที่ใช้ผ้าม่านในเรือทำเป็นเชือกช่วยให้คนที่กำลังจะจมน้ำรอดชีวิตมาได้กว่า 20 ราย ส่วนตัวเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากชาวประมงและแม้ว่าตัวเขาจะปลอดภัยแล้ว แต่เขาก็ยังอาสาจะช่วยตามหาผู้สูญหายคนอื่นๆ ต่อด้วย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แม้จะถือเป็นความสูญเสียทางน้ำที่เลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปีของเกาหลีใต้ และยังพบการแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวอย่างเลวร้ายของกัปตันและลูกเรือส่วนใหญ่ในช่วงเวลาวิกฤต แต่ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏวีรกรรมอันน่าชื่นชมของอีกหลายผู้กล้าให้ผู้คนได้ยกย่องสรรเสริญถึงความเสียสละของพวกเขา ในยามที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันกำลังเดือดร้อน และความดีงามของคนเหล่านี้จะกลายเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ช่วยให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแล้ว โลกใบนี้ไม่เคยสูญสิ้น “คนดี”