รอยเตอร์ – กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตรียมส่งเครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งผลิตโดยค่ายล็อกฮีดมาร์ติน บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรก เพื่ออวดโฉมในงานแสดงการบินนานาชาติที่จะจัดขึ้นใกล้ๆ กรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคมนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯและอังกฤษแถลงเมื่อวันพุธ(16)
F-35 ซึ่งถือเป็นสุดยอดเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 จะเปิดตัวต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในงาน รอยัล อินเทอร์เนชันแนล แอร์ แทตทู หรือ RIAT ซึ่งเป็นงานแสดงอากาศยานทางทหาร รวมไปถึงงานแสดงการบินนานาชาติ "ฟาร์นโบโร แอร์โชว์" ที่จะจัดขึ้นชานกรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม
“สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 มาตั้งแต่เริ่มต้น เครื่องบินขับไล่ชนิดหลบหลีกเรดาร์รุ่นที่ 5 นี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการป้องกันภัยทางอากาศของอังกฤษ และเป็นการเหมาะสมที่สุดที่ F-35 จะมาเปิดตัวนอกแผ่นดินสหรัฐฯที่อังกฤษเป็นแห่งแรก” ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ระบุในถ้อยแถลง
ล็อกฮีดมาร์ติน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและผลิตเครื่องบินขับไล่ F-35 ถือเป็นซัพพลายเออร์อันดับ 1 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ทั้งนี้ คาดว่าการปรากฏตัวของ F-35 จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากบรรดาผู้ซื้อรายใหญ่ๆ รวมถึงแคนาดาและเดนมาร์กซึ่งร่วมลงทุนในโครงการพัฒนา F-35 แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสั่งซื้อหรือไม่
พวกที่หนุนโครงการ F-35 มองว่า การตัดสินใจส่งอากาศยานขับไล่รุ่นนี้มาเปิดตัวที่อังกฤษแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในโครงการพัฒนาซึ่งใช้งบไปแล้วกว่า 392,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเพนตากอน ส่วนพวกที่ยังลังเลสงสัยก็เตือนว่า F-35 ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์บนเครื่องไปให้ได้เสียก่อน
อังกฤษซึ่งทุ่มงบถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปกับโครงการเครื่องบินขับไล่หลบหลีกเรดารุ่นนี้ และมีแผนที่จะสั่งซื้อฝูงบิน F-35 ถึง 138 ลำในอีกไมกี่ปีข้างหน้า เรียกร้องให้สหรัฐฯยอมส่ง F-35 มาเปิดตัวที่งานแสดงการบินในลอนดอน เพื่อให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความคืบหน้าของโครงการ โดยอังกฤษนั้นถือว่าเป็นชาติแรกที่เสนอตัวเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐฯในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้
ริชาร์ด อาบูลาเฟีย นักวิเคราะห์ด้านอวกาศจากบริษัท ทีล กรุ๊ป ซึ่งมีฐานในรัฐเวอร์จิเนีย ชี้ว่า การเปิดตัว F-35 ในต่างประเทศครั้งแรกมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจูงใจผู้ซื้อต่างชาติ ในช่วงเวลาที่กองทัพสหรัฐฯ ขาดแคลนงบประมาณ และอาจต้องเลื่อนคำสั่งซื้อออกไปก่อน
“สิ่งที่พวกเขาต้องทำให้ได้ก็คือ แก้ไขสภาพคล่องของโครงการโดยผลิตเครื่องบินให้ได้เกินกว่า 30 ลำต่อปี... ต้องสร้างวงจรที่ดีซึ่งจำนวนผลิตเพิ่มขึ้น แต่ราคาถูกลง” อาบูลาเฟีย กล่าว
เจ้าหน้าที่เพนตากอนคาดว่า ต้นทุนการผลิต F-35 น่าจะลดลงมาเหลือราวๆ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ (ราว 2,500 ล้านบาท) ภายในปี 2018-2019 จากปัจจุบันซึ่งมีต้นทุนสูงถึง 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อลำ (ราว 3,600 ล้านบาท)
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาเตือนเมื่อวันอังคาร(15)ว่า คำสั่งซื้อ F-35 เพิ่มอีก 17 ลำภายในปี 2016-2019 อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน หากสภาคองเกรสไม่เพิกถอนคำสั่งตัดลดงบประมาณที่จะเริ่มมีผลบังคับในปี 2016
ล็อกฮีดมาร์ติน ผลิต F-35 ออกมาตั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ F-35A ซึ่งเป็นรุ่นมาตรฐาน, F-35B ซึ่งใช้ทางวิ่งขึ้นและร่อนลงระยะสั้น (short take-off) และสามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้ และ F-35C ซึ่งใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยจะผลิตเพื่อใช้ในกองทัพสหรัฐฯ และอีก 8 ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนโครงการ ได้แก่ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, อิตาลี, ตุรกี และเนเธอร์แลนด์
ญี่ปุ่นและอิสราเอลเป็น 2 ประเทศที่ไม่ใช่หุ้นส่วนโครงการแต่ได้ยื่นคำสั่งซื้อ F-35 ไว้แล้ว ส่วนเกาหลีใต้ก็มีแผนที่จะสั่งซื้อฝูงบิน F-35 ในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน
ตามแผนที่กำหนดไว้ จะมีการส่ง F-35 มาร่วมงานแสดงการบินที่ลอนดอนหลายรุ่น รวมไปถึงรุ่น F-35B ที่ผลิตให้กับอังกฤษ โดยจะมีนักบินของอังกฤษเป็นผู้ควบคุมเครื่อง