xs
xsm
sm
md
lg

สภาทองคำโลกชี้อุปสงค์ทองคำใน “จีน” จะเพิ่มขึ้น 20% ภายในปี 2017

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – สภาทองคำโลก (World Gold Council – WGC) ชี้ความต้องการซื้อทองคำในจีนต่อปีอาจเพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปี 2017 เนื่องจากบรรดาเศรษฐีแดนมังกรแสวงหาช่องทางใหม่ๆ ที่จะทำกำไรมากยิ่งขึ้น

ตัวเลขคาดการณ์จาก WGC มีขึ้น หลังจากที่จีนกลายเป็นผู้บริโภคทองคำอันดับ 1 ของโลกในปี 2013 โค่นบัลลังก์แชมป์เก่าอย่างอินเดีย

อุปสงค์ทองคำในรูปเครื่องเพชร, เหรียญ และทองคำแท่งในจีน มีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น “1,350 ตันเป็นอย่างน้อย “ในปี 2017 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 5 จากสถิติการบริโภคทองคำสูงสุด 1,132 ตันเมื่อปีที่แล้ว

“วัฒนธรรมของชาวจีนที่ชื่นชอบทองคำ ประกอบกับผู้บริโภคมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับราคาทองคำ อาจทำให้อุปสงค์จากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 1,350 ตันในปี 2017” WGC ซึ่งมีฐานที่กรุงลอนดอน แถลงในรายงานวันนี้(15)

การที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปซื้อหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นๆที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ส่งผลให้ราคาทองคำปีที่แล้วดิ่งลงเกือบ 1 ใน 3 ขณะที่อุปสงค์เครื่องทองรูปพรรณกลับพุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี เนื่องจากผู้บริโภคในเอเชียและตะวันออกกลางต่างฉวยโอกาสทุ่มซื้อในช่วงที่ราคาทองตกต่ำ

ในส่วนของจีน ตลาดทองคำยังได้ปัจจัยหนุนจากสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงปริมาณเงินออม และข้อจำกัดในการลงทุนด้านอื่นๆ

กระนั้นก็ดี WGC เตือนว่า นโยบายเศรษฐกิจของจีนซึ่งจะลดพึ่งพาการส่งออก อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อทองคำ

“จีนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ในการปรับนโยบายเศรษฐกิจซึ่งเน้นการลงทุนและส่งออกไปสู่เศรษฐกิจที่มีความสมดุล ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญมากยิ่งขึ้น”

“แม้เราไม่ควรมองข้ามความสุ่มเสี่ยง แต่กระบวนการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจก็อาจกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับและทองรูปพรรณ”

อลิสแตร์ ฮิววิตต์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ชี้ว่า อุปสงค์ทองคำในจีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในช่วง 1 ทศวรรษจนถึงปี 2013 และคาดว่าตลาดทองคำแดนมังกรจะยังเติบโตต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากวัฒนธรรมจีนที่เชิดชูคุณค่าของทองคำ, รายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรจีน ตลอดจนการสนับสนุนจากรัฐบาล

ราคาทองคำพุ่งสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่งมาอยู่ที่ 1,330.59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ในวันจันทร์(13) เนื่องจากนักลงทุนพากันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตการเมืองยูเครน

กำลังโหลดความคิดเห็น