แรงซื้อยังช่วยพยุงราคาทองคำวิ่งในกรอบ “วายแอลจี” แนะจับตาผลรายงานการประชุม FOMC และดัชนีบริโภคสหรัฐฯ หากปรับตัวขึ้นสะท้อนเงินเฟ้อเริ่มเพิ่ม กดดันเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ส่งผลลบต่อราคาทองคำ
นายวรุต รุ่งขำ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส ประเมินทิศทางราคาทองคำในช่วงนี้ว่า ราคาทองคำยังแกว่งตัวในกรอบ หลังจากมีแรงซื้อเข้ามาช่วยพยุงราคาไม่ให้ปรับตัวลดต่ำลงไปมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การแกว่งตัวขึ้นของราคายังเป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด เพราะทองคำยังถูกกดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจในจีน หลังตัวเลขอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวลง
“จีนผู้ซื้อทองคำอันดับ 1 ของโลก หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ปัจจัยดังกล่าวจะกดันแรงซื้อทองคำให้อ่อนตัวลงตาม ขณะที่ปัจจัยจากการประชุมสภาทองคำโลกที่ออกมาเปิดเผยอุปสงค์แรงซื้อทองคำในไตรมาส 3 อ่อนตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มองว่าปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่าแรงซื้อที่จะเข้ามาผลักดันราคาทองคำในช่วงนี้ยังคงอ่อนแรง
ส่วนทิศทาง และแนวโน้มจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังมีบทบาทสำคัญ เพราะราคาทองคำจะเคลื่อนตัวสวนทางกับค่าเงินดังกล่าว โดยหากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงดีขึ้น สกุลเงินดอลลาร์ยิ่งจะแข็งตัว และจะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ล่าสุด เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในหลายๆ สาขาเริ่มวิตกกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่้งถือเป็นปัจจัยที่พยุงราคาทองคำไว้
อย่างไรก็ตาม การขยับขึ้นของราคาทองคำยังไปไม่ไกลมากนัก เมื่อมีข่าวการนำเข้าทองคำของอินเดียยังมากขึ้น จนทำให้ทางการของอินเดียกำลังออกมาตรการที่จะควบคุมการนำเข้าทองคำ เพื่อลดยอดในส่วนของการขาดดุลทางการค้า ซึ่งหากมีการออกมาตรการที่เข้มงวด หรือมีการปรับเพิ่มในส่วนค่าพรีเมียมราคาทองคำ ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำมีการอ่อนตัวลงมาอีกครั้งหนึ่ง
โดยกลยุทธ์การลงทุน ยังให้นักลงทุนรับซื้อในแนวรับ 1,130 เหรียญ/ออนซ์ ที่เคยย่อตัวลงมาทดสอบ ซึ่งเมื่ออ่อนตัวลงมาแล้ว และมีแรงรับซื้อราคาทองคำอาจขึ้นไปทดสอบ 1,180 เหรียญ/ออนซ์อีกครั้ง และถ้าราคายังไม่ผ่านกรอบดังกล่าว อาจเห็นการแกว่งตัวในลักษณะ Side way ดังนั้น ช่วงนี้อาจต้องเป็นการลงทุนระยะสั้นเพื่อรอให้ราคาทะลุกรอบด้านใดด้านหนึ่งออกไป
“ปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตามต่อไปคือ รายงานการประชุมเฟด ที่จะมีการเปิดเผยผลการประชุมว่า FOMC คิดเห็นอย่างไรต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้่ย และดัชนีการบริโภคที่จะมีการเปิดเผยถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งชี้ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งหากปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแสดงว่าอัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เฟดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น แต่หากดัชนี CPI ปรับตัวลดลงอาจชะลอการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยออกไปได้”