xs
xsm
sm
md
lg

การบริโภคทองคำของจีน......YLG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


    การปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกปี 2556 มีการปรับตัวลงกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ โดยปรับตัวลงจากราคา 1,675 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในปลายปี 2555 เป็น 1,205 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในปลายปี 2013 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยปัจจัยหลักในการกดดันราคาทองคำนั้น คงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของสหรัฐฯที่มีการทะยอยปรับลดขนาดวงเงินคิวอีลง แต่มีสิ่งที่น่าสนใจในช่วงที่ราคาทองคำตกลงต่ำสุดนี้ พบเห็นสัญญาณความต้องการการบริโภคทองคำที่มากขึ้นของประเทศจีน

จากข้อมูลการรายงานของสภาทองคำโลก พบว่าประเทศจีนมีความต้องการการบริโภคทองคำในปี 2556 รวม 1,065.8 ตัน (ไม่รวมฮ่องกงและไต้หวัน) เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ โดยในส่วนนี้เป็นความต้องการการบริโภคทองคำรูปพรรณเพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซนต์ เป็น 668.7 ตัน และทองคำแท่งเพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซนต์ เป็น 397.1 ตัน
โดยตัวเลขความต้องการการบริโภคดังกล่าวนี้ไม่ได้นับรวมความต้องการทองคำของธนาคารกลางที่สำรองไว้ 1,054 ตัน ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จากความต้องการการบริโภคทองคำที่มากนี้ ส่งผลให้ประเทศจีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการบริโภคทองคำแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างประเทศอินเดียเป็นที่เรียบร้อย
ในด้านการผลิตทองคำนั้น ในปี 2556 ประเทศจีนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซนต์ เป็น 428.2 ตัน จากตัวเลขความต้องการการบริโภคทองคำที่มากกว่าตัวเลขการผลิตทองคำ กว่าสองเท่าตัวนั้น เป็นการส่งสัญญาณที่บอกถึงความไม่สมดุลกันอย่างชัดเจนของประเทศจีน

 ข้อมูลของตลาด Shanghai Gold Exchange (SGE) ระบุถึงการแลกเปลี่ยนส่งมอบทองคำในช่วงต้นปีนี้ พบว่าเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีการส่งมอบทองคำแล้ว 562 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22.8 เปอร์เซนต์ จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2556 ด้านราคาทองคำในช่วงต้นปี 2557 นี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2556 กว่า 121 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ เพิ่มขึ้น 9.6 เปอร์เซนต์
 
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าในปี 2557 ประเทศจีนยังคงมีความต่อเนื่องของความต้องการการบริโภคทองคำหรือไม่ จากการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ โดยการลดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบลงจากการเข้าซื้อพันธบัตรล่วงหน้า เพื่อเป้าหมายในการพยายามทำให้อัตราดอกเบี้ยค่อยๆปรับขึ้นนั้น การกระทำดังกล่าวนี้ อาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว การอ่อนค่าของเงินหยวนนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกไม่ได้ จากความไม่สมดุลกันของความต้องการการบริโภคกับการผลิตทองคำในประเทศจีนนั้น ส่วนหนึ่งต้องมีการนำเข้ามาเพื่อชดเชยความต้องการส่วนที่ขาด ดังนั้นปัจจัยเชิงนโยบายการเงินของจีนอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการการบริโภคทองคำของจีนไม่มากก็น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น