เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ธนาคารกลางแห่งเยอรมนี (บุนเดสบังก์) สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ด้วยการประกาศในวันจันทร์ (20) ถอน “ทองคำล็อตใหญ่” จำนวนระหว่าง “30-50 ตัน” ที่ฝากไว้ในธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขามหานครนิวยอร์ก กลับประเทศ หลายฝ่ายตีความ เยอรมนีกำลังเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่
การประกาศถอนทองคำล็อตใหญ่กลับประเทศของแบงก์ชาติเยอรมนีในวันจันทร์ (20) ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เนื่องจากทองคำที่เยอรมนีตัดสินใจถอนกลับประเทศตัวเองนั้นมีปริมาณมากถึง 30-50 ตันในคราวเดียว และถือเป็นหนึ่งในการถอนทองคำกลับประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองเบียร์ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี เยนส์ ไวด์มันน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี ยืนยันว่า การตัดสินใจถอนทองคำล็อตใหญ่กลับประเทศครั้งนี้มีการวางแผนลวงหน้ามานานกว่า 1 ปีแล้ว มิได้เป็นการส่งสัญญาณของเยอรมนีว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่แต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นคำยืนยันของประธานบุนเดสบังก์ ก็ไม่เพียงพอที่จะสยบข่าวลือในตลาดเกี่ยวกับ “เหตุไม่คาดฝัน” ในเวทีเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางเยอรมนีทำการถอนคืนทองคำจำนวน 32 ตันของตนกลับประเทศ โดยทองคำจำนวนดังกล่าวเป็นทองคำที่เยอรมนีไปฝากไว้ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส และมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯตั้งแต่ยุค “สงครามเย็น”
รายงานข่าวระบุว่า บุนเดสบังก์เตรียมถอนทองคำของตนทั้งหมด 674 ตัน ที่ฝากไว้ในต่างประเทศกลับคืนให้หมดภายในปี 2020 หรืออาจเร็วกว่านั้น เพื่อ “สร้างความมั่นคงทางการคลัง” โดยมูลค่าของทองคำทั้งหมด ที่เยอรมนีเตรียมถอนกลับประเทศของตนนั้นคาดว่าอาจสูงถึง 27,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 893,030 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีทองคำสำรองในครอบครองสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยปริมาณทองคำสำรองของเยอรมนีล่าสุดตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีที่แล้ว อยู่ที่ 3,387.1 ตัน ตามข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council)