ภาพรวมราคาทองคำในช่วงนี้ ...น่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงแนวโน้มขาลง และยังไม่เห็นท่าทีจะสามารถปรับขึ้นขึ้นมาร้อนแรงเหมือนช่วงก่อน... ล่าสุด ก็มีปัจจัยลบมาสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนทั่วโลกยอ่างไม่คาดฝัน เมื่อธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) ต้องการนำทองคำของตนที่ฝากไว้ในประเทศอื่นๆ ทั้งในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา กลับประเทศเร็วๆ เพื่อความมั่นคงทางการคลัง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการโยกย้ายทองคำระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ศาลกลางเยอรมนีได้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก อังเกลา แมร์เคิล เร่งหาทางนำทองคำของเยอรมนีจำนวนมากที่ไปฝากไว้ในต่างประเทศราว 674 ตัน ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.05 ล้านล้านบาท) จากทั้งหมด 1,500 ตัน ทยอยนำกลับมาเก็บไว้ในคลังประเทศให้หมดภายในปี 2563เพื่อความมั่นคงทางการคลัง หลังจากรัฐบาลเยอรมนีในอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ต่างมีนโยบายนำทองคำของตนไปฝากไว้ในต่างแดนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียดในยุค “สงครามเย็น”
แบ่งเป็น 45% ถูกนำไปฝากไว้ในธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่อีก 13% และ 11% ถูกนำไปเก็บไว้ในธนาคารกลางของอังกฤษ และธนาคารกลางฝรั่งเศส ตามลำดับ ส่งผลให้มีปริมาณทองคำเพียงแค่ 31% ภายในสำนักงานใหญ่ของบุนเดสบังก์ หรือธนาคารกลางเยอรมนี ในนครแฟรงก์เฟิร์ต
ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อว่า ทองคำของเยอรมนีทั้งหมดที่นำไปฝากไว้ในฝรั่งเศส ควรจะเป็นทองคำส่วนแรกที่รัฐบาลเยอรมนีต้องดึงกลับมาไว้ในประเทศ ขณะที่ทองคำบางส่วนที่ฝากไว้ในอังกฤษ และสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องคงอยู่ตามเดิมต่อไปก่อน เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ในภาพรวม ธนาคารกลางเยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือครองทองคำสำรองรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ โดยปริมาณทองคำในความครอบครองของบุนเดสบังก์นั้นมีกว่า 3,396.3 ตัน เมื่อสิ้นปี 2011 หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 133,000 ล้านยูโร (ราว 5.3 ล้านล้านบาท)
นักวิเคราหะหลายรายเชื่อว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่น่าไว้ใจเช่นนี้ สอดคล้องกับเหตุการณ์ล่าสุดที่รัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2556 ลงสู่ระดับ 0.4% จาก 0.7% เมื่อปี 2555 แล้ว เหมือนกับสะท้อนว่า เยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค ก็ไม่อาจหลีกหนีพ้นผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในหลายประเทศได้
การนำทองกลับบ้านในครั้งนี้ จะทำให้เยอรมนีมีทองคำสำรองเก็บอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 31% มาอยู่ที่ 50% จากทั้งหมด 3,400 ตัน ทำให้ความคล่องตัวทางการคลังของประเทศมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด สามารถสั่งขายทองคำในตลาดค้าทองคำระหว่างประเทศได้ในเวลาอันสั้นหากเกิดวิกฤต ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากธนาคารกลางของเยอรมนี ว่า “นี่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ การมีทองคำสำรองอยู่ในมือ สามารถเปลี่ยนเป็นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้ทันที”
อย่างไก็ตาม แม้จะอ้างว่าเป็นการตรวจสอบ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อาจจะมีธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เกิดความไม่มั่นใจ และเริ่มอยากตรวจสอบระบบทองคำด้วยเช่นกัน ซึ่งผลของการตรวจสอบอาจกลายเป็นประเด็นที่จุดให้เกิดความวุ่นวายทางการเงินทั่วโลก
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก ให้ความคิดเห็นในเร่องดังกล่าวว่า ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าธนาคารกลางเยอรมนีเรียกทองคำกลับมาเพื่อนำมาขาย แต่เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาค่าเงินยูโรในอนาคต
“การฝากทองคำไว้ต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศทำ แม้แต่ไทย เช่นการฝากไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ ข่าวที่ออกมาทำให้เกิดความไม่มั่นใจ จึงมีแรงเทขายออกมากดดันให้ราคาปรับตัวลง แต่ในความจริงแล้ว แม้ธนาคารกลางเยอรมนีจะเรียกทองคำในต่างประเทศกลับมาทั้งหมด ก็ไม่สามารถจะขายได้หมดในทันทีทันใด เพราะติดสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ชื่อ CBGA ที่กำหนดให้สามารถปล่อยขายออกมาได้ทีละไม่เกิน 4-5 ร้อยตัน”
ทั้งนี้ มองว่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่ผ่านมาความไม่มั่นใจต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และยูโรมีสูงทำให้เกิดการสะสมทองคำมากขึ้น แต่เชื่อว่า หากมีการเทขายทองคำออกจริงก็จะมีธนาคารกลางของประเทศอื่นสนใจขอเข้าซื้อ
สำหรับผลกระทบหากเยอรมนีขายทองคำที่สะสมออกมาต่อประเทศไทย จุดนี้ขอมองในด้านบวกว่า ปัจจุบัน ด้วยค่าเงินบาทีที่แข็งค่า ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศไทยแม้ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับทองคำโลก แต่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวรุนแรงเช่นกัน และด้วยจุดนี้ แม้จะการเทขายออกมามาก การปรับตัวของราคาทองคำในประเทศก็จะไม่รุนแรงเหมือนตลาดต่างประเทศแน่ อีกทั้งการแข็งค่าของค่าเงินก็ยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ฟันโฟว์ หรือกระแสเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยนั่นเอง
ส่วนทิศทางราคาทองคำในระยะสั้น คาดกรอบการลงทุนที่ 1,670-1,715/ออนซ์ แนะนำนักลงทุนให้รอซื้อบริเวณแนรับที่ 1,670-1,680/ออนซ์ และรอขึ้นไปทำกำไรแถวบริเวณ 1,695-1,710/ออนซ์ และแนะนำให้ตัดขาดทุนหาราคาทองคำลดลงไปต่ำกว่า 1,660/ออนซ์
ด้าน วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ ระบุว่า ราคาทองคำในระยะสั้นยังเคลื่อนไหวในกรอบซึ่งบริเวณแนวต้าน 1,703/ออนซ์ หรือ 1,712/ออนซ์ โดยบริเวณนี้อาจโดนแรงขายออกมาซึ่งนักลงทุนยังคงต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ ให้ดูว่าราคาจะผ่านแนวต้านได้หรือไม่ ถ้าสามารถผ่านไปได้ให้แนะนำให้ถือต่อไป เพื่อไปขายทำกำไรที่แนวต้านถัดไป และหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมา ไม่หลุดแนวรับ แนะนำนักลงทุนสามารถเก็งกำไรระยะสั้น โดยเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,677/ออนซ์ และมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,670/ออนซ์