ซีเอ็นเอ็น - ผู้ประท้วงฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียบุกยึดอาคารราชการเพิ่ม ในอีกเมืองทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันจันทร์(14) เพิกเฉยต่อเส้นตายของรัฐบาลที่ให้ขีดเส้นให้ออกจากตึกของทางการในเมืองอื่นๆซึ่งผ่านพ้นไปแล้วและยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเคียฟเสียงอ่อย หวังแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาและต้องการหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด แต่ก็ยืนยันพร้อมจะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน
วิดีโอจากสถานที่ชุมนุมในเมืองฮอร์ลิฟคา ทางตะวันออกของยูเครน พบเห็นผู้ประท้วงกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่และเดินฝ่าเข้าไปยังตัวอาคารสถานีตำรวจ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ถูกไฟเผาไหม้เล็กน้อยและกระจกแตกกระจัดกระจาย ขณะเดียวกันก็พบเห็นชายคนหนึ่งในชุดตำรวจโดนทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวขึ้นรถฉุกเฉิน
ปฏิบัติการบุกยึดครั้งล่าสุดนี้ กลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนหนใหม่ของรัฐบาลในกรุงเคียฟ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้ชุมนุมตามเมืองอื่นๆทางภาคตะวันออก ได้เพิกเฉยต่อเส้นตายของประธานาธิบดีรักษาการ โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ ที่ยื่นคำขาดให้ออกจากตึกราชการที่บุกยึดในเวลา 14.00 น.ตามเวลาในเมืองไทย ไม่อย่างนั้นจะต้องเจอกับปฏิบัตการต่อต้านก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบของกองกำลังติดอาวุธยูเครน
อย่างไรก็ตามเส้นตายดังกล่าวผ่านพ้น โดยไม่พบเห็นสัญญาณว่ามันได้รับการใส่ใจจากเหล่าผู้ประท้วงทั้งในเมืองโดเนตสก์และสลาเวียนส์ก ทั้งนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆบริเวณอาคารรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองโดเนตสก์ ซึ่งถูกบุกยึดมานานกว่า 1 สัปดาห์ ส่วนในสลาเวียนส์ก พบเห็นผู้ชุมนุมฝ่ายฝักใฝ่รัสเซีย ยังคงจัดตั้งแนวป้องกันรอบๆสถานีตำรวจที่บุกยึด
เมื่อถูกถามว่าทำไมรัฐบาลยูเครนถึงยังไม่มีท่าทีจะเคลื่อนไหวขับไล่ผู้ประท้วงแม้เส้นตายผ่านพ้นไปแล้ว นายดานีโล ลุบคีฟสกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกกับผู้สื่อข่าวว่ารัฐบาลยังคงเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตามแม้มีความประสงค์หลีกเลี่ยงเหตุนองเลือด แต่รัฐบาลก็ยังคงมีความตั้งใจปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ
ความไม่สงบระลอกล่าสุดนี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุการณ์ซึ่งกระพือความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย โดยเคียฟกล่าวหามอสโกปลุกระดมปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย หลังจากอดีตประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ฝักใฝ่เครมลิน ถูกลุกฮือชุมนุมต่อต้านต่อกรณียกเลิกข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปแล้วหันไปกระชับสัมพันธ์กับมอสโก ก่อนโดนโค่นอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์
ไม่นานหลังจากรัฐบาลใหม่หันสู่ทิศทางเข้าฝักใฝ่ตะวันตก เหล่านักเคลื่อนไหวฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียก็บุกยึกแหลมไครเมีย ในแถบทะเลดำ ก่อนดำเนินการทำประชามติผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมอสโกในเดือนมีนาคม และนับตั้งแต่นั้นเหล่าผู้ประท้วงฝักใฝ่เครมลินก็หลั่งไหลสู่ท้องถนนในหลายเมืองทางตะวันออก โดยบางแห่งก็บุกรุกและบุกยึดอาคารราชการ บางส่วนก็ถึงขั้นเรียกร้องเอกราชตามอย่างไครเมีย