xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เรือออสซี่พบสัญญาณ Ping ใต้น้ำ จุดความหวังเจอซาก “โบอิ้งมาเลเซีย” หลังหายสาบสูญครบ 1 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญาติผู้โดยสารร่วมกันจุดเทียนรำลึกครบ 1 เดือนที่ MH370 สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ผ่านมาครบ 1 เดือนที่เครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมผู้คนกว่า 200 ชีวิต แต่ทว่าการตระเวนหาจุดตกของเครื่องบินบริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ตลอดหลายสัปดาห์ก็ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดที่จะยืนยันได้ว่าเครื่องบินพบจุดจบแล้ว ขณะเดียวกันก็มีเสียงเตือนจากนักวิเคราะห์ว่า ปฏิบัติการค้นหาที่ยืดเยื้อและยากเย็นที่สุดครั้งนี้อาจมีค่าใช้จ่ายบานปลายถึง “หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” ซึ่งจะเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การบินโลก

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส สูญหายไปจากจอเรดาร์ หลังออกจากสนามบินกัวลาลัมเปอร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ปักกิ่งเมื่อกลางดึกของวันที่ 8 มีนาคม โดยบนเครื่องมีผู้โดยสาร 227 คน และลูกเรืออีก 12 คน

การค้นหาในขณะนี้กระจุกอยู่ในบริเวณเสี้ยววงกลม 600 กิโลเมตรของส่วนด้านใต้สุดของมหาสมุทรอินเดีย หลังอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณ Ping ของกองทัพเรืออเมริกันซึ่งลากจูงโดยเรือ โอเชียน ชิลด์ ของกองทัพออสเตรเลียตรวจพบสัญญาณใต้น้ำ 2 ครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 5 และวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน ซึ่งสัญญาณดังกล่าวมีความถี่ 37.5 กิโลเฮิรตซ์ตรงกับสัญญาณจากกล่องดำของเครื่องบิน

สัญญาณครั้งแรกที่พบกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง 20 นาทีก่อนจะขาดหายไป และเมื่อเรือวนกลับย้อนเส้นทางเดิมก็ตรวจจับสัญญาณได้อีก คราวนี้กินเวลา 13 นาที โดยสัญญาณที่รับได้ในครั้งที่ 2 นั้นเป็นสัญญาณ Ping ที่ต่างกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจส่งออกมาจากทั้งกล่องบันทึกข้อมูลการบินและกล่องบันทึกการสื่อสารในห้องนักบินซึ่งมีตัวส่งสัญญาณแยกกัน

ต่อมาในวันอังคารที่ 8 เมษายน โอเชียน ชิลด์ ก็สามารถตรวจจับสัญญาณใหม่ได้อีก 2 ครั้ง กินเวลานาน 5 นาที 32 วินาที และราว 7 นาทีตามลำดับ ทั้งยังมีคลื่นความถี่สัมพันธ์กับสัญญาณคู่แรกซึ่งตรวจพบในช่วงสุดสัปดาห์
เครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส
พล.อ.อ. แองกุส ฮุสตัน อดีตผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมประสานงานการค้นหาแถลงว่า แม้สัญญาณ ping ที่ตรวจพบจะเป็นความคืบหน้าที่ดีที่สุดในเวลานี้ แต่ยังจำเป็นต้องให้เรือและเครื่องบินออกค้นหาต่อ จนกว่าจะมั่นใจว่าแบตเตอรีกล่องดำหมดพลังงานแล้ว เพราะหากจับสัญญาณได้อีกก็จะช่วยลดขอบเขตการค้นหาให้แคบลง อันจะทำให้การปฏิบัติการของยานดำน้ำไร้คนขับ “บลูฟิน-21” ที่จะถูกส่งลงไปค้นหาใต้ทะเลมีประสิทธิภาพเต็มที่ และระหว่างการค้นหาสัญญาณจะไม่อนุญาตให้เรือลำอื่นเข้าใกล้ โอเชียน ชิลด์ เนื่องจากภารกิจนี้ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเสียงรบกวนมากที่สุด

จุดที่ โอเชียน ชิลด์ ค้นหาในขณะนี้อยู่ทางตอนเหนือสุดของบริเวณค้นหาที่กำหนดไว้ ซึ่งน่านน้ำบริเวณนี้มีความลึกเฉลี่ย 4,500 เมตร พอดีกับขีดจำกัดการทำงานของ บลูฟิน-21 ที่ออกแบบมาเพื่อการสำรวจใต้ทะลึก

หากอุปกรณ์โซนาร์ของ บลูฟิน-21 ตรวจพบสิ่งผิดปกติใต้ทะเล ยานไร้คนขับขนาดเล็กนี้ก็จะขึ้นสู่ผิวน้ำ และกลับลงไปอีกครั้งพร้อมกับกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ

จากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด ฮุสตัน แสดงความเชื่อมั่นว่าทีมค้นหาเข้าใกล้จุดตกของ MH370 เต็มที และอีกไม่กี่วันคงจะสามารถใช้ยานดำน้ำ บลูฟิน-21 ได้ เนื่องจากสัญญาณ Ping ครั้งสุดท้ายที่เรือ โอเชียนชิลด์ จับได้อ่อนลงมาก แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรีกล่องดำใกล้จะหมดลงแล้ว

ขณะเดียวกัน ญาติๆ ของผู้โดยสารบนเที่ยวบิน MH370 ซึ่งราว 2 ใน 3 เป็นชาวจีนก็ได้ร่วมกันจุดเทียนรำลึกในวาระครบรอบ 1 เดือนที่เครื่องบินลำนี้สูญหาย และพยายามปลอบโยนกันและกัน ระหว่างที่รอฟังความคืบหน้าในการค้นหาเครื่องบินอย่างทุกข์ทรมาน

ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมและรักษาการรัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย ยอมรับว่าสัญญาณ Ping ที่เรือ โอเชียน ชิลด์ จับได้เป็นเบาะแสที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยังไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าผู้โดยสารบางส่วนอาจยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ในเบาะแสที่ได้รับจากดาวเทียมไม่ได้บ่งบอกหรือแสดงให้เห็นเลยว่ายังมีผู้รอดชีวิต
เรือ โอเชียน ชิลด์ ของกองทัพออสเตรเลีย
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการค้นหา MH370 โดยอิงกับสถิติของกองทัพเกี่ยวกับต้นทุนทรัพย์สินต่อชั่วโมงที่ประเมินโดยนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม และต้นทุนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน ซึ่งก็พบว่า ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมาเครื่องบินและเรือจากออสเตรเลีย จีน อเมริกา และเวียดนาม ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เงินไปแล้วอย่างน้อย 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นปฏิบัติการค้นหาที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน และยังไม่รวมทรัพย์สินด้านการทหารทั้งหมด ตลอดจนต้นทุนอื่นๆ เช่น เครื่องบินพลเรือน ที่พักสำหรับบุคลากรนับร้อยคน และค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ข่าวกรองทั่วโลก

ตัวเลขนี้ถือว่าใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการค้นหาเที่ยวบิน AF447 ของสายการบิน แอร์ฟรานซ์ ที่ตกลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2009 และต้องใช้เวลาค้นหาอยู่นานหลายเดือน แต่ในทำนองเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าต้นทุนที่แท้จริงของการค้นหา แอร์ฟรานซ์ อาจสูงกว่าตัวเลขที่เปิดเผย และค่าใช้จ่ายในการค้นหา MH370 ทั้งหมดจนสิ้นสุดปฏิบัติการก็มีแนวโน้มที่จะบานปลายเป็น “หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

แม้ออสเตรเลียซึ่งรับหน้าที่อำนวยการค้นหา และมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่เครื่องบินจดทะเบียนจะย้ำว่า “ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัญหา” ทว่านายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายถึงครึ่งหนึ่งเนื่องจากพื้นที่ค้นหาอยู่ในน่านน้ำของตน ก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจต้อง “เรียกเก็บค่าใช้จ่าย” แต่ก็สำทับว่า แคนเบอร์รายินดีให้ความช่วยเหลือแก่ทุกประเทศเท่าที่สามารถทำได้

ผู้สนับสนุนสำคัญรองลงมาได้แก่ จีน และสหรัฐฯ โดยสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเปิดเผยว่าใช้งบประมาณไปกับการค้นหา MH370 แล้วกว่า 3.3 ล้านดอลลาร์

เวลานี้ทุกฝ่ายต่างภาวนาให้สัญญาณที่เรือ โอเชียน ชิลด์ ตรวจพบมาจากเครื่องบินมาเลเซียที่สูญหาย เพราะหากข้อมูลนี้ผิดพลาดและจุดที่พบสัญญาณไม่ใช่จุดตกของเครื่องบิน โอกาสที่จะค้นหาMH370 พบก็ยิ่งเหลือน้อยเต็มที เพราะการค้นหาซากเครื่องบินที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเลอันเวิ้งว้างโดยปราศจากสัญญาณกล่องดำช่วยนำทางก็คงไม่ต่างจากการ “งมเข็มในมหาสมุทร” ดีๆ นี่เอง
ยานสำรวจใต้ทะเลไร้คนขับ บลูฟิน-21
ภาพแสดงจุดที่เรือจีนและออสเตรเลียพบสัญญาณ Ping ใต้น้ำ ซึ่งเชื่อว่าถูกส่งมาจากกล่องดำของ MH370
กำลังโหลดความคิดเห็น