xs
xsm
sm
md
lg

“โตโยต้า” เรียกคืนรถ 6.39 ล้านคัน “จีเอ็ม” ก็เจอข้อหาปกปิดปัญหาสวิตช์สตาร์ทรถบกพร่องกว่าสิบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - โตโยต้า ประกาศในวันพุธ (9 เม.ย.) ขอเรียกคืนรถยนต์ 6.39 ล้านคันทั่วโลกกลับมาซ่อมแซม หลังพบข้อบกพร่องจำนวนหนึ่งซึ่งกำลังส่งผลเสียต่อหลายๆ ส่วนของรถ ตั้งแต่พวงมาลัยไปจนถึงเบาะนั่ง ถือเป็นการเรียกคืนครั้งใหญ่อันดับสองในวันเดียวในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ เจนเนอรัล มอร์เตอร์ส (จีเอ็ม) คู่แข่งสำคัญสัญชาติอเมริกัน ก็ถูกทางการสหรัฐฯ กล่าวหาและถูกสั่งปรับเงินจากการปิดบังไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของสวิตช์ติดเครื่องรถเป็นเวลากว่าสิบปี

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ออกแถลงขอเรียกคืนรถยนต์กลับมาซ่อมแซมคราวนี้รวม 5 ฉบับ ครอบคลุมรถยนต์แบรนด์โตโยต้ารวม 26 รุ่น ตลอดจนแบรนด์ พอนทิแอค ไวบ์ และซูบารุ ทรีเซีย ซึ่งทางโตโยต้าผลิตให้แก่จีเอ็ม และฟูจิ เฮฟวี อินดีสตรีส์ ตามลำดับ

เนื่องจากรถยนต์บางรุ่นถูกเรียกคืนด้วยข้อบกพร่องมากกว่า 1 ประการ ทำให้มีรถยนต์ที่จะถูกเรียกคืนพร้อมกันประมาณ 6,390,000 คัน คำแถลงของโตโยต้าระบุ

ในคำแถลงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ อ้างถึงบางปัญหาที่พบ เช่น ข้อบกพร่องบริเวณเบาะนั่งคนขับ, แกนพวงมาลัย รวมไปถึงปัญหาในระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้

ประกาศขอเรียกคืนมาซ่อมแซมครั้งนี้ รวมไปถึงรถเก๋งซีดานขนาดกลางรุ่นโคโรลล่า, รถอเนกประสงค์ RAV4 และโตโยต้า ยาริส

การเรียกคืนครั้งนี้จะครอบคลุมรถยนต์ 1.08 ล้านคันในญี่ปุ่น, 2.3 ล้านคันในอเมริกาเหนือ, 770,000 คันในยุโรป และอีก 62,000 คันในจีน ทั้งหมดเป็นรถยนต์ที่ผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โตโยต้าแถลงว่า ยังไม่เคยได้รับแจ้งว่าความบกพร่องเหล่านี้ได้เคยเป็นสาเหตุทำให้เกิดการชนหรือการบาดเจ็บล้มตายใดๆ ถึงแม้บริษัทเคยได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 2 ครั้งซึ่งเกิดจากปัญหาสตาร์ทเตอร์ แต่ก็ยืนยันได้ว่าทั้งสองกรณีไม่ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่

อย่างไรก็ตาม โตโยต้าไม่ได้ระบุว่าการขอเรียกคืนรถกลับมาซ่อมคราวนี้จะทำให้บริษัทต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งยังไม่ได้พูดให้กระจ่างว่าความบกพร่องเหล่านี้มีต้นตอมาจากพวกซัปพลายเออร์ของบริษัท หรือจากระบวนการผลิตในโรงงานของโตโยต้าเอง โดยในคำแถลงเพียงบอกว่า “เราต้องขออภัยอย่างจริงใจต่อลูกค้าของเรา สำหรับความไม่สะดวกและความกังวลห่วงใยที่เกิดขึ้นจากการประกาศขอเรียกรถคืนกลับมาซ่อมครั้งนี้”

ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ การที่ผู้ผลิตจะขอเรียกคืนรถจำนวนมากกลับมาซ่อมจุดบกพร่อง กำลังกลายเป็นการปฏิบัติปกติยิ่งขึ้นทุกที โดยที่บริษัทเหล่านี้เห็นว่าจำเป็นต้องรีบแก้ไขข้อบกพร่องอย่างรวดเร็ว ภายหลังได้เห็นบทเรียนที่โตโยต้าถูกบังคับให้ต้องเรียกคืนยานยนต์รวมจำนวนกว่า 9 ล้านคัน เพื่อแก้ไขปัญหาคันเร่งติดขัดซึ่งได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย

การเรียกคืนคราวนั้น ซึ่งบีบคั้นให้ อาคิโอะ โตโยดะ ประธานบริหารของโตโยต้าในเวลานั้น ต้องเดินทางไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ สร้างความเสียหายหนักให้แก่ยอดขายและชื่อเสียงเกียรติคุณของบริษัท รวมทั้งในเดือนที่แล้วโตโยต้าต้องยอมจ่ายเงินค่ายอมความสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ทางการสหรัฐฯยุติการสืบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนคดีความฟ้องร้องของภาคเอกชนยังคงคั่งค้างอยู่อีกหลายคดี

นอกจากนั้น โตโยต้าได้เรียกคืนรถยนต์ 7.43 ล้านคันทั่วโลกเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2012 รวมถึงรุ่นยอดนิยมอย่างคัมรี่ และโคโรลล่า หลังพบปัญหาสวิตช์หน้าต่างรถที่ทำให้เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็เพิ่งจะเรียกคืน พริอุส ไฮบริด 1.9 ล้านคัน

สำหรับค่ายรถยนต์อื่นๆ ไครสเลอร์เพิ่งประกาศในสัปดาห์ที่แล้วขอเรียกคืนรถเอสยูวีร่วมๆ 870,000 คันกลับมาซ่อมปัญหาเบรก

จีเอ็มก็เจอข้อหาปิดบังข้อบกพร่องกว่าสิบปี

ส่วนจีเอ็ม คู่แข่งรายสำคัญที่สุดของโตโยต้านั้น สำนักงานบริหารความปลอดภัยการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHTSA) แถลงในวันอังคาร (8) ว่า ค่ายรถยนต์อเมริกันใหญ่ที่สุดรายนี้กำลังถูกปรับเป็นเงิน 7,000 ดอลลาร์ต่อวัน หลังจากพ้นเส้นตายวันที่ 3 เมษายนแล้ว ยังไม่ได้ส่งข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการออกประกาศขอเรียกคืนรถยนต์จำนวน 2.6 ล้านคัน เพื่อแก้ไขสวิตช์ติดเครื่องที่บกพร่อง

ในหนังสือที่ส่งถึงจีเอ็ม ทาง NHTSA ระบุว่าบริษัทรถยนต์รายนี้ถูกปรับไปแล้วเป็นเงิน 28,000 ดอลลาร์ และจะถูกปรับต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตอบคำถามทั้งหมด 107 ข้อซึ่งทางสำนักงานสอบถามไปเพื่อนำมาใช้ในการสอบสวน

ทั้งนี้ NHTSA กำลังสอบสวนว่า ทำไมจีเอ็มจึงรั้งรออยู่จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้ออกประกาศขอเรียกคืนรถกลับมาซ่อม ทั้งๆ ที่ได้ทราบถึงความบกพร่องนี้ทีแรกสุดเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว

เท่าที่รวบรวมได้ในขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 13 รายในรถยนต์ แซทเทิร์น อิออน, เชฟโรเลต โคบอลต์, และรถรุ่นอื่นๆ ของจีเอ็ม ซึ่งน่าจะโยงใยเกี่ยวข้องกับปัญหาสวิตช์ติดเครื่องมีความบกพร่อง

NHTSA ระบุว่า ในคำถามจำนวนรวม 17 หน้าซึ่งส่งมาให้แก่จีเอ็มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมนั้น เมื่อถึงเส้นตายวันที่ 3 เมษายน ค่ายรถยนต์ยักษ์รายนี้ไม่ได้ตอบกลับมาอีกกว่าหนึ่งในสาม

คำถามที่หน่วยงานแห่งนี้สอบถามไปนั้น จำนวนมากทีเดียวเป็นการมุ่งสืบสาวว่าใครบ้างในจีเอ็มที่ทราบปัญหาความบกพร่องนี้ และทราบมาตั้งแต่เมื่อใด โดยที่ในสัปดาห์ที่แล้ว แมรีบาร์รา ซีอีโอคนใหม่ของจีเอ็ม ก็เพิ่งไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ 2 คณะ ซึ่งกำลังสอบสวนเรื่องการปกปิดข้อมูลนี้ ทั้งนี้เธอตอบว่าไม่ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับสวิตช์สตาร์ทรถบกพร่องนี้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น