xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : แอฟริกาผวา! ไวรัสมรณะ “อีโบลา” ระบาดรอบใหม่ ยอดเหยื่อสังเวยเชื้อร้ายพุ่งไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในแวดวงสาธารณสุขของโลกที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดข่าวหนึ่งคงหนีไม่พ้นการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ที่เกิดการระบาดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยมีประเทศกินี อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นต้นตอของการระบาด

การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาระลอกล่าสุดที่กินี ถือเป็นการระบาดของเชื้อมรณะชนิดนี้เป็นครั้งที่ 28 แล้วนับตั้งแต่พบการระบาดเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1976 ที่ประเทศซาอีร์ หรือปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ที่ทำให้มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะเชื้อร้ายสูงถึง 280 คนในเวลานั้น และถือเป็นการระบาดครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2012 ที่เกิดการระบาดในประเทศยูกันดาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นไป 17 ราย

การระบาดของเชื้ออีโบลาหนนี้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่ป่าลึกแถบตะวันออกเฉียงใต้ของกินี ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทว่าความพยายามของรัฐบาลกินีในการปกปิดเรื่องราวที่เกิดขึ้น แทนที่จะเร่งหาทางหยุดยั้งเชื้อไวรัสชนิดนี้กลับส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษ

รัฐบาลกินีภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลฟา กอนเด ออกมาประกาศให้ประชาชนของตนอยู่ในความสงบ และ “อย่าตื่นตูม” กับข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา พร้อมอ้างว่ารัฐบาลกินีสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อมรณะที่ยัง “ไม่มีทางรักษา” และ “ไม่มีวัคซีน” ชนิดนี้ไว้ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างของผู้นำกินี อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ระบุว่าสามารถควบคุมการระบาดของเชื้ออีโบลาได้แล้วนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากประชาคมสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังจากมีหลักฐานว่าในความเป็นจริงแล้ว เชื้อไวรัสมรณะอีโบลาที่มีอัตราการคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 90 นั้น ได้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆของกินีแล้ว รวมถึงที่กรุงโกนากรี เมืองหลวงของประเทศ นอกเหนือจากต้นตอการระบาด ที่เดิมอยู่แต่เฉพาะในเขตป่าลึกทางตะวันออกเฉียงใต้


องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres) องค์กรการกุศลนานาชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1971 และมีฐานอยู่ที่นครเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่า กินีกำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้ออีโบลาในระดับที่ “คาดไม่ถึง” หลังพบการลุกลามของเชื้อร้ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

“เรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะอีโบลาในระดับที่คาดไม่ถึง และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราพบหลักฐานของการระบาดในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรจากจุดที่พบผู้ติดเชื้อครั้งแรก” มาเรียโน ลูกลี ผู้ประสานงานของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนเผยที่กรุงโกนากรี เมืองหลวงของกินีที่เป็นบ้านของประชากรราว 2 ล้านคน

ข้อมูลล่าสุดเมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (3) ที่ผ่านมา ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิต (เฉพาะที่ได้รับการยืนยันแล้ว) จากการติดเชื้ออีโบลาได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 83 ราย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากการลงพื้นที่ของบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากนานาชาติที่ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากการตกเป็นเหยื่อของไวรัสอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนั้นได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 95 รายแล้ว ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 143 ราย โดยที่ต้นตอการระบาดอย่าง กินีถือเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด คือ 84 คน รองลงมา คือ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเซียร์รา ลีโอน และไลบีเรีย ที่มีผู้เสียชีวิต 6 รายและ 5 รายตามลำดับ ขณะที่ทาริค ยาซาเรวิช โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมายอมรับว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอาจมีสูงถึง 400 ราย

การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจมีต้นเหตุมาจากการบริโภค “ค้างคาว” เป็นอาหารของชาวบ้านในกินีนั้น ถือเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุดของเชื้ออีโบลา นับตั้งแต่การระบาดที่เกิดขึ้นทางภาคกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2007 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 187 ราย

หลังข่าวความล้มเหลวของรัฐบาลกินีในการควบคุมการระบาดของเชื้ออีโบลาถูกเผยแพร่ออกไป บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของกินีต่างขยับตัวออกมาตรการป้องกันอย่างขนานใหญ่ โดยรัฐบาลเซเนกัลประกาศ “ปิดพรมแดน” ด้านที่ติดต่อกับกินีแบบไม่มีกำหนด หวั่นเชื้อมรณะลุกลามเข้ามายังประเทศของตน

ขณะที่ประธานาธิบดีกู๊ดลัค เอเบเล โจนาธาน ผู้นำไนจีเรีย ออกมาระบุว่ารัฐบาลไนจีเรียพร้อมดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็นซึ่งรวมถึงการสั่ง“ปิดพรมแดน”ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาตะวันตกทั้งหมด หากการระบาดของไวรัสอีโบลาเข้าขั้นวิกฤต

การระบาดของไวรัสอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติหนนี้จะยุติลงได้หรือไม่ และจะยุติลงได้เมื่อใด ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิต-ผู้ติดเชื้อที่แท้จริงที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็นรายวัน

แม้เชื้ออีโบลาจะดูเป็นเรื่องที่ “ไกลตัว” สำหรับคนไทย แต่การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของ “ความไม่ประมาท” ย่อมถือเป็นความคิดที่ดีกว่าเพราะเชื่อหรือไม่ว่าไวรัสมรณะที่มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกาชนิดนี้เคยเดินทางข้ามทวีปเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราอย่าง “ฟิลิปปินส์” มาแล้วถึง 3 ครั้ง 3 ครา คือเมื่อปี 1989, 1996 และล่าสุดคือเมื่อปี 2008 ทำให้ประชาชนแดนตากาล็อกติดเชื้อไปเกือบ 10 ราย

กำลังโหลดความคิดเห็น