เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลมาลียืนยันในวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) ว่าพบผู้ต้องสงสัยที่อาจติดเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” จำนวน 3 รายในประเทศของตน ถือเป็นเบาะแสล่าสุดที่ระบุว่าเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มีหนทางรักษาชนิดนี้ได้ลุกลามเข้าสู่ประเทศที่ 4 แล้ว หลังพบต้นตอของการระบาดรอบนี้ที่ประเทศกินีตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่รัฐบาลของไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนจะยืนยันการระบาดของเชื้อร้ายในประเทศของตนเช่นกัน
อุสมาน โคเน รัฐมนตรีสาธารณสุขของมาลี ออกมาแถลงต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่กรุงบามาโก เมืองหลวงของประเทศในวันพฤหัสบดี (3) โดยยอมรับว่าตรวจพบผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าอาจติดเชื้ออีโบลาอย่างน้อย 3 รายในมาลี และการยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 รายนี้ติดเชื้ออีโบลาจริงหรือไม่ จะต้องรอผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ซึ่งรับตัวอย่างเลือดของบุคคลทั้งสามไปตรวจวิเคราะห์
รัฐมนตรีสาธารณสุขของมาลียืนยันว่า ขณะนี้ผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั้ง 3 รายถูกแยกกักบริเวณในสถานที่ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ และได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม โดยมีแนวโน้มว่าอาการป่วยของทั้ง 3 คนเริ่มกระเตื้องขึ้น
คำแถลงของทางการมาลีมีขึ้น หลังจากที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อมรณะอีโบลาในประเทศกินีเฉพาะรายที่ได้รับการยืนยันแล้วได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 84 รายจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 134 คน
ขณะที่รัฐบาลไลบีเรียแถลงว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 รายในประเทศของตนเมื่อเดือนที่แล้ว โดยในจำนวนนี้มี 5 รายที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเสียชีวิตเพราะติดเชื้ออีโบลา ส่วนในเซียร์ราลีโอนมีการยืนยันพบผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย
การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาระลอกล่าสุดที่กินี ถือเป็นการระบาดของเชื้อมรณะชนิดนี้เป็นครั้งที่ 28 แล้ว นับตั้งแต่พบการระบาดเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1976 ที่ประเทศซาอีร์ หรือปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) ที่ทำให้มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะเชื้อร้ายสูงถึง 280 คนในเวลานั้น และถือเป็นการระบาดครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2012 ที่เกิดการระบาดในประเทศยูกันดาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นไป 17 ราย
โดยการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจมีต้นเหตุมาจากการบริโภค “ค้างคาว” เป็นอาหารของชาวบ้านในกินีนั้น ถือเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุดของเชื้ออีโบลานับตั้งแต่การระบาดที่เกิดขึ้นทางภาคกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2007 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 187 ราย