รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ในประเทศกินีทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาเพิ่มเป็นอย่างน้อย 63 ราย ขณะที่รัฐบาลกินีอ้างในวันพุธ (26 มี.ค.) ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้แล้ว
รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres : MSF) ในวันพฤหัสบดี (27) ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” เฉพาะที่ได้รับการยืนยันจากผลตรวจในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ได้เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 63 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่อยู่ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของกินี อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่เป็นศูนย์กลางของการระบาด
โฆษกขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดนแถลงเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 63 รายแล้ว จำนวนผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อล่าสุดได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 88 ราย
ด้านรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านของกินี อย่างไลบีเรีย ออกมายืนยันว่าพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลาในประเทศของตนแล้วอย่างน้อย 5 ราย โดยทั้งหมดเพิ่งเดินทางข้ามพรมแดนมาจากกินี
ขณะที่ทางการเซียร์รา ลีโอน ประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่งของกินี ยืนยันเช่นกันว่าพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลาซึ่งทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษา และไม่มีวัคซีน แล้วอย่างน้อย 2 ราย
อย่างไรก็ดี เรมี ลามาห์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของกินี แถลงยืนยันที่กรุงโกนากรี เมืองหลวงของประเทศในวันพุธ (26) โดยระบุว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ได้แล้ว และอ้างว่ารัฐบาลของตนไม่พบหลักฐานว่ามีการลุกลามของเชื้ออีโบลาไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากเขตป่าทึบแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน ทางกระทรวงสาธารณสุขกินีเพิ่งออกคำสั่งห้ามการจำหน่าย และการบริโภค “ค้างคาว” สายพันธุ์ต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้ออีโบลาระบาดลุกลามหนักข้อขึ้น แม้อาหารที่ใช้เนื้อและชิ้นส่วนต่างๆ ของค้างคาวจะถือเป็น “เมนูยอดนิยม” ของชาวกินี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ
โดยมาตรการแบนการขายและการบริโภคค้างคาว ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลกินี ในการรับมือกับเชื้อมรณะอีโบลา ซึ่งคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 90 และยังไม่มีหนทางในการรักษา รวมถึงไม่มีวัคซีน ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้นนับจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลา ถูกตั้งชื่อตามแม่น้ำสายหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หลังมีการค้นพบเชื้อมรณะนี้เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1976 และนับจนถึงปัจจุบันมีการระบาดของเชื้ออีโบลาเกิดขึ้นแล้ว “เกือบ 30 ครั้ง” ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 1,500 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อราว 2,200 คน
อย่างไรก็ดี การระบาดของเชื้ออีโบลาที่เกิดขึ้นล่าสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศกินี หนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในโลกที่เป็นบ้านของประชากรมากกว่า 10 ล้านคน