(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Trade talks raise medicines concerns
By Jared Metzker
17/07/2013
การเจรจาหารือทางการค้าที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคแปซิฟิกขึ้นมาในปีนี้ แต่พร้อมๆ กันนั้น การพูดคุยต่อรองซึ่งส่วนใหญ่งุบงิบกระทำกันอย่างลับๆ คราวนี้ ก็กำลังก่อให้เกิดความหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า มันจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยราคาค่อนข้างถูกของพวกประเทศกำลังพัฒนา โดยที่มีการตกลงยินยอมขยายระยะเวลาใช้อำนาจการผูกขาดสิทธิบัตรยาของพวกบริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ และบีบคั้นบังคับให้การผลิตยาสามัญที่ราคาต่ำกว่ากันมากต้องล้มหายตายจากไป
วอชิงตัน – การเจรจาต่อรองกันรอบใหม่เพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีฉบับใหญ่โตที่ใช้ชื่อว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) กำลังเดินหน้าไปในสัปดาห์นี้ โดยที่มีรายงานว่าสหรัฐฯใช้ความพยายามอย่างหนักในการผลักดันพวกประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมการหารือด้วย ให้ยอมรับเนื้อหาบทบัญญัติข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งพวกนักวิจารณ์กล่าวว่า จะส่งผลทำให้ประชาชนของชาติยากจนกว่าเหล่านี้ ประสบความลำบากมากขึ้นในการเข้าถึงยารักษาโรค
อาเธอร์ สตามูลิส (Arthur Stamoulis) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร “ซิติเซนส์ เทรด แคมเปญ” (Citizens Trade Campaign) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม และตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า เวลานี้กำลังเกิดความวิตกกังวลกันอย่างใหญ่โตจริงๆ ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงยารักษาโรค โดยเฉพาะเรื่องที่ข้อตกลง TPP จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ขณะที่การเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำ TPP เดินหน้าเข้าสู่รอบที่ 18 องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres ใช้อักษรย่อว่า MSF) ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษยธรรมทางด้านสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงมาก ได้ออกมาเรียกร้องให้พวกประเทศที่เข้าร่วมการพูดคุยหารือ “ยกเลิกข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นการสกัดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าถึงยาในราคาที่พอจ่ายไหว, ที่เป็นการบีบคั้นบังคับให้การผลิตยาสามัญ (generic medicines หรือ generic drugs ยาที่ผลิตเลียนแบบยาต้นตำรับ หลังจากที่ยาต้นตำรับหมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรแล้ว) ต้องล้มหายตายจากไป, และที่เป็นการบังคับลิดรอนความสามารถของรัฐบาลต่างๆ ในการออกกฎหมายข้อบังคับเพื่อผลประโยชน์ในทางสาธารณสุขของประชาชนวงกว้าง”
การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลง TPP ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 ขณะนี้กำลังดำเนินอยู่ในมาเลเซีย และประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประกอบด้วยสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ชิลี, เปรู, บรูไน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม, แคนาดา, และเม็กซิโก โดยที่ญี่ปุ่นนั้นคาดหมายกันว่าจะเข้าร่วมในช่วงท้ายของการเจรจารอบนี้ ขณะที่มีประเทศอื่นๆ อีกที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมในเวลาต่อไป
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the United States Trade Representative) แถลงระบุเอาไว้ว่า วัตถุประสงค์ของข้อตกลงฉบับนี้คือ เพื่อ “เพิ่มพูนการค้าและการลงทุนในหมู่ประเทศหุ้นส่วน TPP, ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม, ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา, และสนับสนุนการสร้างตำแหน่งงานและการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงาน” โดยที่พวกนักวิจารณ์ได้กล่าวเตือนเอาไว้นานแล้วว่า ในทางเป็นจริงแล้ว ในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ สหรัฐฯดูจะพยายามผลักดันกำหนดเงื่อนไขผูกพันอันหนักหนาสาหัสให้ชาติผู้ร่วมเจรจารายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกประเทศกำลังพัฒนา ต้องยินยอมปฏิบัติตาม ขณะเดียวกัน พวกนักวิจารณ์และกระทั่งนักการเมืองในสหรัฐฯเอง ยังพากันร้องโวยวายกันมากในเรื่องที่การพูดจาหารือกันเหล่านี้มักกระทำกันแบบแทบจะปิดลับเงียบกริบ ปราศจากการกำกับตรวจสอบ แม้กระทั่งจากทางรัฐสภาอเมริกัน
ขณะที่เนื้อหาบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ อาจจะมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม แต่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนก็ชี้ให้เห็นว่า บทบัญญัติมาตราเหล่านี้จะกลายเป็นการขยายระยะเวลาแห่งอำนาจผูกขาดอันเกิดจากฐานะการเป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรยาของพวกบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ ในเวลาที่พวกเขาขายยาของพวกเขาในต่างประเทศ สภาพเช่นนี้หมายความว่าจะต้องใช้เวลายาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่ยาสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก จะสามารถเข้าสู่ตลาดของพวกประเทศรายได้ต่ำ โดยที่พลเมืองของชาติเหล่านี้มักจะต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักกันอยู่แล้วเพื่อให้สามารถใช้จ่ายซื้อหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ในชีวิต
ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากบริษัทยาในเอเชียคือซัปพลายเออร์รายใหญ่ของพวกยาสามัญ ดังนั้นบทบัญญัติมาตราในเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดของ TPP ในที่สุดแล้วก็อาจส่งผลกระทบกระเทือนแผ่กว้างออกไปไกลเกินกว่าแค่เฉพาะพวกประเทศซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงฉบับนี้
“ประเทศเอเชียจำนวนมากมีบทบาทอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเป็นผู้ซัปพลายทั้งยาสามัญและทั้งส่วนผสมทางเวชภัณฑ์ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตยา แต่บทบาทอันสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง เนื่องจากข้อจำกัดใหม่ๆ ที่มีการเสนอให้บรรจุไว้ในข้อตกลง TPP” จูดิต ริอุส ซานฮวน (Judit Rius Sanjuan) ผู้จัดการในสหรัฐฯของโครงการรณรงค์เข้าถึงยา (Access Campaign) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ระบุ “ข้อตกลง TPP จึงกำลังเป็นภัยคุกคามที่จะกลายเป็นตัวผูกมัดตอกตรึงระบบซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ให้แก่การบำบัดรักษาที่พอจะจ่ายไหวของทั่วโลก โดยที่จะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอย่างเลวร้ายที่สุดทั้งสำหรับคนไข้, ผู้ให้การบำบัดรักษา, และผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย”
บทบัญญัติที่กำลังมีการผลักดันให้ตกลงยอมรับเข้าสู่ TPP นั้น อาจจะกลายเป็นการเอื้ออำนวยเปิดทางสะดวกให้แก่การปฏิบัติตามแนวความคิดว่าด้วย “เขียวจีรัง” (evergreening) ซึ่งพวกบริษัทเวชภัณฑ์ที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่กำลังพยายามผลักดัน โดยแนวความคิดนี้หมายถึงการเล่นซิกแซกทางกฎหมายซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้ระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยา อันหมายถึงช่วงเวลาแห่งการใช้อำนาจผูกขาดของบริษัทผู้ถือครองสิทธิบัตร ได้ยืดขยายเพิ่มจาก 20 ปีตามหลักเกณฑ์ปกติ ถึงแม้การบังคับใช้ข้อจำกัดใหม่ๆ เช่นนี้จะเป็นการขัดแย้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ในอดีต รวมทั้งยังขัดแย้งกับกฎหมายระดับชาติในสหรัฐฯเอง ซึ่งภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว วอชิงตันประกาศให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มขยายการเข้าถึงยาสามัญให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
การจำกัดลิดรอนใดๆ ต่อการเข้าถึงยาดังกล่าวข้างต้น ยังจะกระทบกระเทือนเป้าหมายต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขระดับโลกซึ่งสหรัฐฯเองกำหนดเอาไว้ ทั้งนี้กล่าวกันว่า โครงการ PERFAR ที่เป็นโครงการเรือธงในด้านการต่อต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ของสหรัฐฯ และก็เป็นโครงการทางด้านนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกนั้น มีการใช้ยาสามัญเป็นปริมาณสูงถึง 98% ทีเดียว
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน พูดถึงแนวความคิดเรื่องเขียวจีรัง ว่า “เลวร้ายมาก” กลุ่มมนุษยธรรมด้านสาธารณสุขชื่อดังกลุ่มนี้ยังเตือนด้วยว่า เนื่องจากตามข้อตกลงการค้าเสรีนั้น ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมย่อมจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายของประเทศตนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในข้อตกลงด้วย ดังนั้นมาตรฐานซึ่งสหรัฐฯพยายามผลักดันสนับสนุนนี้ ก็จะยิ่งทำให้แนวความคิดเขียวจีรัง มีโอกาสแพร่หลายไปในต่างแดนเพิ่มมากขึ้น
**เร่งสรุปข้อตกลงขั้นสุดท้าย**
มีรายงานว่า คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังมีความรู้สึกว่า จะต้องเร่งด่วนรีบสรุปการเจรจาทำข้อตกลง TPP ในขั้นสุดท้ายให้ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่าแรงผลักดันให้เร่งรีบเช่นนี้ อาจทำให้หลายๆ ประเทศที่ปกติแล้วจะต้องต่อต้านคัดค้านบทบัญญัติซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนการเข้าถึงยา กลับรู้สึกว่าจำเป็นต้องยินยอมปล่อยให้ผ่าน
“พวกเราได้รับทราบจากคณะเจรจาของชาติอื่นๆ ว่า แรงกดดันให้สรุปข้อตกลงนี้ในขั้นสุดท้ายกันให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้นั้น กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ” ซานฮวนบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส ในระหว่างการเจรจาของ TPP รอบที่แล้ว “และพวกเขาต่างกลัวกันว่าถ้าหากไม่มีเวลาเพิ่มมากขึ้นสำหรับการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว บทบัญญัติเช่นนี้ก็จะยังคงอยู่ในข้อตกลง”
เธอยังชี้ด้วยว่า การเจรจากำลังกระทำกันแบบปิดลับ และไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมกันเลย สำนักงานของเธอกว่าจะทราบว่ามีบทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและเรื่องการเข้าถึงยา ก็ต้องหลังจากที่ข้อความในบทบัญญัติดังกล่าวถูกปล่อยรั่วออกมา
กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนสื่อมวลชน มีโอกาสอันจำกัดอย่างยิ่งที่จะพูดจาแสดงความคิดเห็นกับพวกผู้เจรจาจัดทำข้อตกลง การสื่อสารกันที่พอจะมีอยู่บ้างส่วนใหญ่แล้วบังเกิดขึ้นในการประชุมที่เรียกกันว่า “การประชุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (stakeholder meetings) โดยที่ในการประชุมเช่นนี้กลุ่มต่างๆ ได้รับอนุญาตให้เสนอความคิดเห็นเพียงสั้นๆ ต่อผู้เข้าร่วมเจรจาเฉพาะบางคน และถูกคุมแจทีเดียวเมื่อได้รับโอกาสอันน้อยนิดในการเข้าถึงพูดจาแบบเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้
เมื่อเร็วๆ นี้ ไอพีเอส ก็มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบนี้ครั้งหนึ่ง โดยเป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับสำคัญอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำเช่นกัน และปรากฏว่าได้รับแจ้งจากผู้แทนหลายต่อหลายคนว่า ข้อมูลข่าวสารซึ่งพวกเขาสามารถที่จะนำมาเผยแพร่ต่อให้ที่ประชุมรับทราบได้นั้นมีเพียงจำกัดน้อยนิด
สภาพของการขาดไร้ความโปร่งใสเช่นนี้กำลังถูกบางคนบางฝ่ายตีความว่า คือสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ข้อตกลง TPP มิได้มีการเจรจาต่อรองกันเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนวงกว้างแต่อย่างใด แท้ที่จริงแล้ว พวกที่สามารถเข้าถึงการเจรจา TPP อย่างกว้างขวางที่สุดก็คือพวกผู้แทนของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
“แน่นอนทีเดียวว่า TPP ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือประชาชนคนทำงาน” สตามูลิส แห่งองค์กร “ซิติเซนส์ เทรด แคมเปญ กล่าวและระบุว่า ตรงกันข้าม TPP เป็นข้อตกลงที่มุ่งจะรับใช้ผลประโยชน์ของ “พวกบริษัททรงอำนาจอย่างยิ่งจำนวนเล็กๆ เพียงหยิบมือ” เท่านั้น
สตามูลิสยังชี้ด้วยว่า กำลังมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้พวกผู้เข้าร่วมเจรจาต้องรีบสรุปปิดข้อตกลงขั้นสุดท้ายกันให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ “พวกเขากำลังเดินเครื่องเต็มที่กันจริงๆ เพื่อให้เจ้าสิ่งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่มีข้อต้องสงสัยเลยในเรื่องนี้” เขาย้ำ
ทางด้าน ซานฮวน เสนอแนะว่า ความเร่งด่วนของพวกที่กำลังหาทางผลักดันให้ข้อตกลงนี้ผ่านออกมาให้ได้นั้น ควรต้องเจอกับความเร่งด่วนของพวกที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการจำกัดการเข้าถึงยาของประชาชนคนยากคนจน
“เวลานี้แหละคือเวลาที่พวกผู้เข้าร่วมเจรจาต้องแก้ไขปรับปรุง TPP ให้ถูกต้อง ในการเจรจารอบนี้แหละ ก่อนที่แรงกดดันทางการเมืองจะเพิ่มสูงขึ้น และข้อตกลงที่เลวร้ายสำหรับสุขภาพของประชาชนวงกว้างจะถูกสรุปตีตรารับรองออกมา ด้วยเหตุผลเรื่องความจำกัดของเวลา”
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
Trade talks raise medicines concerns
By Jared Metzker
17/07/2013
การเจรจาหารือทางการค้าที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคแปซิฟิกขึ้นมาในปีนี้ แต่พร้อมๆ กันนั้น การพูดคุยต่อรองซึ่งส่วนใหญ่งุบงิบกระทำกันอย่างลับๆ คราวนี้ ก็กำลังก่อให้เกิดความหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า มันจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยราคาค่อนข้างถูกของพวกประเทศกำลังพัฒนา โดยที่มีการตกลงยินยอมขยายระยะเวลาใช้อำนาจการผูกขาดสิทธิบัตรยาของพวกบริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ และบีบคั้นบังคับให้การผลิตยาสามัญที่ราคาต่ำกว่ากันมากต้องล้มหายตายจากไป
วอชิงตัน – การเจรจาต่อรองกันรอบใหม่เพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีฉบับใหญ่โตที่ใช้ชื่อว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) กำลังเดินหน้าไปในสัปดาห์นี้ โดยที่มีรายงานว่าสหรัฐฯใช้ความพยายามอย่างหนักในการผลักดันพวกประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมการหารือด้วย ให้ยอมรับเนื้อหาบทบัญญัติข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งพวกนักวิจารณ์กล่าวว่า จะส่งผลทำให้ประชาชนของชาติยากจนกว่าเหล่านี้ ประสบความลำบากมากขึ้นในการเข้าถึงยารักษาโรค
อาเธอร์ สตามูลิส (Arthur Stamoulis) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร “ซิติเซนส์ เทรด แคมเปญ” (Citizens Trade Campaign) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม และตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า เวลานี้กำลังเกิดความวิตกกังวลกันอย่างใหญ่โตจริงๆ ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงยารักษาโรค โดยเฉพาะเรื่องที่ข้อตกลง TPP จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ขณะที่การเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำ TPP เดินหน้าเข้าสู่รอบที่ 18 องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres ใช้อักษรย่อว่า MSF) ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษยธรรมทางด้านสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงมาก ได้ออกมาเรียกร้องให้พวกประเทศที่เข้าร่วมการพูดคุยหารือ “ยกเลิกข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นการสกัดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าถึงยาในราคาที่พอจ่ายไหว, ที่เป็นการบีบคั้นบังคับให้การผลิตยาสามัญ (generic medicines หรือ generic drugs ยาที่ผลิตเลียนแบบยาต้นตำรับ หลังจากที่ยาต้นตำรับหมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรแล้ว) ต้องล้มหายตายจากไป, และที่เป็นการบังคับลิดรอนความสามารถของรัฐบาลต่างๆ ในการออกกฎหมายข้อบังคับเพื่อผลประโยชน์ในทางสาธารณสุขของประชาชนวงกว้าง”
การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลง TPP ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 ขณะนี้กำลังดำเนินอยู่ในมาเลเซีย และประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประกอบด้วยสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ชิลี, เปรู, บรูไน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม, แคนาดา, และเม็กซิโก โดยที่ญี่ปุ่นนั้นคาดหมายกันว่าจะเข้าร่วมในช่วงท้ายของการเจรจารอบนี้ ขณะที่มีประเทศอื่นๆ อีกที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมในเวลาต่อไป
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the United States Trade Representative) แถลงระบุเอาไว้ว่า วัตถุประสงค์ของข้อตกลงฉบับนี้คือ เพื่อ “เพิ่มพูนการค้าและการลงทุนในหมู่ประเทศหุ้นส่วน TPP, ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม, ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา, และสนับสนุนการสร้างตำแหน่งงานและการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงาน” โดยที่พวกนักวิจารณ์ได้กล่าวเตือนเอาไว้นานแล้วว่า ในทางเป็นจริงแล้ว ในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ สหรัฐฯดูจะพยายามผลักดันกำหนดเงื่อนไขผูกพันอันหนักหนาสาหัสให้ชาติผู้ร่วมเจรจารายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกประเทศกำลังพัฒนา ต้องยินยอมปฏิบัติตาม ขณะเดียวกัน พวกนักวิจารณ์และกระทั่งนักการเมืองในสหรัฐฯเอง ยังพากันร้องโวยวายกันมากในเรื่องที่การพูดจาหารือกันเหล่านี้มักกระทำกันแบบแทบจะปิดลับเงียบกริบ ปราศจากการกำกับตรวจสอบ แม้กระทั่งจากทางรัฐสภาอเมริกัน
ขณะที่เนื้อหาบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ อาจจะมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม แต่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนก็ชี้ให้เห็นว่า บทบัญญัติมาตราเหล่านี้จะกลายเป็นการขยายระยะเวลาแห่งอำนาจผูกขาดอันเกิดจากฐานะการเป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรยาของพวกบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ ในเวลาที่พวกเขาขายยาของพวกเขาในต่างประเทศ สภาพเช่นนี้หมายความว่าจะต้องใช้เวลายาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่ยาสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก จะสามารถเข้าสู่ตลาดของพวกประเทศรายได้ต่ำ โดยที่พลเมืองของชาติเหล่านี้มักจะต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักกันอยู่แล้วเพื่อให้สามารถใช้จ่ายซื้อหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ในชีวิต
ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากบริษัทยาในเอเชียคือซัปพลายเออร์รายใหญ่ของพวกยาสามัญ ดังนั้นบทบัญญัติมาตราในเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดของ TPP ในที่สุดแล้วก็อาจส่งผลกระทบกระเทือนแผ่กว้างออกไปไกลเกินกว่าแค่เฉพาะพวกประเทศซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงฉบับนี้
“ประเทศเอเชียจำนวนมากมีบทบาทอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเป็นผู้ซัปพลายทั้งยาสามัญและทั้งส่วนผสมทางเวชภัณฑ์ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตยา แต่บทบาทอันสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง เนื่องจากข้อจำกัดใหม่ๆ ที่มีการเสนอให้บรรจุไว้ในข้อตกลง TPP” จูดิต ริอุส ซานฮวน (Judit Rius Sanjuan) ผู้จัดการในสหรัฐฯของโครงการรณรงค์เข้าถึงยา (Access Campaign) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ระบุ “ข้อตกลง TPP จึงกำลังเป็นภัยคุกคามที่จะกลายเป็นตัวผูกมัดตอกตรึงระบบซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ให้แก่การบำบัดรักษาที่พอจะจ่ายไหวของทั่วโลก โดยที่จะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอย่างเลวร้ายที่สุดทั้งสำหรับคนไข้, ผู้ให้การบำบัดรักษา, และผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย”
บทบัญญัติที่กำลังมีการผลักดันให้ตกลงยอมรับเข้าสู่ TPP นั้น อาจจะกลายเป็นการเอื้ออำนวยเปิดทางสะดวกให้แก่การปฏิบัติตามแนวความคิดว่าด้วย “เขียวจีรัง” (evergreening) ซึ่งพวกบริษัทเวชภัณฑ์ที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่กำลังพยายามผลักดัน โดยแนวความคิดนี้หมายถึงการเล่นซิกแซกทางกฎหมายซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้ระยะเวลาในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยา อันหมายถึงช่วงเวลาแห่งการใช้อำนาจผูกขาดของบริษัทผู้ถือครองสิทธิบัตร ได้ยืดขยายเพิ่มจาก 20 ปีตามหลักเกณฑ์ปกติ ถึงแม้การบังคับใช้ข้อจำกัดใหม่ๆ เช่นนี้จะเป็นการขัดแย้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ในอดีต รวมทั้งยังขัดแย้งกับกฎหมายระดับชาติในสหรัฐฯเอง ซึ่งภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว วอชิงตันประกาศให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มขยายการเข้าถึงยาสามัญให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
การจำกัดลิดรอนใดๆ ต่อการเข้าถึงยาดังกล่าวข้างต้น ยังจะกระทบกระเทือนเป้าหมายต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขระดับโลกซึ่งสหรัฐฯเองกำหนดเอาไว้ ทั้งนี้กล่าวกันว่า โครงการ PERFAR ที่เป็นโครงการเรือธงในด้านการต่อต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ของสหรัฐฯ และก็เป็นโครงการทางด้านนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกนั้น มีการใช้ยาสามัญเป็นปริมาณสูงถึง 98% ทีเดียว
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน พูดถึงแนวความคิดเรื่องเขียวจีรัง ว่า “เลวร้ายมาก” กลุ่มมนุษยธรรมด้านสาธารณสุขชื่อดังกลุ่มนี้ยังเตือนด้วยว่า เนื่องจากตามข้อตกลงการค้าเสรีนั้น ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมย่อมจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายของประเทศตนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในข้อตกลงด้วย ดังนั้นมาตรฐานซึ่งสหรัฐฯพยายามผลักดันสนับสนุนนี้ ก็จะยิ่งทำให้แนวความคิดเขียวจีรัง มีโอกาสแพร่หลายไปในต่างแดนเพิ่มมากขึ้น
**เร่งสรุปข้อตกลงขั้นสุดท้าย**
มีรายงานว่า คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังมีความรู้สึกว่า จะต้องเร่งด่วนรีบสรุปการเจรจาทำข้อตกลง TPP ในขั้นสุดท้ายให้ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่าแรงผลักดันให้เร่งรีบเช่นนี้ อาจทำให้หลายๆ ประเทศที่ปกติแล้วจะต้องต่อต้านคัดค้านบทบัญญัติซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนการเข้าถึงยา กลับรู้สึกว่าจำเป็นต้องยินยอมปล่อยให้ผ่าน
“พวกเราได้รับทราบจากคณะเจรจาของชาติอื่นๆ ว่า แรงกดดันให้สรุปข้อตกลงนี้ในขั้นสุดท้ายกันให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้นั้น กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ” ซานฮวนบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส ในระหว่างการเจรจาของ TPP รอบที่แล้ว “และพวกเขาต่างกลัวกันว่าถ้าหากไม่มีเวลาเพิ่มมากขึ้นสำหรับการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว บทบัญญัติเช่นนี้ก็จะยังคงอยู่ในข้อตกลง”
เธอยังชี้ด้วยว่า การเจรจากำลังกระทำกันแบบปิดลับ และไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมกันเลย สำนักงานของเธอกว่าจะทราบว่ามีบทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและเรื่องการเข้าถึงยา ก็ต้องหลังจากที่ข้อความในบทบัญญัติดังกล่าวถูกปล่อยรั่วออกมา
กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนสื่อมวลชน มีโอกาสอันจำกัดอย่างยิ่งที่จะพูดจาแสดงความคิดเห็นกับพวกผู้เจรจาจัดทำข้อตกลง การสื่อสารกันที่พอจะมีอยู่บ้างส่วนใหญ่แล้วบังเกิดขึ้นในการประชุมที่เรียกกันว่า “การประชุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (stakeholder meetings) โดยที่ในการประชุมเช่นนี้กลุ่มต่างๆ ได้รับอนุญาตให้เสนอความคิดเห็นเพียงสั้นๆ ต่อผู้เข้าร่วมเจรจาเฉพาะบางคน และถูกคุมแจทีเดียวเมื่อได้รับโอกาสอันน้อยนิดในการเข้าถึงพูดจาแบบเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้
เมื่อเร็วๆ นี้ ไอพีเอส ก็มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบนี้ครั้งหนึ่ง โดยเป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับสำคัญอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำเช่นกัน และปรากฏว่าได้รับแจ้งจากผู้แทนหลายต่อหลายคนว่า ข้อมูลข่าวสารซึ่งพวกเขาสามารถที่จะนำมาเผยแพร่ต่อให้ที่ประชุมรับทราบได้นั้นมีเพียงจำกัดน้อยนิด
สภาพของการขาดไร้ความโปร่งใสเช่นนี้กำลังถูกบางคนบางฝ่ายตีความว่า คือสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ข้อตกลง TPP มิได้มีการเจรจาต่อรองกันเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนวงกว้างแต่อย่างใด แท้ที่จริงแล้ว พวกที่สามารถเข้าถึงการเจรจา TPP อย่างกว้างขวางที่สุดก็คือพวกผู้แทนของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
“แน่นอนทีเดียวว่า TPP ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือประชาชนคนทำงาน” สตามูลิส แห่งองค์กร “ซิติเซนส์ เทรด แคมเปญ กล่าวและระบุว่า ตรงกันข้าม TPP เป็นข้อตกลงที่มุ่งจะรับใช้ผลประโยชน์ของ “พวกบริษัททรงอำนาจอย่างยิ่งจำนวนเล็กๆ เพียงหยิบมือ” เท่านั้น
สตามูลิสยังชี้ด้วยว่า กำลังมีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้พวกผู้เข้าร่วมเจรจาต้องรีบสรุปปิดข้อตกลงขั้นสุดท้ายกันให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ “พวกเขากำลังเดินเครื่องเต็มที่กันจริงๆ เพื่อให้เจ้าสิ่งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่มีข้อต้องสงสัยเลยในเรื่องนี้” เขาย้ำ
ทางด้าน ซานฮวน เสนอแนะว่า ความเร่งด่วนของพวกที่กำลังหาทางผลักดันให้ข้อตกลงนี้ผ่านออกมาให้ได้นั้น ควรต้องเจอกับความเร่งด่วนของพวกที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการจำกัดการเข้าถึงยาของประชาชนคนยากคนจน
“เวลานี้แหละคือเวลาที่พวกผู้เข้าร่วมเจรจาต้องแก้ไขปรับปรุง TPP ให้ถูกต้อง ในการเจรจารอบนี้แหละ ก่อนที่แรงกดดันทางการเมืองจะเพิ่มสูงขึ้น และข้อตกลงที่เลวร้ายสำหรับสุขภาพของประชาชนวงกว้างจะถูกสรุปตีตรารับรองออกมา ด้วยเหตุผลเรื่องความจำกัดของเวลา”
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)