xs
xsm
sm
md
lg

แผนฆ่า‘บินลาดิน’ของซีไอเอ‘ป่วน’การป้องกันโรคโปลิโอ

เผยแพร่:   โดย: อัชฟัก ยูซุฟไซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistanis blame CIA for fresh polio cases
By Ashfaq Yusufzai
14/06/2012

ความพยายามที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารโดยส่วนกลาง (FATA) ของปากีสถาน ยอมรับการใช้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ กำลังทำท่าจะประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ภายหลังเกิดกรณีนายแพทย์ถูกกล่าวโทษและถูกตัดสินจำคุก ในความผิดฐานดำเนินโครงการวัคซีนหลอกๆ ให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐฯ เพียงเพื่อให้สามารถระบุสถานที่ซุกซ่อนตัวของ อุซามะห์ บินลาดิน ทั้งนี้จากบทบาทของ น.พ.ชาคิล อาฟริดี ผู้นี้ กำลังทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองยิ่งบังเกิดความระแวงสงสัยว่า โครงการวัคซีนป้องกันโปลิโอ น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนกโลบายของสหรัฐฯที่จะทำให้ลูกหลานของพวกเขาเป็นหมันเท่านั้น

เปชาวาร์, ปากีสถาน – ความพยายามของปากีสถานที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ ในเขตพื้นที่ต่างๆ ที่ประชิดติดชายแดนอัฟกานิสถาน มีหวังจะต้องประสบกับความล้มเหลว ภายหลังจากศาลตัดสินลงโทษนายแพทย์ผู้ถูกฟ้องร้องกล่าวหาว่า ดำเนินโครงการวัคซีนหลอกๆ เพียงเพื่อที่จะระบุสืบทราบที่ซ่อนตัวของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์

น.พ.ชาคิล อาฟริดี (Shakil Afridi) ผู้ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 30 ปีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อหาความผิดฐานทรยศกบฏชาตินั้น ว่ากันว่าได้ช่วยเหลือสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ในการติดตามแกะรอย บิน ลาดิน ด้วยวิธีเก็บรวบรวมตัวอย่างดีเอ็นเอจากผู้พำนักอาศัยที่น่าสงสัยภายในเขตเมืองอับบอตตาบัด (Abbottabad) แล้วต่อมา บิน ลาดิน ก็ถูกสังหารจากการบุกจู่โจมของสหรัฐฯภายในบ้านพักลับๆ ของเขาในเมืองเล็กที่เต็มไปด้วยค่ายทหารของปากีสถานแห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2011 อาฟริดีถูกเจ้าหน้าที่ปากีสถานจับกุมในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดงัดข้อกันระหว่างกรุงอิสมาบัดกับกรุงวอชิงตัน

องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres) องค์กรการกุศลระหว่างประเทศที่มุ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ ได้เคยออกมาเตือนในตอนนั้นแล้วว่า จากที่มีการกล่าวหากันว่าซีไอเอใช้โครงการวัคซีนมาอำพรางการติดตามล่าตัว บิน ลาดิน น่าจะส่งผลเสียหายเป็นอันตรายต่องานด้านการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคระบาดในขอบเขตทั่วโลกทีเดียว

แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในเมื่อบทบาทของอาฟริดี ดูเหมือนจะเพิ่มความระแวงสงสัยขึ้นอย่างท่วมท้นในหมู่ประชาชนซึ่งพำนักอาศัยในเขต “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่บริหารโดยส่วนกลาง” (Federally Administered Tribal Areas หรือ FATA) ของปากีสถาน ผู้คนที่นี่กำลังเข้าใจกันว่าโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ คือส่วนหนึ่งของแผนกโลบายของสหรัฐฯ ที่มุ่งหมายจะทำให้ลูกหลานของพวกเขากลายเป็นหมัน

“ปัญหาเรื่องการปฏิเสธไม่ยอมรับวัคซีนนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาใหม่อะไร แต่โครงการให้วัคซีนปลอมๆ ของ อาฟริดี กำลังทำท่าจะสร้างความล้มเหลวให้แก่ความพยายามของพวกเราในการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันแก่ประชาชนในวงกว้าง” น.พ.เรคานุลเลาะห์ ข่าน (Rekhanullah Khan) เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องโรคโปลิโอในดินแดน FATA บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS)

ปีนี้ ปากีสถานพบคนไข้ป่วยเป็นโรคโปลิโอแล้ว 22 ราย โดยที่ 10 รายมาจากพื้นที่ FATA ซึ่งเป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยเขตชาวชนเผ่า (tribal agency) รวม 7 เขต

“ในดินแดน FATA พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบกำลังประสบกับความยากลำบากในการเข้าให้ถึงเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยรับวัคซีน” น.พ.จาวิด ข่าน (Javid Khan) แห่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation หรือ WHO) ระบุ

“ในเขตไคเบอร์ (Khyber Agency) ของดินแดน FATA ซึ่งได้พบผู้ป่วยรายที่ 8 ของพื้นที่นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การให้วัคซีนโปลิโอแบบหยอดให้ทางปาก เป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้เลยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2009 มาแล้ว ซึ่งทำให้เด็กๆ ประมาณ 150,000 คน อยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อ” น.พ.ผู้นี้กล่าวกับไอพีเอส

ขณะที่ กอรี โมฮัมหมัด อัครัม (Qari Mohammad Akram) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตบาจาอูร์ (Bajaur agency) ของ FATA เล่าให้ไอพีเอสฟังทางโทรศัพท์ โดยกล่าวหาโครงการให้วัคซีนว่า “นี่เป็นโปรแกรมของสหรัฐฯที่จะลดจำนวนประชากรชาวมุสลิม และทำให้พวกเขาอ่อนแอลงจนกระทั่งถึงจุดที่พวกเขาไร้ความสามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องอิสลาม”

“ชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องการการบำบัดรักษาเชื้อโรคอะไรก็ตามที่ยังไม่ได้มีผลต่อพวกเขาเลย เราจำเป็นต้องทำตามคำสอนของอิสลาม และเอาใจใส่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านศาสดา” เขาบอก

การที่ชาวบ้านในพื้นที่ FATA ปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือกับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทางด้านสาธารณสุข ในบางกรณียังเป็นเพราะพวกเขาเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลส่วนกลางปฏิบัติต่อพวกเขาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พวกพ่อแม่ผู้ปกครองปฏิเสธไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ให้วัคซีนในเขตเซาท์วาซิริสถาน (South Waziristan agency) พวกเขาบอกว่า สิ่งที่พวกเขาอยากจะได้เป็นอันดับแรกๆ เลย ก็คือ มีไฟฟ้าใช้ มีการตัดถนน และมีน้ำดื่มที่สะอาด” น.พ.มูฮัมหมัด คอลิด (Muhammad Khalid) แห่งโครงการเพิ่มขยายการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (expanded program on immunization หรือ EPI) ในพื้นที่ FATA เล่าให้ไอพีเอสฟัง

ขณะที่ ดอว์น (Dawn) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษซึ่งตีพิมพ์ที่เมืองการาจี ได้อ้างคำพูดของ น.พ.อีเลีย เคอร์รี (Elia Curry) หัวหน้าแผนกกำจัดโรคโปลิโอของ WHO ในปากีสถาน ซึ่งกล่าวในวันที่ 9 มิถุนายนว่า เชื้อไวรัสร้ายนี้จะยังคงแพร่ระบาดหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่การรณรงค์ต่อต้านโรคโปลิโอ ยังไม่สามารถให้วัคซีนแก่เด็กๆ ในจำนวนที่มากเพียงพอ

เคอร์รี บอกกับ ดอว์น ว่า แม้แต่เมื่อมีการติดตามเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการปิดระบบน้ำเสียให้มิดชิดแล้ว แต่เชื้อไวรัสโปลิโอก็ยังคงฝังแน่นและยังคงแพร่ระบาดภายในเขตเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น ละฮอร์ (Lahore) และ ราวัลปินดี (Rawalpindi) ดังนั้น ยิ่งเป็นเด็กๆ ในแคว้นอย่างเช่น ปัญจาบ (Punjab) และ ไคเบอร์ ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ WHO ได้ระบุเอาไว้ว่า เขตไคเบอร์ (Khyber Agency) เป็นพื้นที่เดียวในเอเชียที่ค้นพบทั้งเชื้อประเภท wild poliovirus-1 และ wild poliovirus-3 นอกจากนั้น สภาพการณ์เช่นนี้ยังกำลังเป็นภัยคุกคามความมุ่งมั่นพยายามที่จะกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากปากีสถาน ตลอดจนหมดไปจากโลก

พวกเจ้าหน้าที่ WHO บอกว่า มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่เชื้อไวรัสนี้จะกำลังแพร่กระจายจาก FATA ไปยังส่วนอื่นๆ ของปากีสถาน สืบเนื่องจากประชากรมีการอพยพกันเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศนี้

ปากีสถานนั้นเริ่มต้นการขับดันให้วัคซีนป้องกันโปลิโอ ในพื้นที่ซึ่งได้รับการคัดสรรแล้วจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนเป็นต้นมา โดยที่คาดหมายกันว่าจะสามารถให้วัคซีนแก่เด็กๆ อย่างน้อย 17 ล้านคน ถึงแม้สำหรับพื้นที่ FATA แล้ว คงจะไม่สามารถทำให้ถึงเป้าหมายได้ เนื่องจากฝ่ายทหารเปิดยุทธการโจมตีพวกตอลิบานในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตไคเบอร์

พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายแน่ใจว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัวเสียทีในพื้นที่ FATA นั่นแหละ เป็นตัวการรับผิดชอบสำคัญที่สุดที่ทำให้โรคโปลิโอยังคงเป็นภัยคุกคามต่อบุตรหลานของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งกองทัพและทั้งตอลิบาน ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้ลูกสาวผมต้องพิกลพิการ” อัลลาห์ นูร์ (Allah Noor) กล่าว ซัลมา (Salma) บุตรสาววัย 21 เดือนของเขาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโปลิโอเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน

“เห็นได้ชัดๆ เลยว่า การให้วัคซีนนั้นไม่สามารถทำได้เมื่อยังมีการสู้รบอยู่ และสถานีอนามัยต่างๆ ก็ต้องปิด” นูร์ ผู้เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน อูไซ คูลา (Usai Khula) ของเขตไคเบอร์ บอก “ผมต้องการบอกพ่อแม่ผู้ปกครองทุกๆ คนว่าควรให้ความร่วมมือ และดูแลรักษาเด็กๆ ลูกหลานของพวกเขา ให้ปลอดพ้นจากความป่วยไข้ซึ่งสามารถใช้วัคซีนป้องกันได้” เขาบอกกับไอพีเอส

ก่อนหน้านั้นเมื่อตอนต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ขอร้องรัฐบาลของแคว้นไคเบอร์ ปัคตุนควา ดำเนินการให้วัคซีนแก่พวกผู้อพยพ ภายในค่ายผู้ลี้ภัย จาโลไซ (Jalozai) ซึ่งเป็นบ้านของเด็กๆ ถึงราว 40,000 น ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่จากการเปิดยุทธการของฝ่ายทหารในพื้นที่ FATA

จากการร้องขอของ WHO ทาง โดสต์ มูฮัมหมัด ข่าน (Dost Muhammad Khan) ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลสูงของเปชาวาร์ ได้ออกคำสั่งให้จัดจุดส่งผ่านขึ้นมา เพื่อให้วัคซีนแก่เด็ก ๆ ซึ่งกำลังหลบหนีจากยุทธการต่างๆ ของฝ่ายทหารในเขตไคเบอร์ ของ FATA และเดินทางมาจนถึงค่ายจาโลไซ

“เราก่อตั้งจุดให้วัคซีนขึ้นมาได้ถึง 48 จุด ซึ่งเด็กๆ ที่กำลังออกมาจากเขตไคเบอร์ ต่างก็ได้รับวัคซีนป้องกัน” น.พ.จาน บาซ อาฟริดี (Jan Baz Afridi) ผู้เป็นหัวหน้าของโครงการ EPI ในแคว้นไคเบอร์ ปัคตุนควา เล่า

ในปี 2011 ปากีสถานกลายเป็นประเทศที่ติดเชื้อโรคโปลิโอร้ายแรงที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้ป่วย 198 ราย สำหรับปีนี้ก็คงจะไม่มีความแตกต่างอะไรนัก ถ้าหากไม่มีการดำเนินมาตรการให้วัคซีนแก่เด็กๆ จำนวนมากๆ อย่างเร่งด่วน พวกเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกระบุ
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น