เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายกฎ “ห้ามส่งออกอาวุธ” ที่ใช้มานานเกือบ 50 ปีในวันนี้ (1 เม.ย.) พร้อมเสนอกฎระเบียบใหม่ที่จะควบคุมการจำหน่ายอาวุธแก่ต่างชาติ ซึ่งจะทำให้แดนอาทิตย์อุทัยมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในตลาดค้าอาวุธโลก แม้จะสร้างความขุ่นเขืองแก่มหาอำนาจอย่าง “จีน” ก็ตาม
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงว่า นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับกฎระเบียบใหม่ ซึ่งจะนำมาแทนที่กฎห้ามส่งออกอาวุธที่โตเกียวใช้มาตั้งแต่ปี 1967
ภายใต้นโยบายใหม่ ญี่ปุ่นจะไม่ส่งออกอาวุธให้แก่ประเทศที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง หรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ นอกจากนี้ การจำหน่ายอาวุธก็จะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสันติภาพสากล และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง
“รัฐบาลได้กำหนดกลไกในการส่งออกอุปกรณ์กลาโหมที่มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือนานาชาติ ในแนวทางสันติวิธีเชิงรุก (proactive pacifism)” สุกะกล่าว
“เราพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาและผลิตอาวุธกับนานาชาติด้วย”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้จะมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ แต่ญี่ปุ่นจะยังเน้นการผลิตและส่งออกยุทโธปกรณ์ที่มิใช่เพื่อการสังหาร (non-lethal) เช่น เรือลาดตระเวน และเครื่องตรวจจับทุ่นระเบิด เป็นต้น และยังไม่มีแผนที่จะผลิตหรือส่งออกอาวุธจำพวกรถถังหรือเครื่องบินขับไล่
เฮอิโกะ ซาโตะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทากุโชกุ ให้ความเห็นว่า “นโยบายนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัทอาวุธญี่ปุ่นในแง่ที่ว่า พวกเขาจะสามารถร่วมทุนพัฒนาและผลิตสินค้าใหม่ๆ และยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดได้ด้วย”
“หากคุณอยู่ในตลาดปิดเหมือนที่อุตสาหกรรมอาวุธญี่ปุ่นเคยเป็นมา แน่นอนว่าเทคโนโลยีของคุณย่อมต้องล้าสมัยกว่าชาติอื่นๆ”
รัฐธรรมนูญสันติภาพที่ร่างโดยสหรัฐฯหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้อห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม ซึ่งชาวเมืองปลาดิบส่วนใหญ่ก็ให้การยอมรับ และอีก 2 ทศวรรษต่อมาก็มีการออกกฎห้ามญี่ปุ่นส่งออกอาวุธ
ฝ่ายที่สนับสนุนให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎส่งออกอาวุธมองว่า วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมอาวุธในญี่ปุ่น ในยามที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังคุกรุ่นด้วยข้อพิพาท รวมไปถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือซึ่งมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและคาดเดาไม่ได้
นโยบายใหม่ยังอาจเปิดทางให้ญี่ปุ่นสร้างรายได้จากการส่งออกอาวุธให้ประเทศที่อยู่ติดเส้นทางเดินเรือสำคัญนำไปใช้ต่อสู้โจรสลัด ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญสำหรับแดนปลาดิบซึ่งไม่มีทรัพยากรเป็นของตนเองมากนัก
อาวุธที่ผลิตในญี่ปุ่นอาจส่งไปขายยังอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศที่อยู่ติดทะเลจีนใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลกับจีน
หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ซึ่งปะทะกับเรือของจีนอยู่เป็นประจำได้สั่งซื้อเครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างจากญี่ปุ่นอยู่แล้ว และหากโตเกียวจะส่งขายอาวุธให้ฟิลิปปินส์อย่างจริงจังก็น่าจะสร้างความกังวลต่อจีนไม่น้อย
หง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน มีถ้อยแถลงวันนี้(1)ว่า จีน “ให้ความสนใจ” กับการผ่อนคลายกฎส่งออกอาวุธของญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง และขอให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธของโตเกียวเป็นไปในเชิงสันติ และมีบทบาทส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
จีนและญี่ปุ่นต่างอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ในขณะที่ปักกิ่งก็ยังทะเลาะกับอีกหลายชาติเกี่ยวกับอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ซึ่งปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์เกือบทั้งหมด