xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ฟิลิปปินส์-กบฏมุสลิมกลุ่มใหญ่สุด เซ็นสัญญาสันติภาพ-ตั้งเขตปกครองตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รัฐบาลฟิลิปปินส์ลงนามเมื่อวันพฤหัสบดี (27 มี.ค.) ในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏมุสลิมใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายหลังการเจรจานานหลายปี ถือเป็นการยุติหนึ่งในกรณีความขัดแย้งที่ยาวนานและรุนแรงที่สุดของเอเชีย และยังนับเป็นความสำเร็จทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน

ข้อตกลงฉบับนี้รัฐบาลมอบอำนาจปกครองตนเองให้แก่พื้นที่บนเกาะมินดาเนา อันเป็นเกาะใหญ่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติการก่อความรุนแรง อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดหมายกันโดยทั่วไปว่า ความรุนแรงจะยังไม่หมดสิ้นไปจากพื้นที่นี้ ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากสภาวะไร้กฎหมาย ความยากจน และการลุกฮือก่อความรุนแรงของขบวนการมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังมีกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ ประกาศสู้ต่อเพื่อการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นชาติเอกราชเป็นอย่างสมบูรณ์



ทั้งนี้ มินดาเนายังเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มอาบูไซยาฟ ซึ่งเป็นเครือข่ายมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่งที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศที่กองทัพฟิลิปปินส์พยายามปราบปรามภายใต้การสนับสนุนจากอเมริกา

ในพิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพคราวนี้ ซึ่งกระทำกันระหว่างหัวหน้าคณะผู้เจรจาของรัฐบาลกับของแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ที่ทำเนียบมาลากันยัง ในกรุงมะนิลา ท่ามกลางสักขีพยานกว่า 1,000 คน รวมถึงตัวประธานาธิบดีอากีโน เหล่าผู้นำของ MILF ตลอดจนนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำหน้าที่ตัวกลางการเจรจา

“การลงนามข้อตกลงนี้หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายจะเลิกมองปัญหาในอดีต และหันมาทุ่มเทกับแนวโน้มที่สวยงามในอนาคต หลังจากความขัดแย้งยืดยาวมานานปีและชีวิตจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไป นี่ถือเป็นการกระทำอันกล้าหาญและน่าจดจำอย่างยิ่ง” ราซัคกล่าว

ข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้เป็นบทสรุปของการเจรจาที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2001 โดยที่ก่อนหน้านั้นได้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 1997 ซึ่งทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามด้วยดีเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ นับจากเหตุรุนแรงจากความพยายามแบ่งแยกดินแดนอุบัติขึ้นในทศวรรษ 1970 ได้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 120,000 ราย ในมินดาเนา ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านคนในฟิลิปปินส์ ทว่า โดยรวมแล้วชาวคริสเตียนยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงคอราซอน อากีโน มารดาของ เบนีโญ อากีโน พยายามแก้ไขข้อขัดแย้งกับกลุ่มกบฏมุสลิมแต่ไม่สำเร็จ และความขัดแย้งนี้ได้ขัดขวางการพัฒนาในมินดาเนา ตลอดจนช่วยส่งเสริมลัทธิหัวรุนแรงในฟิลิปปินส์ รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางอ้อม

ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพซึ่งมีชื่อว่า ข้อตกลงว่าด้วยบังซาโมโรฉบับครอบคลุม กลุ่ม MILF ตกลงยุติความรุนแรงและการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน แลกเปลี่ยนกับการก่อตั้งภูมิภาคทางใต้ที่มีอำนาจปกครองตนเอง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2016

เขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมทางภาคใต้ฟิลิปปินส์ปัจจุบันที่ประกอบด้วย 5 จังหวัด จะถูกแทนที่ด้วยภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและได้รับการอุดหนุนมากขึ้น ซึ่งใช้ชื่อว่า “บังซาโมโร” ครอบคลุมพื้นที่ราว 10% ของฟิลิปปินส์ โดยเขตนี้จะมีกองกำลังตำรวจของตัวเอง มีรัฐสภาและอำนาจในการจัดเก็บภาษี แม้ยังต้องแบ่งปันรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่รัฐบาลกลาง ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ควบคุมนโยบายทางด้านกลาโหม ต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และสิทธิความเป็นพลเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงนามข้อตกลงยังมีภารกิจมากมายที่ต้องสานต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าเงื่อนไขตามข้อตกลงและกรอบโครงทางการเมืองแล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนที่วาระการเป็นประธานาะบดีของอากีโนจะสิ้นสุดลงในปี 2016

ภารกิจของอากีโนนับจากนี้คือ โน้มน้าวให้รัฐสภาฟิลิปปินส์อนุมัติ “กฎหมายพื้นฐาน” เพื่อก่อตั้งภูมิภาคปกครองตนเองบังซาโมโร ซึ่งควรสำเร็จภายในปีนี้เพื่อให้มีเวลาในการดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ เช่น การลงประชามติในท้องถิ่น

ถึงแม้เวลานี้พวกพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา และคะแนนนิยมของอากีโนยังสูงลิ่วทำสถิติ แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่นักการเมืองบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักการเมืองคริสเตียนทรงอิทธิพลในมินดาเนา อาจคัดค้านหรือขัดขวางกฎหมายนี้

นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มที่จะมีการส่งข้อตกลงสันติภาพเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงสุด ซึ่งเคยระงับข้อตกลงสันติภาพที่ MILF เจรจากับกลอเรีย อากิโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อนหน้านี้ในปี 2008

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของข้อตกลงสันติภาพ และกลุ่มเหล่านี้ประกาศแล้วว่า จะยังคงก่อความรุนแรงในมินดาเนา

และแม้ผู้นำ MILF ให้สัญญาร่วมกับรัฐบาลกลางเพื่อปราบปรามการคุกคามของกลุ่มนักรบเสรีภาพอิสลามบังซาโมโร (BIFF) และกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ แต่ MILF เองก็จะไม่วางอาวุธหรือเปิดเผยตัวนักรบที่มีอยู่ถึง 10,000 คนจนกว่ารฐสภาฟิลิปปินส์จะคลอดกฎหมายพื้นฐานแล้ว นี่ย่อมเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเปราะบางของข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น