เอเอฟพี - 35 ชาติต่างให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันสนับสนุนความมั่นคงทางนิวเคลียร์วันนี้ (25 มี.ค.) ในการผลักดันความพยายามระดับโลกที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของขบวนการก่อการร้าย
ในการแถลงข่าวร่วมซึ่งจัดขึ้นรอบนอกการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ที่มีขึ้นประจำทุก 2 ปี ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นว่า จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และยินยอมให้ “ชาติอื่นเข้ามาตรวจสอบทบทวนเป็นระยะๆ” ว่าระบอบปกครองของตนรักษาความมั่นคงทางนิวเคลียร์อย่างละเอียดถี่ถ้วนหรือไม่
กลุ่มประเทศเหล่านี้ เป็นต้นว่า อิสราเอล คาซัคสถาน โมร็อกโก และตุรกี ทว่าไม่รวมถึงรัสเซีย ได้สัญญาว่า จะนำมาตรการที่อยู่ในรูปแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) วางเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำนิวเคลียร์มาผลิตเป็นอาวุธ “ไปปฏิบัติให้เกิดผล ตลอดจนพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”
เอิร์นเนสต์ โมนิซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะให้คำปฏิญาณว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่เราต้องนำมาประกาศใช้เป็นมาตรการสากล เพื่อรักษาความมั่นคงทางนิวเคลียร์”
ทั้งนี้ โอบามาได้ปรับปรุงมาตรการ “ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการต่างประเทศซึ่งไม่ค่อยมีการปฏิบัติให้บรรลุผล และกล่าวเมื่อปี 2009 ว่าการก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์คือเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงของโลกซึ่งสามารถส่งผลร้ายได้อย่างรวดเร็วที่สุด”
ทางด้าน ฟรานซ์ ทิมเมอร์มานส์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ชาติซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำที่มีประเทศมากกว่า 50 ประเทศมาเข้าร่วม ยอมรับว่าความมั่นคงทางนิวเคลียร์ควรเป็น “ความรับผิดชอบระดับชาติ” แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดก็อาจ “เป็นหนทางหลักที่ช่วยป้องกันไม่ให้นิวเคลียร์กลายเป็นภัยต่อความมั่นคง”
นายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตต์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งวานนี้ (24) รับหน้าที่เป็นผู้เปิดการประชุมที่กินเวลานาน 2 วันครั้งนี้ ชี้ว่ามี “วัสดุในเกรดที่สามารถนำไปผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้แพร่กระจายไปอยู่ทั่วโลกเกือบ 2,000 ตันพร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงอยู่โดยตลอด”
บรรดานักวิเคราะห์พากันยกย่องการการให้คำมั่นร่วมกันระหว่างประเทศครั้งนี้ แต่ก็อดแสดงความกังวลไม่ได้ที่ยังคงมีบางประเทศไม่ร่วมลงนาม ที่โดดเด่นที่สุดคือรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ายังเก็บอาวุธที่ผลิตขึ้นในยุคสหภาพโซเวียตไว้ในคลังแสง
ตามร่างคำแถลงฉบับล่าสุดซึ่งเอเอฟพีได้รับ บรรดาผู้นำของชาติที่ให้คำมั่นสัญญาจะพยายามลดทอนปริมาณแร่ยูเรเนียมที่มีสมรรถนะสูงจนสามารถนำไปใช้ผลิตระเบิดปรมาณูได้ ในคลังยุทธภัณฑ์ของตนเอง ตลอดจนลดความเข้มข้นของแร่ยูเรเนียมให้อยู่ในระดับที่ไม่สามารถนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้