xs
xsm
sm
md
lg

“เฟด” อาจขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีหน้า ประธานใหม่ “แย้ม” ทำเอา “ตลาด” วิตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จับตาถ้อยแถลงของเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)คนใหม่
เอเจนซีส์ - การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เอฟโอเอ็มซี) ในวันอังคารและพุธ (18-19 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งมี เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนใหม่ นั่งเป็นประธานเป็นครั้งแรกของเธอ เสร็จสิ้นลงโดยมีการประกาศลดมูลค่าการรับซื้อพันธบัตรลงอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ตามคาดหมาย ขณะเดียวกัน เยลเลนก็แย้มว่า “มาตรการคิวอี” ทั้งหมดอาจปิดฉากลงภายในปลายปีนี้ แล้วหลังจากเว้นวรรค 6 เดือนก็อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ปรากฏว่าข่าวนี้ฉุดตลาดหุ้นดิ่งเนื่องจากมีการตีความว่า เฟดจะปรับใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงิน เร็วและแรงขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดการรับซื้อพันธบัตรลงอีกเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้มาตรการนี้ซึ่งถือเป็นตัวหลักของนโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เหลืออยู่ที่ระดับเดือนละ 55,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้การลดการซื้อนี้ เห็นกันว่าเป็นการสานต่อแนวทางซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดย เบน เบอร์นันกี ประธานเฟดคนก่อน

เยลเลน ซึ่งออกมาแถลงข่าวหลังการประชุม แสดงเหตุผลรองรับการดำเนินการนี้ว่า เนื่องจากเอฟโอเอ็มซีเล็งเห็นว่า เศรษฐกิจเข้มแข็งเพียงพอที่จะสนับสนุนการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงาน แม้สภาพอากาศเลวร้ายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ทำให้ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐฯถูกท้าทายอย่างมากก็ตาม

“แม้การใช้จ่ายและการผลิตช่วงต้นปีนี้ต่ำกว่าคาด แต่ยังถือว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของเรา” เยลเลนเสริมว่า ด้วยเหตุนี้เฟดจึงน่าจะสามารถยกเลิกมาตรการคิวอีทั้งหมดได้ภายในปลายปีนี้

เฟดนั้นได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟดฟันด์เรต) ลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 0-0.25% ตั้งแต่ปลายปี 2008 เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจทรุดดิ่ง จากนั้นยังไม่เคยปรับขึ้นอีกเลยแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯค่อยๆ ฟื้นตัวแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเฟดยังพยายามช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านมาตรการซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ จวบจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงเริ่มลดปริมาณการรับซื้อลง ทั้งนี้ การใช้มาตรการคิวอีเช่นนี้ ก็เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง อันจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน

ในคำแถลงของเฟดภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอฟโอเอ็มซี ระบุว่า หลังยกเลิกมาตรการคิวอีเสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังจะเฝ้ารอเป็น “ระยะเวลาค่อนข้างนานทีเดียว” ก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อถูกจี้ขอให้อธิบายขยายความ เยลเลนได้พูดยกตัวอย่างว่าอาจจะหมายถึงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ดังนั้นจึงถูกตลาดการเงินตีความว่า เธอคง “หลุด” พูดในสิ่งที่คำแถลงของเฟดพยายามกล่าวให้คลุมเครือ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอฟโอเอ็มซีตั้งใจพูดให้กระจ่างชัดเจนเลยก็คือ ได้มีการยกเลิกเกณฑ์ในการตัดสินใจเพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งได้แก่เมื่ออัตราว่างงานลดลงมาอยูที่ 6.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5%

ทั้งนี้ เนื่องจากเกณฑ์อัตราว่างงานเริ่มสร้างความสับสนให้แก่ตลาด หลังจากอัตราอย่างเป็นทางการลดลงต่ำกว่าคาดโดยอยู่ที่ 6.7% ในเดือนที่ผ่านมา

เยลเลนประกาศชัดเจนว่า ไม่เชื่อว่าอัตราว่างงานอย่างเป็นทางการนี้สะท้อนจุดอ่อนที่แท้จริงในตลาดแรงงาน ดังนั้นเอฟโอเอ็มซีจะต้องพิจารณาชุดข้อมูลและเงื่อนไขที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อพิจารณาว่า อัตราว่างงานลดลงมากพอที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ โดยเธอยืนยันว่า หากตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ก็จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และสุดท้ายอัตราดอกเบี้ยอาจต่ำกว่าปกติในบางช่วงเวลาแม้อัตราว่างงานลดลงสู่ระดับที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

ในครั้งนี้ เฟดยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง 0.2% อยู่ที่ 2.8-3.0% สำหรับปีนี้ และ 3.0-3.2% สำหรับปีหน้า โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น