xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ย้ำชัดไม่คิดทำศึก “รัสเซีย” อียูก็แค่เล่นบทขู่เพิ่ม “ลงโทษ” มอสโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - “โอบามา” ประกาศชัดเจนไม่ต้องการมีส่วนร่วมทางทหารในยูเครน ซึ่งจะนำไปสู่สงครามกับรัสเซีย ย้ำใช้แนวทางการทูตคลี่คลายการเผชิญหน้า รวมทั้งจับมือกับอียูเพิ่มมาตรการลงโทษ ซึ่งอาจรวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้าน “แมร์เคิล” ขานรับเตรียมยกระดับการแซงก์ชันผู้เกี่ยวข้องกับการทำประชามตินำไครเมียผนวกกับหมีขาว

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สถานีทีวีท้องถิ่นของเมืองซานดิเอโก เมื่อวันพุธ (19 มี.ค.) ว่า อเมริกาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการทหารในยูเครน เนื่องจากไม่ต้องการกระตุ้นให้เกิดสงครามจริงๆ กับรัสเซีย

ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งประกาศมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครนรวม 11 คนเมื่อวันจันทร์ (17) เสริมว่า วอชิงตันจะผลักดันความพยายามทางการทูตเพื่อกดดันให้มอสโกปล่อยมือจากไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ของยูเครน โดยจะประกาศมาตรการลงโทษเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันนี้

โอบามาย้ำว่า หากรัสเซียไม่ตอบสนองต่อแรงกดดันของนานาชาติ อเมริกาจะร่วมกับพันธมิตรยุโรป และอาจใช้มาตรการลงโทษเพิ่มเติมที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจแดนหมีขาว

จุดยืนนี้ได้รับการขานรับจากบรัสเซลส์ทันที โดยในวันต่อมา (20) นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี แถลงต่อรัฐสภาว่า สหภาพยุโรป (อียู) พร้อมประกาศมาตรการลงโทษเพิ่มเติม และกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจ จี8 ตัดสินใจระงับการดำเนินการไม่มีกำหนด ตราบที่ยังไม่มีแนวทางทางการเมืองมาคลี่คลายวิกฤตการณ์ไครเมีย

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นชาติที่รับตำแหน่งประธานจี8 วาระปัจจุบัน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็เตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสุดยอดที่เมืองโซชิ ในเดือนมิถุนายนนี้

อียูเพิ่งประกาศมาตรการลงโทษพวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทำประชามติในไครเมียเพื่อผนวกกับรัสเซียไปเมื่อต้นสัปดาห์พร้อมๆ กับอเมริกา

แมร์เคิลสำทับว่า ผู้นำอียูอาจประกาศมาตรการลงโทษ “ระดับ 2” ต่อรัสเซียในระหว่างการประชุมสุดยอดของพวกเขาตอนค่ำวันพฤหัสบดี ที่บรัสเซลส์ ทั้งนี้คาดหมายกันว่าการลงโทษระดับ 2 นี้จะเป็นเพิ่มรายชื่อผู้ที่จะถูกอายัดทรัพย์สินและห้ามเดินทางเข้าสู่อียู

ผู้นำเมืองเบียร์ยังบอกอีกว่า หากสถานการณ์ในไครเมียเลวร้ายลง บรัสเซลส์จะประกาศมาตรการลงโทษ “ระดับ 3” ซึ่งอาจรวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ท่าทีแข็งกร้าวของแมร์เคิลมีขึ้นขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพเรือของยูเครน ซึ่งถูกจับกุมในไครเมีย ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย

พลเรือตรี เซอร์เก กายดัค และพลเรือนยูเครนอีกจำนวนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวนานหลายชั่วโมงหลังจากที่กองบัญชาการกองทัพเรือของยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ในเซวาสโตโพล อันเป็นเมืองท่าสำคัญของไครเมีย ถูกบุกยึดเมื่อวันพุธ รายงานเบื้องต้นระบุว่า ผู้จู่โจมคือกองกำลังป้องกันตนเองไครเมีย แต่คำแถลงของโอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานาธิบดีรักษาการของยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ยืนยันการปล่อยตัวผู้บัญชากาทหารเรือระบุว่า กองทหารรัสเซียเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ด้วย

การบุกยึดเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ยูเครนจะประกาศแผนถอนกำลังจากไครเมีย ซึ่งถูกผนวกเข้ากับรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอังคาร (18)

ทั้งนี้ ทหารยูเครนอีกนับพันยังถูกกองกำลังติดอาวุธสนับสนุนรัสเซียล้อมอยู่ในฐานบัญชาการในไครเมีย

เคียฟเผยว่า กำลังเตรียมอพยพทหารและครอบครัวจำนวน 25,000 คนจากไครเมียกลับสู่แผ่นดินใหญ่ยูเครน แม้มีรายงานว่า ทหารจำนวนมากแปรพักตร์ไปอยู่กับรัสเซียแล้วก็ตาม

ยูเครนยังได้พยายามตอบโต้การบุกยึดไครเมียของรัสเซีย ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วด้วยการประกาศแผนซ้อมรบร่วมกับอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันพุธ

แม้อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า แต่ยูเครนก็ประกาศเจตนารมณ์ถอนตัวจากกลุ่มเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ที่รัสเซียเป็นผู้นำและประกอบด้วย 11 ชาติอดีตรัฐในสหภาพโซเวียต โดยประเทศล่าสุดที่ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้คือจอร์เจีย ซึ่งเกิดสู้รบทำสงครามช่วงสั้นๆ กับรัสเซียในปี 2008 และจบลงด้วยการเสียดินแดนที่ต้องการแบ่งแยกตนเอง ออกไป 2 เขต

นอกจากนี้ รัฐบาลรักษาการของยูเครนยังเตรียมขอการสนับสนุนจากสหประชาติ (ยูเอ็น) เพื่อให้ไครเมียเป็นเขตปลอดทหาร

ทั้งนี้ บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นมีกำหนดหารือกับผู้นำมอสโกในวันพฤหัสบดี ก่อนเยือนยูเครนในวันรุ่งขึ้น

บัน ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนฝ่ายตะวันตกอย่างชัดเจน เรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตไครเมียโดยยึดมั่นกฎบัตรยูเอ็น โดยรวมถึงการเคารพในบูรณาภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย ตลอดจนความเป็นเอกภาพของยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น