รอยเตอร์/เอเอฟพี – ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ไฟเขียวร่างสนธิสัญญาผนวกคาบสมุทรไครเมียกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของแดนหมีขาว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากยูเครนและชาติตะวันตกที่หวั่นเกรงว่ามอสโกอาจรุกคืบเข้าแทรกแซงภาคตะวันออกของยูเครนด้วย
ปูติน ได้ลงนาม “อนุมัติร่างสนธิสัญญาระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับสาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) ว่าด้วยการผนวกสาธารณรัฐไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย” โดยคำสั่งนี้ระบุว่า ปูติน จะลงนามในสนธิสัญญาร่วมกับผู้นำไครเมียซึ่งเวลานี้ได้เดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อเจรจาขอผนวกดินแดน ทว่ายังไม่เผยวันลงนามที่แน่นอน
ปูติน จะแถลงต่อรัฐสภาในเวลา 11.00 น.GMT (18.00 น.ตามเวลาในไทย) หลังจากที่ได้รับรองความเป็นรัฐเอกราชของไครเมียไปแล้วเมื่อค่ำวันจันทร์ (17) ซึ่งถือเป็นกระบวนการขั้นแรกที่จะนำสู่การผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
“ประธานาธิบดีจะแถลงจุดยืนของท่านเกี่ยวกับคำร้องของไครเมียซึ่งต้องการกลับเข้ามาเป็นดินแดนของรัสเซีย หลังผลประชามติเป็นที่ทราบกันแล้ว” เซอร์เกย์ นารีชคิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย แถลง
ท่าทีแข็งกร้าวของ ปูติน มีขึ้น หลังผลการทำประชามติในไครเมียเมื่อวันที่ 16 มีนาคมบ่งชัดว่าพลเมืองร้อยละ 97 ต้องการกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียอีกครั้ง หลังมีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองของยูเครนมานานถึง 60 ปี
การที่รัสเซียเข้าแทรกแซงและทำลายบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครนครั้งนี้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา
เมื่อวานนี้ (17) สหรัฐฯและสหภาพยุโรปได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งทหารเข้ายึดครองไครเมีย ซึ่งเป็นคาบสมุทรในทะเลดำซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซีย
ลีโอนิด สลุตสกี นักการเมืองชาวรัสเซียผู้หนึ่งซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรวีซาและอายัดทรัพย์สินของสหรัฐฯและอียู แถลงต่อสภาดูมาว่า การตัดสินใจของชาวไครเมียถือเป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ “วันนี้เราได้เห็นความยุติธรรมและความจริงเกิดขึ้นแล้ว”
ญี่ปุ่นได้ผนึกกำลังกับนานาชาติตอบโต้รัสเซียในวันนี้ (18) โดยสั่งระงับแผนเจรจาส่งเสริมการลงทุนและเปิดเสรีด้านการขอวีซากับรัสเซียแล้ว
“การที่รัสเซียยอมรับความเป็นรัฐเอกราชของไครเมียถือว่าละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ” โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชน
รัสเซียได้ส่งกองกำลังเข้าไปควบคุมคาบสมุทรไครเมียไว้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังอดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นพันธมิตรกับมอสโกถูกรัฐสภายูเครนถอดถอนจากตำแหน่ง
การล่มสลายของรัฐบาลยานูโควิชมีชนวนมาจากเหตุปะทะนองเลือดระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับผู้ประท้วงชาวยูเครนซึ่งไม่พอใจที่ ยานูโควิช ยกเลิกแผนเจรจาข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป และหันไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียแทน
แม้จะประณามผลประชามติในไครเมียอย่างรุนแรง แต่ในทางปฏิบัติชาติตะวันตกก็ยังไม่กล้าใช้ไม้แข็งตอบโต้มอสโกอย่างจริงจัง และยังคงเปิดทางคลี่คลายวิกฤตด้วยวิธีทางการทูต
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้สั่งคว่ำบาตรนักการเมืองรัสเซียและยูเครนรวม 11 คน รวมถึงอดีตประธานาธิบดี ยานูโควิช แห่งยูเครน และ 2 ผู้ช่วยคนสนิทของปูติน คือ วลาดิสลาฟ ซูร์คอฟ และ เซอร์เกย์ กลาซเยฟ
อย่างไรก็ตาม ตัวของ ปูติน ซึ่งตะวันตกกล่าวอ้างว่ามีแผนดึงอดีตประเทศสหภาพโซเวียตกลับมาอยู่ภายใต้รัสเซียอีกครั้ง กลับไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำ
ท่ามกลางกระแสความกังวลว่ารัสเซียอาจไม่หยุดเพียงแค่ไครเมียแต่จะรุกคืบไปแย่งชิงดินแดนฝั่งตะวันออกของยูเครนด้วย โอบามา จึงได้ฝากคำเตือนไปยัง ปูติน วานนี้(17)ว่า หากไม่หยุดกระทำการยั่วยุก็จะถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น และจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเองในที่สุด
“หากรัสเซียยังไม่หยุดแทรกแซงไครเมีย เราก็พร้อมที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรให้หนักขึ้นไปอีก” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุ
บทลงโทษจากชาติตะวันตกดูเหมือนจะไม่เป็นที่น่าหวั่นเกรงสำหรับ ปูติน ซึ่งยังยืนกรานว่ารัสเซีย “มีสิทธิ์” ปกป้องพลเมืองและผู้ใช้ภาษารัสเซียที่อาศัยอยู่ในอดีตประเทศเครือสหภาพโซเวียต ซึ่งข้ออ้างนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า รัสเซียอาจคิดใช้กำลังทหารแทรกแซงดินแดนอื่นๆ ด้วย