เอเอฟพี - ผู้นำชนเผ่าตาตาร์เรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ส่งกองกำลังเข้าแทรกแซงคาบสมุทรไครเมีย เพื่อป้องกัน “เหตุสังหารหมู่” พร้อมโน้มน้าวให้ชาวตาตาร์ที่อาศัยอยู่ในไครเมียคว่ำบาตรการทำประชามติผนวกดินแดนกับรัสเซียในวันอาทิตย์นี้ (16 มี.ค.)
มุสตาฟา เซมิเลฟ ผู้นำชนเผ่าตาตาร์ซึ่งเตรียมเข้าพบเจ้าหน้าที่นาโตในวันนี้ (14) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีจากกรุงบรัสเซลส์ว่า “หากมาตรการอื่นๆ ยังไม่ได้ผล นาโตก็ควรเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในไครเมีย”
เซมิเลฟ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภายูเครนและได้คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ระบุว่า โดยปกติแล้วนาโต “จะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อมีการสังหารหมู่เกิดขึ้น แต่เราต้องการให้นาโตลงมือเสียก่อนที่มันจะเกิด”
“ผมบอกกับเขา (ปูติน) ว่าเราจะไม่ทำสงครามกับรัสเซีย แต่เราจะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของเราไว้ให้จงได้ เราคงต้องตัดสินใจว่าจะต้องใช้วิธีใด”
เซมิเลฟ ยังวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของตะวันตกว่า “ไม่เห็นชาติตะวันตกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง พวกเขาสั่งแบนวีซ่าก็จริง แต่แล้วยังไงล่ะ? คนพวกนั้น (ที่ถูกสหภาพยุโรปคว่ำบาตร) ก็ยังใช้ชีวิตสุขสบายอยู่ในรัสเซียได้”
ชุมชนชาวตาตาร์เตรียมเดินขบวนประท้วงทั่วไครเมียในวันนี้ (14) ภายใต้สโลแกน “ไม่เอาประชามติเถื่อน” ก่อนถึงวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคมซึ่งไครเมียจะจัดให้มีการทำประชามติผนวกดินแดนเป็นหนึ่งเดียวกับรัสเซีย
“เราขอให้ชาวไครเมียเชื้อสายตาตาร์ทุกคนคว่ำบาตรประชามติ เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลย ผมบอกปูตินแล้วว่าการทำเช่นนี้ขัดต่อกฎหมายของเรา จะไม่มีใครยอมรับผลประชามติแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการทำประชามติในดินแดนที่ถูกครอบครองอยู่”
ชาวตาตาร์นั้นไม่ไว้วางใจรัสเซียอยู่เป็นทุนเดิม เพราะพวกเขาคือชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทรไครเมียมาก่อน และเคยถูกรัฐบาล โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียตขับไล่ไปยังเอเชียกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ชาวตาตาร์เริ่มหวนคืนสู่ถิ่นฐานเดิมของพวกเขาในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และกลายเป็นพลเมืองร้อยละ 12 ของเขตปกครองตนเองไครเมีย ซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นราว 2 ล้านคน
ขณะที่พลเมืองไครเมียส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย ชุมชนชาวตาตาร์ยังคงใช้ภาษาเติร์กและนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ซึ่งนายกรัฐมนตรี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน แห่งตุรกีก็รับปากว่าจะสนับสนุนชาวตาตาร์ในไครเมียอย่างเต็มที่
ในประเด็นที่รัสเซียส่งทหารเข้ามาควบคุมไครเมียนั้น เซมิเลฟชี้ว่า “พวกเขาเข้ามายึดดินแดนเรา และเตรียมจะผนวกเป็นของรัสเซียทั้งที่นานาชาติก็เห็นอยู่เต็มตา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยในศตวรรษที่ 20 แต่ดูเหมือนมันกำลังจะเกิดขึ้นในเวลานี้”
“รัสเซียบอกว่าพลเมืองของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง เสี่ยงตรงไหนล่ะ? คนที่นี่ก็ชาวรัสเซียทั้งนั้น หรือพวกเขาคิดจะขับไล่ชาวตาตาร์ออกไปอีก?”
“ผมบอกปูตินว่าแบบนี้ไม่ยุติธรรมนะ และผมก็แสดงความเป็นห่วงว่าจะมีการปะทะกันเกิดขึ้น... ซึ่ง ปูติน ก็ยืนยันว่าไม่มีเรื่องแบบนั้นแน่นอน และขอให้ชาวตาตาร์ในไครเมียอย่าใช้ความรุนแรง”
“ปูติน บอกว่า เขาได้สั่งห้ามทหารแตะต้องชาวตาตาร์ในไครเมีย”
เซมิเลฟ สรุปบทสนทนาระหว่างเขากับผู้นำรัสเซียว่า “เขาพูดประเด็นของเขา ผมก็พูดประเด็นของผม”
“เขาบอกว่าให้รอดูผลประชามติเสียก่อน ผมก็บอกว่า เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น และมันไม่มีความหมายอะไรเลย ปูติน ก็ตอบกลับมาว่า ไว้ค่อยคุยกันอีกทีหลังวันที่ 16”