xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-รัสเซียล้มเหลวเจรจาคลายวิกฤตยูเครน ไม่กี่ ชม.ก่อนไครเมียลงประชามติซบมอสโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ไปลงประชามติเลือกซบรัสเซีย
เอเอฟพี - สหรัฐฯ และรัสเซียในวันศุกร์ (14) ล้มเหลวคลี่คลายวิกฤตในรูปแบบสงครามเย็นอันมีต้นตอจากมอสโกส่งทหารเข้าไปยังไครเมีย ก่อนหน้าที่สาธารณรัฐปกครองตนเองแห่งนี้มีกำหนดลงประชามติแยกตัวจากยูเครนโผซบเครมลินช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่วลาดิมีร์ ปูติน กร้าวการโหวตตัดสินอนาคตของชาวไครเมียชอบธรรมตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ

นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ในลอนดอน ท่ามกลางความหวังเล็กน้อยว่าการลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ (16) ของไครเมีย ซึ่งสนับสนุนโดยรัสเซียจะถูกยกเลิกหรือไม่ก็เลื่อนออกไป

ในขณะที่รัสเซีย ส่งทหารเข้าควบคุมดินแดนยุทธศาสตร์แถบทะเลดำแห่งนี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยังคงหวังว่ามอสโก จะยอมหลีกเลี่ยงก้าวย่างพิเศษของการผนวกไครเมียที่คนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ความเคลื่อนไหวที่อาจทำให้วิกฤตเผชิญครั้งเลวร้ายที่สุดระหว่างตะวันออกกับตะวันตก นับตั้งแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินปี 1989 ลุกลามบานปลายไปกว่านี้

อย่างไรก็ตาม นายลาฟรอฟบอกกับผู้สื่อข่าวตามหลังการหารือยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงลอนดอน ว่ารัสเซียและตะวันตกยังคงมีวิสัยทัศน์ต่างกันในเรื่องยูเครน “เรามองสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ยังคงมีความเห็นต่าง” เขากล่าวพร้อมยืนยันว่ารัสเซียจะเคารพเจตจำนงของประชาชนไครเมียไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ บอกในวอชิงตัน ว่าเขายังคงหวังจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ด้วยวิธีทางการทูต พร้อมเตือนรัสเซียต่อผลลัพธ์ที่อาจตามมา อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าประธานาธิบดีปูติน จะไม่ยี่หระต่อคำขู่นี้ โดยในวันศุกร์ (14) เขาบอกกับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติว่าการทำประชามติตัดสินอนาคตของชาวไครเมียเป็นไปตามกรอบกฎหมายนานาชาติ

“วลาดิมีร์ ปูติน น้ำว่าการตัดสินทำประชามติสอดคล้องกับบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติอย่างสมบูรณ์” ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุในถ้อยแถลง

การลงประชามติในวันอาทิตย์ (16) ให้พลเมืองไครเมีย ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดและมีเชื้อสายรัสเซีย แค่ 2 ตัวเลือก คือ เข้าร่วมกับรัสเซีย หรือยังคงเป็นเขตปกครองตนเองของยูเครน ทั้งนี้ คาดหมายว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นการโหวตเลือกเป็นส่วนหนึ่งของมอสโกอย่างถล่มทลาย แม้มันจะถูกต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยมุสลิมทาทาร์ ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 12 จากประชากรทั้งหมด 2 ล้านคน

มุสตาฟา เซมิเลฟ ผู้นำชุมชนทาทาร์ เรียกร้องให้นาโตเข้าแทรกแซงไครเมีย เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุสังหารหมู่ผู้คนของเขาโดยฝีมือของชาวรัสเซีย แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ และชาติยุโรป ประสงค์ที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมอสโกมากกว่า หากเครมลินไม่ยอมลดจำนวนทหารในไครเมียและเปิดเจรจาโดยตรงกับยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น