เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - อาบู ดาบี และธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ความเห็นชอบในวันอาทิตย์ (16 มี.ค.) ต่อมาตรการ “ปรับโครงสร้างหนี้” จำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 645,000 ล้านบาท) ให้แก่ทางการดูไบ หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลดูไบซึ่งมีประวัติการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเกินตัวต่อเนื่องมานานหลายปี จะไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ตามกำหนดในปีนี้
รายงานข่าวระบุว่า อาบู ดาบี และธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บรรลุข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้สินจำนวนดังกล่าวให้กับดูไบ โดยจะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของรัฐบาลดูไบออกไป หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าดูไบยังไม่สามารถชำระคืนหนี้สินที่เกิดจากการขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการเงินเมื่อครั้งที่ดูไบ เผชิญวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2009
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลดูไบซึ่งมีประวัติใช้จ่ายเกินตัวต่อเนื่องมาหลายปี มีอันต้องขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการเงินจากเอมิเรตส์เพื่อนบ้านอย่างอาบู ดาบีเมื่อปี 2009 เป็นวงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 322,500 ล้านบาท) รวมถึงเงินกู้ยืมที่ออกในรูปของพันธบัตรอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านทางธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ข้อตกลงผ่อนผันด้านหนี้สินดังกล่าวระบุว่า ทางอาบูดาบีและธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะยอมขยายเวลาการชำระหนี้สินให้กับดูไบออกไปอีก 5 ปีโดยจะคิดดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากที่ทางการดูไบออกมายอมรับว่าไม่สามารถชำระหนี้สิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคืนให้กับธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทันภายในกำหนด 5 ปี ที่กำลังจะครบใน “สิ้นเดือนมีนาคม” นี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางการดูไบก็ไม่สามารถชำระหนี้สินที่เหลืออีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับรัฐบาลของอาบูดาบีที่จะครบกำหนดใน “เดือนพฤศจิกายน” นี้เช่นกัน และสถานะทางการเงินการคลังที่ง่อนแง่นของดูไบกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่เจ้าหนี้ทั้งสองรายอย่างรัฐบาลอาบู ดาบี และธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องยอมปรับโครงสร้างหนี้และขยายกรอบเวลาการชำระหนี้จำนวนทั้งสิ้น 20,000 ล้านดอลลาร์พร้อมดอกเบี้ยออกไป
อย่างไรก็ดี ชีคห์ โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม เจ้าผู้ครองรัฐของดูไบ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย ออกมาระบุว่า รัฐบาลดูไบจะยังคงเดินหน้านโยบายใช้จ่ายเงินมหาศาลต่อไป โดยอ้างเหตุผลด้านการพัฒนา
“เราขอขอบคุณอาบูดาบี และทางแบงก์ชาติที่ขยายเวลาชำระหนี้ให้กับเรา แต่ข้าพเจ้าขอย้ำว่าดูไบยังจำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป เราจะไม่หยุดใช้จ่ายเงิน ตราบใดที่ดูไบยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้าและการท่องเที่ยวของภูมิภาค แม้เราจะถูกตราหน้าว่าใช้เงินเกินตัว” ชีคห์ โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม กล่าว
ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยออกโรงเตือนทางการดูไบ ให้ยุติการใช้จ่ายเงินเกินตัวในโครงการพัฒนาที่หรูหราฟุ่มเฟือยและไม่ยั่งยืน โดยระบุว่าดูไบอาจเผชิญหายนะทางเศรษฐกิจหากยังไม่ลด-เลิกพฤติกรรมดังกล่าว