เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการดูไบออกโรงขู่ธนาคารพาณิชย์ให้ความร่วมมือในโครงการ “ล้างหนี้สิน” ให้กับประชาชน หลังประชาชนดูไบประสบภาวะหนี้ท่วมหัว โดยระบุ หากสถาบันการเงินแห่งใดไม่ให้ความร่วมมือ จะต้องเผชิญบทลงโทษจากทางการ ซึ่งรวมถึงการถูก “ขึ้นบัญชีดำ”
อาหมัด อัล ซาอาบี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการประธานาธิบดีของดูไบ หนึ่งในดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แถลงในวันพฤหัสบดี (23) เรียกร้องให้ธนาคารทุกแห่งที่เปิดกิจการในดูไบ ให้ความร่วมมือกับโครงการ “ล้างหนี้” ให้กับประชาชนในเอมิเรตส์แห่งนี้ หากไม่ต้องการเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรงจากทางการ
รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารต่างๆจะต้องยอมล้างหนี้สินจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งให้กับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในการชำระเงิน ขณะที่ทางการดูไบจะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลภาระหนี้ในส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ โดยกองทุนดังกล่าวถูกทางการดูไบตั้งขึ้นด้วยวงเงินกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 88,760 ล้านบาท
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการดูไบมีขึ้นหลังมีการเปิดเผยรายงานว่า ธนาคารต่างๆ ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับโครงการล้างหนี้ 50 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวที่ถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2012 เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่มองว่าการกระทำเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และยังเป็นการสร้างนิสัยแย่ๆ ด้านการเงินให้กับประชาชนดูไบ ที่ส่วนใหญ่ตกเป็นหนี้สินเพราะใช้จ่ายเกินตัว และไม่มีความคิดจะใช้หนี้
ข้อมูลของทางการดูไบระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวสมัครขอใช้สิทธิ์ล้างหนี้ 50% แล้วมากกว่า 6,000 คนแต่มีเพียง 2,700 รายเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวในโครงการที่ทางการดูไบเรียกว่า “การประนอมหนี้กับธนาคาร”
ทั้งนี้ พลเมืองในเอมิเรตส์ต่างๆ ของยูเออี รวมถึงดูไบมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆอย่างขนานใหญ่ ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นระหว่าง 2003-2008 แต่ลูกหนี้จำนวนมากกลับประสบปัญหาในการชำระหนี้คืน เมื่อเศรษฐกิจดูไบประสบปัญหาจากภาวะล่มสลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2009