xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเครน” เร่งตั้งกองทัพอาสาสมัคร “แมร์เคิล” ก็ขู่ “รัสเซีย” เสียหายยับถ้าฮุบดินแดนต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

)

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ทางการใหม่ของยูเครนที่หนุนหลังโดยฝ่ายตะวันตก เร่งรีบดำเนินการก่อตั้งกองกำลังอาวุธอาสาสมัครเมื่อวันพฤหัสบดี (13 มี.ค.) เพื่อไว้รับมือกับรัสเซีย ซึ่งพวกเขาระบุว่ากำลังข่มขู่ที่จะรุกรานขยายดินแดนเพิ่มขึ้นอีก หลังจากฮุบแหลมไครเมียไว้แล้ว ขณะที่เบอร์ลินเตือนมอสโกว่า จะประสบความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหภาพยุโรป (อียู) ก็จะย่ำแย่อย่างยาวไกล สืบเนื่องจากวิกฤตไครเมีย

รัฐสภาของยูเครนลงมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ในวันพฤหัสบดี ให้จัดตั้งกองกำลังอาวุธกองใหม่ขึ้นมา ซึ่งกำลังพลประกอบด้วยอาสาสมัครที่อาจจะสูงถึง 60,000 คน เพื่อเอาไว้ยับยั้งกองทัพรัสเซียที่อาจจะรุกคืบต่อมาอีก หลังจากเข้ายึดครองแหลมไครเมียเอาไว้แล้วในทางพฤตินัยตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเดือนมีนาคมนี้

การตัดสินใจที่จะเพิ่มกำลังป้องกันยูเครนโดยใช้ประชาชนที่อยู่นอกกองทัพคราวนี้ บังเกิดขึ้นไม่ถึง 1 วัน หลังจากที่ในวันพุธ (12) ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ แสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคณะผู้นำใหม่ที่เป็นฝ่ายนิยมตะวันตกของกรุงเคียฟ ในการเผชิญหน้ากับวังเครมลิน ในระหว่างที่เขาให้การต้อนรับ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว

อันดรีย์ ปารูบีย์ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันประเทศของยูเครน แถลงในรัฐสภาว่า กองกำลังป้องกันชาติกองใหม่นี้ จะ “เป็นหลักประกันความมั่นคงของรัฐ, ปกป้องชายแดน และกำจัดกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ” ทั้งนี้พวกผู้นำในกรุงเคียฟใช้คำว่ากลุ่มก่อการร้าย โดยหมายถึงกลุ่มกำลังติดอาวุธอยู่เคียงข้างกองทหารรัสเซีย ในการรักษาการณ์ในไครเมียขณะนี้
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จับมือกับ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว เมื่อวันพุธ (12)
กองทัพประจำการของยูเครนในปัจจุบันมีจำนวน 130,000 คน โดยที่ราวครึ่งหนึ่งเป็นทหารเกณฑ์และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ค่อนข้างล้าสมัย เปรียบเทียบกับกองทัพรัสเซียซึ่งมีกำลังพล 845,000 คน และหนุนหลังด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ก่อนหน้านั้นในวันพุธ (12 มี.ค.) นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้แถลงต่อรัฐสภาของประเทศนั้น โดยใช้ถ้อยคำที่ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เธอเคยกระทำมา ในการตักเตือนรัสเซีย ทั้งนี้ แมร์เคิลซึ่งเติบโตขึ้นในเยอรมันตะวันออกที่เวลานั้นปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การครอบงำของสหภาพโซเวียต เป็นผู้ที่สามารถพูดภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะเดียวกัน เธอก็ใช้ท่าทีระแวดระวังในการติดต่อกับมอสโก แต่พร้อมกันนั้นก็เข้าใจดีถึงความสำคัญในการรักษาสายสัมพันธ์กับวังเครมลินไม่ให้เลวร้ายจนมองหน้ากันไม่ติด

“ถ้าหากรัสเซียยังคงเดินไปตามเส้นทางของตนอย่างที่เกิดขึ้นในอาทิตย์หลังๆ มานี้แล้ว มันก็จะไม่เพียงเป็นความวิบัติหายนะสำหรับยูเครนเท่านั้น” แมร์เคิลแถลงต่อรัฐสภา

“มันไม่เพียงแค่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปโดยรวมที่มีต่อรัสเซีย แต่มันยังจะสร้างความเสียหายอย่างมโหฬารให้แก่รัสเซียทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง ดิฉันขอยืนยันอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้”

แมร์เคิลกล่าวหารัสเซียว่า กำลังใช้ยุทธวิธีแบบนักขยายดินแดนของช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เป็นยุทธวิธี “ที่ล้มละลายไปแล้ว”

รัฐสภารัสเซียนั้นยังคงมีวาระในสัปดาห์หน้า ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งจะทำให้กระบวนการในการผนวกรวมไครเมีย สามารถดำเนินการได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น โดยที่ไครเมียเองก็มีกำหนดจัดการลงประชามติว่าจะหันมาอยู่ใต้ปกครองของมอสโกหรือไม่ในวันอาทิตย์ (16) นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น