เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลเบลารุสยื่นข้อเสนอในวันพุธ (12 มี.ค.) เปิดทางให้รัสเซียใช้ดินแดนของตนเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับภารกิจลาดตระเวนทางอากาศ หลังองค์การนาโตส่งเครื่องบินสอดแนมของตนเข้ามายังโปแลนด์และโรมาเนีย เพื่อข่มขวัญรัสเซีย มิให้คิดแทรกแซงยูเครน
รายงานข่าวในวันพุธ (12) ระบุว่า ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำวัย 59 ปีของเบลารุสซึ่งครองอำนาจแบบผูกขาดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1994 ออกมาแถลงที่กรุงมินส์ก เมืองหลวงของประเทศ โดยระบุว่า รัฐบาลของตนยินดีเปิดให้รัสเซียส่งเครื่องบินรบเข้ามาประจำการในเบลารุสได้สูงสุดถึง 15 ลำ เพื่อตอบโต้การที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ตัดสินใจส่งเครื่องบินสอดแนมเข้ามายังโปแลนด์และโรมาเนีย เพื่อจับตาความเคลื่อนไหวของรัสเซีย และป้องปรามมิให้มอสโกกระทำการแทรกแซงใดๆต่อยูเครน
“ประชาชนชาวเบลารุสรู้สึกไม่สบายใจที่นาโตส่งเครื่องบินสอดแนมเข้ามาปฏิบัติภารกิจอยู่ใกล้กับน่านฟ้าของเรา และเราคิดว่าแนวทางการตอบโต้ที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราและรัสเซีย คือการเปิดทางให้มอสโกส่งเครื่องบินรบของตนเข้ามายังเบลารุส เพื่อสนองตอบต่อภารกิจของนาโตในยุโรปตะวันออกขณะนี้” ประธานาธิบดีลูกาเชนโกแห่งเบลารุสแถลง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลเบลารุส ที่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอดีตสหภาพโซเวียต มีขึ้นหลังจากที่นาโตประกาศส่งเครื่องบินสอดแนม “AWACS” เข้ามาปฏิบัติภารกิจเหนือน่านฟ้าของชาติสมาชิกของตนในยุโรปตะวันออก นับตั้งแต่วันจันทร์ (10) ที่ผ่านมา เพื่อจับตาความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อวิกฤตในยูเครน และเพื่อเป็นการป้องปรามรัฐบาลของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย ที่กำลังพยายามแยกตัวออกจากยูเครน และนำดินแดนของตนเข้าไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งกับรัสเซีย
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนที่มีจุดยืนโปรตะวันตก รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างออกโรงกล่าวหารัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ากระทำการละเมิดอธิปไตยของยูเครน และฝ่าฝืนหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการส่งกำลังทหารเข้ามายังไครเมียที่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครน
อย่างไรก็ดี ทางการแดนหมีขาวย้ำว่า การส่งกำลังทหารของตนเข้าสู่ไครเมียมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องชีวิตของพลเรือนเชื้อสายรัสเซีย รวมถึง “กองเรือทะเลดำ” ของตนที่มีฐานอยู่ในไครเมีย