xs
xsm
sm
md
lg

‘เอเชีย’ ร่วมมือกันค้นหาเครื่องบินโดยสารที่สูญหาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้สื่อข่าวของเราเอง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Asia rallies to find missing airliner
By Our Correspondents
10/03/2014

เหล่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน, และสหรัฐฯ ต่างพับเก็บความขัดแย้งเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้เอาไว้ก่อน และหันมาร่วมมือกันตามล่าค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซียที่สูญหายไป ทำไมเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน 370 ลำนี้จึงหายลับไปจากจอเรดาร์ยังเป็นปริศนาชวนฉงนฉงาย และบรรดานาวีที่จับมือกันเข้าค้นหาเหล่านี้ก็ยังไม่พบเศษซากหรือร่องรอยใดๆ ของมัน โดยที่ผู้โดยสารและลูกเรืออยู่บนเครื่องรวม 239 คน เวลานี้ได้รับการสันนิษฐานว่าคงเสียชีวิตแล้ว

เหล่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน, และสหรัฐฯ ต่างพับเก็บความขัดแย้งเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้เอาไว้ก่อน และหันมาร่วมมือกันตามล่าค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซียที่สูญหายไปพร้อมด้วยผู้คนบนเครื่องรวม 239 ชีวิต ขณะบินอยู่เหนือทะเลจีนใต้เมื่อวันเสาร์ (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา

เครื่องบินและเรือจำนวนหลายสิบลำทั้งที่มาจากมาเลเซีย, เวียดนาม, จีน, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, สหรัฐฯ, ไทย, ออสเตรเลีย, และฟิลิปปินส์ ต่างกำลังเข้าร่วมในการค้นหาโบอิ้ง 777 ลำนี้ ทั้งนี้ตามการแถลงของ อาซารุดดิน อับดุล เราะห์มาน (Azharuddin Abdul Rahman) อธิบดีกรมการบินพลเรือนของมาเลเซียในวันจันทร์ (10 มี.ค.) อับดุบ เราะห์มาน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในกัวลาลัมเปอร์ว่า “เรากำลังใช้ทุกๆ ชั่วโมง ทุกๆ วินาที เฝ้ามองหาทุกๆ บริเวณของทะเลแห่งนี้”

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่พบเศษซากหักพังใดๆ ของเครื่องบินลำนี้ ซึ่งเป็นเครื่องโบอิ้ง 777-200ER ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ (Malaysian Airline System ใช้อักษรย่อว่า MAS) ที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และผู้โดยสาร 227 คนพร้อมด้วยลูกเรือ 12 คนในเที่ยวบิน MH370 นี้ ก็ได้รับการสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว เที่ยวบินนี้ทะยานขึ้นจากกัวลาลัมเปอร์เมื่อเวลา 00.41 น. ของวันเสาร์ (8 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น และควรที่จะร่อนลงจอดที่ปักกิ่งในเวลา 6.30 น.

อับดุล เราะห์มาน แถลงว่า ทางการผู้รับผิดชอบกำหนดพื้นที่ค้นหาให้ครอบคลุมรัศมีกว่า 50 ไมล์ทะเล (ประมาณ 93 กิโลเมตร) รอบๆ จุดซึ่งทราบตำแหน่งของเที่ยวบิน 370 เป็นครั้งสุดท้าย ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวกินเข้าไปในน่านน้ำทั้งของมาเลเซียและของเวียดนาม นอกจากนั้นยังมีการค้นหาในบริเวณตอนเหนือของช่องแคบมะละกาด้วย เป็นการเผื่อเอาไว้ในกรณีที่เครื่องบินลำนี้ได้หันหัวกลับเข้ามายังน่านฟ้าของมาเลเซีย (หมายเหตุผู้แปล – ต่อมา อธิบดีกรมการบินพลเรือนของมาเลเซียผู้นี้ แถลงในคืนวันจันทร์ที่ 8 มี.ค.ว่า ได้ขยายพื้นที่การค้นหาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว นั่นคือครอบคลุมรัศมี 100 ไมล์ทะเลรอบๆ บริเวณซึ่งทราบตำแหน่งของเครื่องบินลำนี้เป็นครั้งสุดท้าย)

สหรัฐฯนั้นได้จัดส่งเรือรบ 2 ลำและเครื่องบินที่ติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์พิสัยไกลเข้ามาช่วยเหลือการค้นหาเครื่องบินโดยสารลำนี้ ขณะที่ฟิลิปปินส์แถลงว่ากำลังจัดส่งเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือ 3 ลำพร้อมกับเครื่องบินตรวจการณ์ ไปยังพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างราวๆ 153 ไมล์ทะเลจากเกาะโถจู (Tho Chu) ของเวียดนาม โดยที่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากเกาะฟุก๊วก รีสอร์ตชื่อดังไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 55 ไมล์ทะเล พล.ร.ต.โง วัน ฟ้าต (Ngo Van Phat) ของเวียดนาม บอกกับหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) ว่า เรดาร์ของฝ่ายทหารชี้บ่งว่าเครื่องบินอาจจะตกลงไปในทะเลบริเวณนี้

เมื่อถึงคืนวันอาทิตย์ (9 มี.ค.) พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของเวียดนามระบุว่า ได้พบเห็นสิ่งที่อาจเป็นเศษซากจากเครื่องบินลำนี้ แต่แล้วก็แถลงในเวลาต่อมาว่าพิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้อะไรเกี่ยวข้องกับเที่ยวบินที่สูญหายเลย เช่นเดียวกับคราบน้ำมันขนาดใหญ่ 2 จุด ซึ่งพบเห็นตรงใกล้ๆ กับเกาะโถจู คราบเหล่านี้มีขนาดยาวระหว่าง 16 ถึง 19 กิโลเมตร และอยู่ห่างกันราว 500 เมตร ได้รับการยืนยันในเวลาต่อมาว่าไม่ใช่คราบน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน

ทางด้านสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์แถลงว่า ถ้าหากสมาชิกในครอบครัวของผู้โดยสารที่เป็นคนจีน ต้องการเดินทางไปยังกัวลาลัมเปอร์ เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว ก็ยินดีให้โดยสารเครื่องบินไป ก่อนหน้านี้สายการบินนี้ระบุว่า ในจำนวนผู้โดยสารทั้ง 227 คน เป็นผู้ที่มาจากประเทศจีน 153 คน

สำหรับสาเหตุของเครื่องบินตกคราวนี้ มีการคาดเดากันไปต่างๆ ตั้งแต่เรื่องความบกพร่องล้มเหลวทางกลไกของเครื่องบิน ไปจนถึงการก่อการร้าย ถึงแม้สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) แถลงย้ำว่าเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ามีความไม่ชอบมาพากล ขณะที่ตำรวจสากลออกคำแถลงว่ามีบุคคล 2 คนบนเครื่องบินที่สูญหาย ซึ่งเดินทางโดยใช้เอกสารหนังสือเดินทางปลอม ต่อมาแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของสหรัฐฯเปิดเผยว่า พาสปอร์ตของออสเตรียเล่มหนึ่ง และของอิตาลีอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งใช้โดยผู้โดยสาร 2 คนนี้ เป็นพาสปอร์ตที่ถูกโจรกรรมในประเทศไทย กระนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯผู้หนึ่งชี้ว่า การใช้หนังสือเดินทางปลอม ยังไม่ใช่หลักฐานข้อพิสูจน์อย่างแน่นอนชัดเจนว่า การหายไปของเครื่องบินมีสาเหตุจากการก่อการร้าย

ขณะที่ ปีเตอร์ คิง (Peter King) ส.ส.สหรัฐฯจากมลรัฐนิวยอร์กสังกัดพรรครีพับลิกัน และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรองและความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน (House Intelligence and Homeland Security committees) แถลงว่า “เรื่องยังคงอาจจะออกมาว่ามันเป็นแค่อุบัติเหตุอันน่าสยดสยองเท่านั้น เราไม่ได้กำลังบอกว่ามันเป็นการก่อการร้าย แต่เราจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น”

การที่มีนาวาทางทหารจำนวนมาก ปรากฏตัวในพื้นที่ไม่ห่างนักจากอาณาบริเวณของทะเลจีนใต้ซึ่งจีนกำลังกดดันอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ ธรรมดาแล้วควรที่จะทำให้ปรอทแห่งความตึงเครียดทางการทูตพุ่งสูงปริ๊ด ทว่าในคราวนี้แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของเรือเหล่านี้ก็คือความหวังในการค้นหาผู้โดยสารและลูกเรือของเที่ยวบินที่สูญหายไป และเนื่องจากยังไม่พบเศษซากความเสียหายใดๆ เลย จึงยังไม่สามารถระบุลงไปได้ว่าเหตุเครื่องบินตกคราวนี้อยู่ในเขตอำนาจทางกฎหมายของชาติใด และยังไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ แสดงตนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ

เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของสหรัฐฯระดับอาวุโสผู้หนึ่ง บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เอฟบีไอยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่กัวลาลัมเปอร์เพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ ถึงแม้คาดหมายกันว่า ตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ ตลอดจนจาก โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินลำนี้ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครชิคาโก มีกำหนดเดินทางไปถึงเมืองหลวงมาเลเซียในวันจันทร์ (10 มี.ค.)

รอยเตอร์ยังอ้างแหล่งข่าวผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสูงในคณะรัฐบาลสหรัฐฯรายหนึ่ง กล่าวว่า สหรัฐฯได้ตรวจสอบภาพถ่ายจากดาวเทียมจารกรรมของตนอย่างกว้างขวาง เพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับการเกิดเหตุระเบิดกลางอากาศ แต่ก็ยังตรวจไม่พบเลย โดยที่แหล่งข่าวรายนี้ยืนยันว่า ระบบดาวเทียมของสหรัฐฯมีการปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ของภูมิภาคแถบนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

สำหรับพวกเจ้าหน้าที่มาเลเซียซึ่งกำลังสืบสวนสอบสวนการหายไปของเครื่องบินอยู่ ให้ความเห็นว่าการที่ยังไม่พบเศษซากสำคัญใดๆ เลย บ่งชี้ให้เห็นว่า เครื่องบินอาจจะเกิดการแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขณะบินอยู่กลางอากาศ เพราะถ้าหากเครื่องบินตกลงมาในสภาพที่ยังสมบูรณ์ และเกิดการหักพังตอนที่ปะทะเข้ากับน้ำทะเลเท่านั้นแล้ว บรรดาทีมค้นหาก็ควรที่จะพบเศษซากในสภาพที่รวมศูนย์อยู่ในจุดใดจุดหนึ่งค่อนข้างชัดเจน

ผู้บัญชาการทหารอากาศของมาเลเซียยังได้แถลงในวันอาทิตย์ (9 มี.ค.) ว่า เรดาร์ของฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ชี้ให้เห็นว่าเครื่องบินโดยสารลำนี้ได้หันหัวเลี้ยวกลับ ทั้งนี้โบอิ้ง 777 ลำนี้ได้ทำการบินอยู่ในระดับความสูงคงที่ (cruising altitude) ตอนที่มันหายไปจากจอเรดาร์ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 40 นาทีภายหลังทะยานขึ้นจากกัวลาลัมเปอร์ ศัพท์คำว่า “หันหัวเลี้ยวกลับ” (turn back) ในทางการบินนั้น สามารถหมายถึงการที่เครื่องบินเดินทางกลับไปยังสนามบินที่ทะยานขึ้นมา โดยเป็นผลจากการที่อุปกรณ์ใดๆ บนเครื่องบินเกิดชำรุดบกพร่อง หรือสงสัยว่าจะชำรุดบกพร่อง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถหมายความอย่างกว้างๆ เพียงแค่ว่าเบนออกจากเส้นทางที่ใช้อยู่

นิตยสาร “อะวิเอชั่น วีก” (Aviation Week) รายงานว่า การสูญหายคราวนี้อาจจะกลายเป็นอุบัติเหตุทางอากาศครั้งร้ายแรงที่สุดซึ่งเครื่องบินโดยสารรุ่นโบอิ้ง 777 เคยประสบมา โดยที่ก่อนหน้านี้เหตุร้ายที่เกิดกับ โบอิ้ง 777 ได้แก่ กรณีเครื่องบินรุ่นนี้ของสายการบินบริติชแอร์เวย์ เกิด โหม่งพื้นขณะกำลังร่อนลงที่ท่าอากาศยานฮีธโรว์ ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2008 แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยการสอบสวนในเวลาต่อมาระบุว่าเนื่องจากปัญหาระบบเชื้อเพลิงกลายเป็นน้ำแข็ง และอีกกรณีหนึ่งคือเครื่องของสายการบินเอเชียนา ของเกาหลีใต้ โหม่งพื้นขณะกำลังร่อนลงที่ซานฟรานซิสโกในปี 2013 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 3 คน

รายงานของสื่อมวลชนบางเจ้า เปรียบเทียบสถานการณ์คราวนี้กับกรณีการตกของเครื่องบินโดยสารสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 447 จากเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล มุ่งหน้าไปยังกรุงปารีส เมื่อปี 2009 เครื่องบินสายการบินฝรั่งเศสตก สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ประจำเที่ยวบินปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องตอนที่เครื่องเกิดอาการบ่งบอกการสูญเสียความเร็ว ผลของการตอบโต้อย่างไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้เครื่องร่วงดิ่งลงมาจากเพดานบินระดับสูงโดยไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้เครื่องบินแอร์ฟรานลำนี้ก็สูญหายกลางมหาสมุทรแอตแลนติกค้นหากันไม่พบ จวบจนกระทั่งเวลาผ่านไปถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน่านน้ำบริเวณที่เชื่อกันว่าเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียตกนั้น เป็นเขตน้ำตื้น ดังนั้นเศษซากเสียหายใดๆ ก็ตามจึงควรที่จะจมอยู่ในระดับความลึกซึ่งอุปกรณ์เซนเซอร์ของเรือสามารถส่งสัญญาณไปถึงได้ นอกจากนั้นทะเลตอนนี้ก็แคบและมีเรือประมงจำนวนเป็นพันๆ ลำสัญจรไปมา

สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ถือเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยสูง อุบัติภัยล่าสุดที่บริษัทประสบได้แก่กรณีการตกขณะร่อนลงจอดที่ซาบาห์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ของเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งดำเนินงานโดยกิจการในเครือของสายการบินนี้ ที่ใช้ชื่อว่า เอ็มเอเอสวิงส์ (MASwings) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2 ราย ขณะที่เหตุเครื่องบินตกครั้งร้ายแรงที่สุดของมาเลเซียแอร์ไลน์ คือกรณีที่เกิดขึ้นในปี 1977 โดยมีผู้เสียชีวิตไป 100 คนภายหลังเครื่องบินถูกจี้ ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์มาเลย์เมล์ (Malay Mail)

กระนั้นก็ตามที สายการบินที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก็กำลังอยู่ในภาวะขาดทุนหนัก และต้องพยายามดิ้นรนให้ฟื้นตัวจากวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก ตลอดจนให้สามารถแข่งขันกับพวกสายการบินโลว์คอสต์รายใหม่ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ มาเลเซียแอร์ไลน์ขาดทุนไปกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 3 ปีการเงินที่ผ่านมา เหตุร้ายล่าสุดคราวนี้ก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทตกฮวบในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (10 มี.ค.) โดยช่วงที่หล่นแรงที่สุดคือ 16% อันที่จริงแล้ว หุ้นของสายการบินนี้กำลังตกลงไปเกือบๆ 40% อยู่แล้วนับแต่ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และหากดูกันในรอบระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของมาเลเซียแอร์ไลน์หล่นหายไปถึงราวๆ 80%
กำลังโหลดความคิดเห็น