เอเอฟพี - ประเทศไทยกำลังตกเป็นเป้าถูกจับตา ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางสำคัญทางด้านเอกสารปลอมแปลงสำหรับพวกเครือข่ายอาชญากรรม ภายหลังที่มีการเปิดเผยออกมาว่า มีผู้โดยสาร 2 คนในเที่ยวบิน MH 370 ซึ่งสูญหายไป แอบใช้หนังสือเดินทางที่ถูกขโมยในเมืองไทย จนทำให้เกิดความหวาดผวากันว่าบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นพวกผู้ก่อการร้าย
มีชื่อชาวยุโรป 2 คน คือ คริสเตียน โคเซล ชาวออสเตรีย และลุยจิ มารัลดี ชาวอิตาลี ปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้โดยสารในเที่ยวบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สดังกล่าว ซึ่งหายลับไปจากจอเรดาร์ในช่วงชั่วโมงต้นๆ ของวันเสาร์ (8 มี.ค.) ระหว่างเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์มุ่งหน้าสู่ปักกิ่ง
แต่ทั้งคู่ไม่ได้ขึ้นเครื่องบินลำนั้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีผู้โดยสารลึกลับ 2 คนสวมรอยใช้หนังสือเดินทางของพวกเขา ซึ่งได้ถูกขโมยไปในประเทศไทย
ข้อมูลดังกล่าวนี้จุดชนวนให้ทางการมาเลเซียตัดสินใจเปิดการสืบสวนติดตามโดยถือว่าคดีนี้เป็นคดีก่อการร้าย อีกทั้งกำลังทำงานร่วมกับหน่วยข่าวกรองของชาติอื่นๆ เป็นต้นว่า สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ)
รอมเมล บันลาออย นักวิเคราะห์เรื่องการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยนั้นถูกกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศบางกลุ่มใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการอยู่แล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ในการหาเงินทุนหรือไม่ก็ใช้เป็นสถานที่วางแผนก่อเหตุโจมตี”
ทั้งนี้เมื่อปี 2010 มีชาวปากีสถาน 2 คน และผู้หญิงไทยคนหนึ่งถูกจับกุมในประเทศไทย เนื่องจากต้องสงสัยว่ากำลังทำหนังสือเดินทางปลอมให้แก่พวกกลุ่มซึ่งโยงใยกับอัลกออิดะห์ คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการระดับระหว่างประเทศซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียเมื่อปี 2008 และการววางระเบิรถไฟที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนในปี 2004
อย่างไรก็ดี บันลาออยย้ำว่า พาสปอร์ตปลอมที่ถูกใช้ในเที่ยวบินมาเลเซียคราวนี้ “ยังอาจจะโยงใยเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรมอย่างอื่นๆ อย่างเช่น การอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย เท่านั้น ก็เป็นไปได้”
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการข่าวกรองของไทยคนหนึ่ง ขยายรายละเอียดในประเด็นอาชญากรรมนี้กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของพวกองค์การอาชญากรรมระหว่างประเทศ ผู้ซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดทำจัดหาเอกสารด้านการเดินทาง และเอกสารทางดานการเงินต่างๆ”
“มันไม่ใช่เพียงแค่โยงใยเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเท่านั้น แต่มันโยงใยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย นี่เป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อน มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นๆ อีกมาก” เขากล่าว และระบุว่า เครือข่ายที่ซับซ้อนเป็นใยแมงมุมนี้มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ, มีทั้งนักขโมยหนังสือเดินทาง และพวกนักปลอมปลองเอกสาร, พวกที่เป็นคนกลาง และพวกลูกค้า
เวลานี้ตำรวจไทยประกาศแล้วว่า กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนแก๊งขโมยหนังสือเดินทาง ซึ่งใช้เกาะภูเก็ตเป็นฐานปฏิบัติการ ทั้งนี้เพราะตามรายงานของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในกรุงเวียนนา พาสปอร์ตของมารัลดีหายไปเมื่อปี 2013 ที่จังหวัดนี้ ส่วนของโคเซลซึ่งสูญไปในปี 2012 นั้นเกิดขึ้นในเที่ยวบินจากภูเก็ตไปยังกรุงเทพฯ
จากข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเที่ยวบินซึ่งเอเอฟพีได้เห็นมา ปรากฏว่าตั๋วเครื่องบินทั้ง 2 ใบที่ออกในชื่อของโคเซล และมารัลดีนั้น ออกที่พัทยา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2014 และมีการชำระเงินด้วยเงินบาทไทย
จนถึงขณะนี้ยังแทบไม่มีการเปิดเผยอะไรเลยเกี่ยวกับผู้โดยสารทั้ง 2 คนซึ่งใช้พาสปอร์ตขโมยมาในการขึ้นเครื่องบินในเที่ยวบินที่สูญหายไป แต่พวกเขาถูกบันทึกภาพโดยกล้องทีวีวงจรปิดของสนามบินมาเลเซีย
ระหว่างการแถลงข่าวในคืนวันจันทร์ อาซารุดดิน อับดุล เราะห์มาน อธิบดีกรมการบินพลเรือนของมาเลเซียระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ยืนยันแล้วว่า บุคคล 2 คนซึ่งขึ้นเครื่องบินของเที่ยวบินดังกล่าวโดยใช้หนังสือเดินทางที่ขโมยมานั้น ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบชาวเอเชียเหมือนอย่างที่รัฐมนตรีมหาดไทยของมาเลเซียได้เคยแถลงเอาไว้ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน
“ตอนนี้เป็นที่ยืนยันแน่นอนแล้วว่า พวกเขาเป็นชายที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบคนเอเชีย ... ทีมสืบสวนสอบสวนกำลังติดตามดูภาพวิดีโอ (จากกล้องซีซีทีวีของสนามบิน) อยู่” อาซารุดดินบอก แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับลักษณะของชายทั้ง 2
อธิบดีกรมการบินพลเรือนมาเลเซียกล่าวยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของสนามบินทำตามมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ อย่างถูกต้อง แต่เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับพวกแก๊งขโมยหนังสือเดินทาง
ตำรวจไทยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
เนื่องจากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเหมาะสม และเป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ ประเทศไทยจึงเป็นที่รู้จักเลื่องลือในฐานะของการเป็นศูนย์กลางการลักลอบขนยาเสพติด ตลอดจนการลักลอบขนสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า งาช้างจากแอฟริกา
แต่นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางของการจัดหาจัดทำเอกสารให้แก่พวกผู้อพยพผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นพวกที่กำลังเดินทางเคลื่อนย้ายอยู่ภายในภูมิภาคแถบนี้ หรือกำลังผ่านภูมิภาคนี้ไปสู่จุดหมายปลายทางอื่นๆ
แหล่งข่าวในแวดวงการทูตรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า เส้นทางเดินทางของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใครทั้ง 2 คนนี้ ซึ่งมีการซื้อตั๋วเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังปักกิ่ง จากนั้นก็บินต่อไปยังยุโรป ถือว่าเป็น “เส้นทางแบบฉบับ” สำหรับพวกผู้อพยพผิดกฎหมาย แหล่งข่าวรายนี้กล่าต่อไปว่า หนังสือเดินทางที่ขโมยจากพวกนักท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น จำนวนมากทีเดียวถูกนำไปใช้เพื่อการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
“(พาสปอร์ต)พวกนี้เป็นของจริง ดังนั้นพวกเขาจึงค้นหาใครสักคนที่มีรูปร่างหน้าตาดูคล้ายๆ กับเจ้าของเดิม หรือไม่พวกเขาก็ปลอมแปลงเฉพาะหน้าแรก” แหล่งข่าวรายนี้บอก
ในเวลาเดียวกัน การที่สามารถจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ตำรวจได้อย่างไม่ยากย็นอะไร ก็มีส่วนช่วยให้วงการนี้ในเมืองไทยรุ่งเรืองเฟื่องฟู
“ตำรวจอาจจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ถ้าหากว่าคุณมีเงิน” เขากล่าวต่อ
ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทย ผู้ที่ถูกจับได้ว่ากำลังขาย หรือ “กำลังครอบครองด้วยวัตถุประสงค์ที่จะขาย” ซึ่งหนังสือเดินทางผิดกฎหมาย อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม อาเหม็ด ซาเลห์ ฮาชิม รองศาสตราจารย์แห่งสถาบันเอส ราชารัตนัม เพื่อการระหว่างประเทศศึกษาในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การลักลอบเดินทางเข้าประเทศตะวันตก โดยอาศัยพาสปอร์ตชาติตะวันตกที่ขโมยมานั้น ถึงอย่างไรก็ “ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ”
ดังนั้น เขาจึงค่อนข้างเชื่อมากกว่า ในทฤษฎีที่ว่าพวกผู้ก่อการร้ายอาจพุ่งเป้าเล่นงานเที่ยวบิน MH370 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยทั้ง 2 ฉบับ ก็อยู่ในความสนใจเฝ้าติดตามของตำรวจสากล
อย่างไรก็ตาม นายตำรวจระดับอาวุโสผู้หนึ่งในส่วนงานด้านตรวจคนเข้าเมืองของไทย บอกกับเอเอฟพีว่า ประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบหนังสือเดินทางกับ “ฐานข้อมูลเอกสารการเดินทางถูกขโมย หรือสูญหาย” (Stolen and Lost Travel
Documents) ของตำรวจสากล ซึ่งมีข้อมูลในเรื่องนี้ถึงกว่า 40 ล้านรายการ
องค์การตำรวจสากลนั้นได้เร่งเร้าประเทศต่างๆ ให้ใช้ฐานข้อมูลนี้ในการตรวจสอบหนังสือเดินทางทุกๆ ฉบับ “เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารที่เป็นคนบริสุทธิ์”
“ผมตั้งความหวังเอาไว้อย่างจริงใจว่า รัฐบาลต่างๆ และสายการบินต่างๆ ทั่วโลกจะเรียนรู้จากโศกนาฏกรรมเที่ยวบิน MH370 ที่หายไปนี้ และเริ่มต้นตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้โดยสารทุกๆคน ก่อนที่จะอนุญาตให้พวกเขาขึ้นไปบนเครื่องบินได้” โรนัลด์ โนเบิล เลขาธิการองค์การตำรวจสากลกล่าว
“การทำเช่นนั้น จริงๆ แล้วจะทำให้เราขยับเข้าไปอีกก้าวหน้า ในการรับประกันให้เกิดการเดินทางซึ่งมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”