xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียกระชับอำนาจคุมไครเมีย จี7 ประณาม-ขู่โดดเดี่ยวมอสโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเจนซีส์ - รัสเซียยังคงเสริมกำลังควบคุมจุดยุทธศาสตร์ในแหลมไครเมียเมื่อวันจันทร์ (3 มี.ค.) และเข้ายึดครองเขตปกครองตนเองของยูเครนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสำคัญของแดนหมีขาวแห่งนี้เอาไว้ในทางพฤตินัย ท่ามกลางการประณามและการโดดเดี่ยวจากกลุ่ม จี7 และค่าเงินรูเบิลรูดลงสวนทางกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจตะวันตกจับกลุ่มหาทางคลี่คลายการเผชิญหน้าครั้งเลวร้ายที่สุดกับมอสโก นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

เมื่อวันอาทิตย์ (2) ทำเนียบขาวออกคำแถลงในนามกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ประณามรัสเซียที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน รวมทั้งประกาศงดเข้าร่วมการหารือเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี8 (ซึ่งก็คือ จี7 บวกรัสเซีย) ที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายนนี้

จี7 ยังให้คำมั่นสนับสนุนทางการเงินแก่ยูเครน โดยที่อาจมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นแม่งาน

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอินทรีเตือนมอสโกตรงไปตรงมาว่า อาจเสียที่นั่งใน จี8 จาก “พฤติกรรมก้าวร้าวในยูเครน” ทั้งนี้ เคร์รีมีกำหนดเดินทางไปกรุงเคียฟเพื่อพบกับผู้นำใหม่ของยูเครนในวันอังคาร (4)

วอชิงตันสำทับว่า ต้องการให้คณะเจ้าหน้าที่จากองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เข้าไปประจำสังเกตการณ์ในยูเครนทันที และประธานโอเอสซีอีขานรับว่า อยากให้คณะเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ “เหตุการณ์” ในยูเครน

นอกจากนี้ พันธมิตรตะวันตกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังต้องการส่งคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติไปยังยูเครน ควบคู่ไปกับการเปิดเจรจาตรงกับมอสโก

ทว่า รัสเซียไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอทั้งหมดนี้แต่อย่างใด

วิกฤตบนพื้นที่ชายขอบด้านตะวันออกของยุโรปคราวนี้ เสี่ยงที่จะระเบิดกลายเป็นการทดสอบสัมพันธภาพระหว่างมอสโกกับตะวันตกครั้งใหญ่ที่สุดภายหลังยุคสงครามเย็น โดยขณะนี้แหลมไครเมียที่กองทัพเรือรัสเซียภาคทะเลดำประจำการมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 กำลังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซียตลอดจนกลุ่มนักรบท้องถิ่นที่สนับสนุนมอสโกเกือบสมบูรณ์แล้ว
กองกำลังติดอาวุธสวมชุดลายพรางของทหาร ตบเท้าเข้าปิดกั้นช่องทางเข้าออกของค่ายกองกำลังรักษาชายแดนยูเครนแห่งหนึ่ง ในบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองแหลมไครเมีย เมื่อวันอาทิตย์ (2) ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่าเวลานี้รัสเซียได้เข้ายึดครองแหลมไครเมียเอาไว้ในทางพฤตินัยแล้ว
ในวันจันทร์ (3) กองกำลังที่สนับสนุนรัสเซียได้เข้าควบคุมท่าเรือเฟอร์รีทางตะวันออกสุดของแหลมไครเมียในเมืองเคิร์ช ซึ่งเป็นจุดออกเรือที่มุ่งหน้าสู่รัสเซีย ตอกย้ำความกังวลว่า มอสโกอาจส่งทหารเข้าสู่ทะเลดำเพิ่มเติมต่อไปอีก นอกจากนั้นรัสเซียยังส่งเรือเข้าไป ตลอดจนแล่นรอบๆ เมืองท่า เซวาสโตโปล อันเป็นฐานทัพเรือใหญ่ของแดนหมีขาวบนแหลมไครเมีย อีกทั้งเริ่มส่งยานยนต์หุ้มเกราะไปประจำใกล้ท่าเรือเฟอร์รีในช่องแคบเคิร์ชในฝั่งของตัวเอง โดยช่องแคบนี้กั้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน และเชื่อมต่อทะเลดำกับทะเลอาซอฟ

อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครนยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ว่า ยูเครนอยู่บนขอบเหวของความหายนะ และว่า การบุกรุกใดๆ ของรัสเซียถือเป็น “สงคราม”

รัฐบาลใหม่ยูเครนพยายามกระชับอำนาจเพื่อรับมือความก้าวร้าวจากเครมลิน ด้วยการแต่งตั้งผู้ว่าการใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ทางตะวันออกที่สนับสนุนรัสเซีย, ขอการสนับสนุนจากนักธุรกิจในประเทศ, และปลดผู้บัญชาการกองทัพเรือ เดนิส เบเรซอฟสกี ที่แปรพักตร์ไปเข้าข้างรัฐบาลโปรมอสโกในไครเมีย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ยูเครนอาจพบศึกหนักหากความขัดแย้งลุกลามออกไป เนื่องจากรัสเซียนั้นมีทหารถึง 845,000 คน ขณะที่ยูเครนมีเพียง 130,000 คน โดยที่ครึ่งหนึ่งเป็นทหารเกณฑ์
กระนั้น แมทธิว คลีเมนส์ จากเจนส์ อินเทลลิเจนซ์ รีวิว ตั้งข้อสังเกตว่า หากกองทัพยูเครนยังสมัครสมานสามัคคี ก็มีโอกาสอยู่บ้างที่จะยันรัสเซียเอาไว้ ในสถานการณ์การสู้รบเต็มรูปแบบที่ยืดเยื้อ

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน นั้น ยืนกรานว่า มีหน้าที่ปกป้องประชาชนผู้พูดภาษารัสเซียในไครเมียและในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน จากกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่สนับสนุนตะวันตก เครมลินยังชิงชังรัฐบาลใหม่ในเคียฟที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ภายหลังพวกเขาปลดวิกเตอร์ ยานูโควิช พันธมิตรสำคัญของมอสโกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนปลายเดือนที่แล้ว โดยยืนยันว่า การปลดดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญของยูเครน

ความมั่นใจของปูตินได้รับการสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวยูเครน 46 ล้านคนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพื้นที่ทางตะวันตกต้องการกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่พื้นที่ทางตะวันออกและใต้ เช่น ไครเมีย ต้องการการสนับสนุนจากรัสเซีย

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้จีนเป็นพวก โดยกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวแถลงว่า เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ เจ้ากระทรวง ได้หารือทางโทรศัพท์กับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศปักกิ่ง ที่แสดงจุดยืนร่วมกันในสถานการณ์นี้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน ได้ดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นกว่า 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันจันทร์ (3) ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดเปิดทำการ นับแต่ที่วุฒิสภารัสเซียอนุมัติให้ส่งกำลังเข้าสู่ยูเครนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1)

ตรงข้ามกับค่าเงินรูเบิลของรัสเซียรูดดิ่งทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบดอลลาร์ และลดลง 1% เมื่อเทียบยูโร กระทั่งธนาคารกลางรัสเซียต้องเข้าแทรกแซงด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานจาก 5.50% เป็น 7%
กำลังโหลดความคิดเห็น