xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาลดขนาด ‘กองทัพ’ ครั้งใหญ่สุด หมดยุคศึกยืดเยื้อ-สะท้อนงบฝืดเคือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนภูมิที่ได้จาก สถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (IISS) เปรียบเทียบงบประมาณกลาโหมประจำปี 2013 ของ 15 ประเทศที่ใช้จ่ายด้านนี้สูงที่สุดของโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าของสหรัฐฯสูง
เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) วางแผนลดขนาดกองทัพอเมริกันครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีขนาดเล็กที่สุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญภายหลังช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษของสงครามภาคพื้นดินขนาดใหญ่ในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนเพื่อให้สอดรับกับมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในปัจจุบัน

ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ว่า ถึงเวลาแล้วในการ “รีเซต” กองทัพสหรัฐฯเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ โดยจะมีการลดกำลังทหารประจำการจากระดับ 520,000 คนในปัจจุบัน ให้เหลือ 440,000-450,000 คน เนื่องจากภายหลังสงครามในอิรักและในอัฟกานิสถาน ผู้นำทางทหารของสหรัฐฯไม่มีแผนปฏิบัติการขนาดใหญ่และยาวนานอีกต่อไป

นอกจากนั้น เพนตากอนยังเล็งลดจำนวนกองหนุนและกองกำลังรักษาดินแดนลง 5% แต่เพิ่มกำลังพลหน่วยปฏิบัติการพิเศษจาก 66,000 คน เป็น 69,700 คน

หากได้รับอนุมัติจากรัฐสภา เพนตากอนจะเริ่มดำเนินการเพื่อลดขนาดกำลังพลสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1940 ก่อนที่กองทัพอเมริกันจะขยายกำลังพลจำนวนมากเมื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสที่ไม่เปิดเผยนามเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า การเสนอลดขนาดกองทัพลง 13% นี้ จะดำเนินการภายในปี 2017

เฮเกลยังระบุในการปราศรัยคราวนี้ว่า การลดขนาดกองทัพเช่นนี้ถือเป็นการสะท้อนการถอนตัวจากสงครามภาคพื้นดินที่ดำเนินมาตลอด 13 ปีที่ผ่านมาอย่างสมบูรณ์ โดยเกิดขึ้นท่ามกลางความกดดันทางการคลัง และภายหลังปฏิบัติการต่อต้านการก่อความรุนแรงที่ยาวนานหลายปีที่ส่งผลให้กำลังพลของสหรัฐฯ เพิ่มสูงสุดเป็นกว่า 566,000 คนในปี 2010

ภายหลังถอนกำลังจากอิรักในปี 2011 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ให้คำมั่นว่า จะยุติบทบาทในการรบในอัฟกานิสถานภายในสิ้นปีนี้

นอกจากลดกำลังพลแล้ว เพนตากอนยังมีแผนปลดประจำการเครื่องบินเก่าบางรุ่น อาทิ เอ-10 “พิฆาตรถถัง” ตลอดจนเครื่องบินสอดแนม ยู-2 ซึ่งใช้งานกันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1950

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯบางคนแสดงความเห็นด้วยกับการเลิกใช้ เอ-10 ขณะที่พวกผู้บังคับบัญชาทหารต้องการให้ลงทุนในเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบไฮเทครุ่นใหม่ๆ อย่าง เอฟ-35 ตลอดจนอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) แบบตรวจการณ์รุ่น “โกลเดน ฮอว์ก”

การลดขนาดกองทัพคราวนี้ ยังหมายความถึงการลดขนาดกองเรือสู้รบชายฝั่ง (LCS) แบบใหม่ของกองทัพเรืออีกด้วย โดยเรือรบขนาดเล็กซึ่งออกแบบเพื่อใช้ปฏิบัติการได้หลายหลากภารกิจในบริเวณเขตน้ำตื้นเหล่านี้ กำลังถูกตั้งคำถามในเรื่องความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้ของมัน
ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ว่า ถึงเวลาแล้วในการ “รีเซ็ต” กองทัพสหรัฐฯเพื่อเข้าสู่ยุคให
ทั้งนี้ตามแผนการเดิมที่กำหนดไว้ จะให้ต่อเรือ LCS รวม 52 ลำ แผนการใหม่จะตัดเหลือเพียง 32 ลำ อีกทั้งกำหนดให้กองทัพเรือศึกษาเพื่อพัฒนาเรือทำนองเดียวกันนี้แต่สามารถติดตั้งอาวุธขนาดหนักยิ่งขึ้นและมีเขี้ยวเล็บในการป้องกันเพิ่มสูงขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เฮเกล เผยในคราวนี้ด้วยว่า จะต้องมีการปิดฐานทัพที่ตั้งอยู่ในอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนต้องปฏิรูประบบสวัสดิการทหาร โดยชะลอการขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการทหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณของเพนตากอน ทั้งนี้เรื่องการปิดฐานทัพในสหรัฐฯหรือการชะลอการขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการทหาร เป็นประเด็นที่จะต้องถูกสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยคัดค้านอย่างแน่นอน เพราะกระทบกระเทือนฐานเสียงของพวกเขาโดยตรง

อย่างไรก็ดี ทางด้าน เท็ด แฮร์ริสัน นักวิเคราะห์งบประมาณกลาโหมของกลุ่มคลังสมอง “เซนเตอร์ ฟอร์ สเตรทเทจิก แอนด์ บัดเจ็ตทารี แอสเสสเมนต์ส” มองว่า เพนตากอนเดินมาถูกทางแล้วในการปฏิรูประบบบำนาญทหาร และรักษาศรัทธาในหมู่ทหารด้วยการทำให้มั่นใจว่า กองทัพอเมริกันยังคงเป็นกองกำลังที่มีทักษะและอาวุธยุทโธปกรณ์ดีที่สุดในโลก กระนั้นเขาก็เห็นว่า แผนการเหล่านี้คงจะได้รับการต่อต้านจากรัฐสภา

ขณะที่ปฏิกิริยาแรกๆ ของบรรดาสมาชิกรัฐสภาก็ออกมาในทางคัดค้านตามคาด เป็นต้นว่า รอย บลันต์ สมาชิกคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกัน แสดงความเห็นว่า ข้อเสนอของเพนตากอนเป็นอันตรายต่อการเตรียมพร้อมทางทหารของสหรัฐฯ

แต่เฮเกลกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อเมริกาจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากการลดงบประมาณ ซึ่งท้าทายให้เพนตากอนต้องจัดเตรียมกำลังพลที่มีขนาดเล็กลงแต่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี เพื่อรับมือกับศัตรูและความเสี่ยงต่างๆ ขณะที่มหาอำนาจอื่นๆ ยังคงเดินหน้ายกระดับแสนยานุภาพให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

นายใหญ่เพนตากอน สำทับว่า ถึงแม้จากการลดขนาด กองทัพสหรัฐฯจะไม่สามารถออกศึกใน 2 สมรภูมิพร้อมๆ กันได้อีกแล้ว แต่อเมริกายังสามารถสู้รบกับศัตรูในภูมิภาคหนึ่ง ควบคู่กับให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศและทางทะเลในอีกภูมิภาคได้

หลายปีที่ผ่านมา เพนตากอนวางแผนการทางทหาร โดยมุ่งสร้างความมั่นใจว่า กองทัพสามารถต่อสู้ในศึกใหญ่สองสมรภูมิพร้อมๆ กัน ทว่า หลักนิยมนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

นอกจากนั้น แม้ลดขนาดกำลังพลลง แต่กองทัพอเมริกันยังคงเป็นหนึ่งในกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และงบประมาณทางทหารของแดนอินทรีก็มีมูลค่ามากมายกว่าประเทศอื่นๆ หลายเท่า

ทั้งนี้ งบประมาณการทหารของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัว หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 แต่เริ่มลดลงเมื่อรัฐสภากดดันให้รัฐบาลตัดการใช้จ่าย

ภายใต้ข้อตกลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อหลีกเลี่ยงการลดการใช้จ่ายอัตโนมัติ กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบ 31,000 ล้านดอลลาร์ในปีปัจจุบัน และ 45,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 ทำให้งบประมาณในปี 2015 เหลืออยู่ที่ 496,000 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น