xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:เอเชียร้อนระอุ! หลังญี่ปุ่นปรับ “ยุทธศาสตร์ใหม่” เสริมเขี้ยวเล็บกลาโหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่อนุมัติในวันอังคาร (17 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ต่อแผนยุทธศาสตร์ใหม่ทางด้านการทหารรวม 2 ฉบับ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลแดนปลาดิบสามารถใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหม เพิ่มขึ้นอีก 5เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะต่อประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่กำลังร้อนระอุ

แผนยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการทหารทั้ง 2 ฉบับล่าสุดของญี่ปุ่นซึ่งครอบคลุมถึงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สุดล้ำอย่าง “โดรน” หรืออากาศยานรบแบบไร้นักบินเป็นครั้งแรกถูกมองจากนักวิเคราะห์ทั่วเอเชียในทันทีว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลโตเกียวภายใต้การนำของ “ชินโซ อาเบะ”นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยว ในการเสริมสร้างบทบาทของแดนปลาดิบในการรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศ ในยุคที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังเร่งแผ่ขยายอิทธิพลของตนอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือก็กำลังมีพฤติกรรมที่คาดเดาได้ยากยิ่ง หลังผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน “สวมบทโหด” กระชับอำนาจของตน ด้วยการจับผู้อาวุโสที่ทรงอำนาจหลายคนในกรุงเปียงยาง ที่รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของตัวเองไปประหารชีวิต

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ใหม่ของญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 2014-2019 นี้ ยังกำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางด้านการทหารที่สำคัญสูงสุดของญี่ปุ่น โยกจากทางด้านเหนือของประเทศซึ่งอยู่ประชิดกับรัสเซีย มาเป็นพื้นที่ด้านตะวันตกและด้านใต้ของประเทศ ซึ่งครอบคลุมบรรดาหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกที่ทางรัฐบาลโตเกียวและปักกิ่งกำลังมีข้อพิพาทแย่งชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะต่างๆ อยู่

นอกจากยุทธศาสตร์ด้านการทหารใหม่นี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลจากการผลักดันของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ที่ต้องการเพิ่มบทบาททางการทหารของญี่ปุ่นในเวทีโลกแล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักต่างลงความเห็นว่า ยุทธศาสตร์และแผนกลาโหมใหม่ของญี่ปุ่นดูจะมีความสอดคล้องกับดุลอำนาจของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปรไปตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดาชาติเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ รวมถึง ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังคงมีความหวั่นวิตกว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ที่รัฐบาลอาเบะผลักดันจนสุดตัวนี้ อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมละทิ้งจุดยืนดั้งเดิมของตัวเองในการจำกัดบทบาทกองทัพแดนปลาดิบ ที่มีสถานะเป็นเพียงกองกำลังป้องกันตนเอง (Japan Self-Defense Forces : JSDF) ตามรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นภายหลังจากที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัยในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2


ด้านนายกรัฐมนตรีอาเบะ ในวัย 59 ปี ซึ่งกลับเข้ามาครองอำนาจเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังเคยครองอำนาจมาแล้วระหว่างปี 2006-2007 ยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว จะทำให้กองทัพญี่ปุ่นมีขีดความสามารถที่สูงขึ้นในการแบกรับความรับผิดชอบต่างๆ ในเวทีโลก โดยอาเบะกล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกิดขึ้นโดยใช้คำว่า “ลัทธิสันตินิยมเชิงรุก” ซึ่งเป็นการนำเอาหลักการสันติ มาผูกเข้ากับ การดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแบบเชิงรุก ที่ทำเอาหลายฝ่ายถึงกับงุนงงว่า มันจะดำเนินไปด้วยกันได้อย่างไร?

ในอีกด้านหนึ่ง ยุทธศาสตร์ใหม่ของญี่ปุ่นยังหมายรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงาน “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” ในรูปแบบที่แทบจะเรียกได้ว่า “ถอดแบบเป๊ะ” มาจากองค์กร National Security Agency (NSA) ของสหรัฐฯ ที่จะมีการรวมศูนย์แห่งอำนาจในการตัดสินใจทางด้านความมั่นคงและการทหาร เอาไว้ในมือของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในโตเกียวเพียงไม่กี่ชีวิต

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วง 5 ปีตั้งแต่ ค.ศ.2014 จนถึงปี ค.ศ. 2019 ทางรัฐบาลโตเกียวมีแผนทุ่มงบประมาณมหาศาลในวงเงินไม่ต่ำกว่า 247,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8 ล้านล้านบาท) สำหรับจัดซื้อ “โกลบอล ฮอว์ค” หรือ โดรนสำหรับตรวจการณ์ 3 ลำ , เครื่องบินขับไล่ล่องหน สเตลธ์ เอฟ-35 เอ รวม 28 ลำ , เครื่องบินรบ “ออสเปรย์” ซึ่งสามารถบินขึ้น-ลงในทางดิ่งจำนวน 17 ลำ, ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธเอจิส อันเกรียงไกรอีก 2 ชุด ไม่รวมถึงเรือดำน้ำ เรือพิฆาต และพาหนะสงครามสะเทินน้ำสะเทินบก อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณทางทหารของญี่ปุ่นที่คิดเป็นเงินไทยราว “8 ล้านล้านบาท” ดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่ปรับสูงขึ้นราว 5 เปอร์เซ็นต์จากแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีฉบับเดิมที่กำลังจะหมดอายุในสิ้นปี 2013 นี้

หากพิจารณาในมุมมองของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันแล้ว การขยับตัวล่าสุดในการเสริมเขี้ยวเล็บด้านการทหารและความมั่นคงแบบขนานใหญ่ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องของจีนและ “ความเอาแน่เอานอนไม่ได้” ในกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง รวมถึง ความไม่ชัดเจนที่ว่า สหรัฐฯที่เป็นพันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่นจะสานต่อนโยบาย “Pivot in Asia” ที่หยุดชะงักไปดื้อๆหรือไม่

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น กำลังสร้างความไม่สบายใจให้กับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก ที่ยังไม่ลืมบทเรียนอันแสนเจ็บปวดจากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกรในอดีต รวมถึง ประเด็นที่ว่าการขยับตัวเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บของญี่ปุ่นครั้งนี้ ย่อมมีผลให้ความขัดแย้งที่คุกรุ่นในการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพิพาทต่างๆ ในภูมิภาค ทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก





กำลังโหลดความคิดเห็น