xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ไวรัส MERS ที่แพร่ระบาดในตะวันออกกลางอาจมี “อูฐ” เป็นพาหะแพร่เชื้อสู่มนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นักวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ตะวันออกกลาง (MERS) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 70 รายในโลกอาหรับมีการแพร่ระบาดใน “อูฐ” และอาจติดต่อสู่มนุษย์ได้

ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไวรัส MERS ซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน คร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้น 79 รายจากทั้งหมด 182 รายที่ติดเชื้อนับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2012

จนบัดนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังทราบข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับต้นกำเนิด หรือวิธีการที่เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่สู่คน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาโดย เอียน ลิปคิน นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า ไวรัส MERS “แพร่หลายเป็นพิเศษ” ในอูฐ และมีการระบาดมาแล้วอย่างน้อย 20 ปี

“ในบางพื้นที่ของซาอุดีอาระเบีย เราพบว่า 2 ใน 3 ของอูฐอายุน้อยมีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในทางเดินหายใจ” ลิปคิน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า อูฐอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัส MERS สู่มนุษย์”

ลิปคิน และเพื่อนร่วมงานจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ได้ร่วมกับ อับดุลอาซิซ อะลาไกลี จากมหาวิทยาลัยแห่งสมเด็จพระราชาธิบดีสะอูด กรุงริยาด สืบหาต้นตอของเชื้อไวรัส MERS และเผยแพร่ผลการศึกษาลงในวารสาร mBaio ในวันนี้(25)

คณะนักวิจัยได้นำตัวอย่างเลือดและของเหลวจากโพรงจมูกและช่องทวารหนักของอูฐกว่า 200 ตัวในซาอุดีอาระเบียมาทำการศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปีที่แล้ว โดยใช้เทคโนโลยีห้องแลปเคลื่อนที่ ซึ่งก็พบว่ามีสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) โรค MERS และไวรัสที่ยังแอ็กทีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโพรงจมูกของอูฐอายุน้อย

“โดยภาพรวมแล้ว ร้อยละ 74 ของอูฐทั่วประเทศที่เราไปเก็บตัวอย่างมามีสารแอนติบอดีต่อต้านไวรัส MERS-CoV” ผลวิจัยระบุ
อูฐโหนกเดียว (dromedary camels) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด
ทีมวิจัยยังได้ศึกษาตัวอย่างเลือดของอูฐโหนกเดียว (dromedary camels) ที่เก็บระหว่างปี 1992-2010 ซึ่งทำให้พบว่าไวรัส MERS เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว

“ไวรัสที่พบในอูฐเหล่านี้เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในผู้ติดเชื้อ” ลิปคิน กล่าว พร้อมเผยว่าอูฐที่พบเชื้อยังคงมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี

ทั้งนี้ หากได้รับการยืนยัน MERS จะไม่ใช่ไวรัสเพียงชนิดเดียวที่แพร่จากอูฐสู่มนุษย์ได้ โดยก่อนหน้านี้มีการพบเชื้อไวรัส ริฟท์ แวลลีย์ (Rift Valley fever) ซึ่งก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์มาแล้ว

ผู้ติดเชื้อไวรัส MERS ส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย และพบบ้างประปรายในจอร์แดน, กาตาร์, ตูนิเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ก่อนหน้านี้ มีการพบผู้ป่วยในฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และอังกฤษ ทว่าทุกรายล้วนเคยมีประวัติเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น