รอยเตอร์ - แหล่งข่าววงในเผย “เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์” เล็งขายหุ้น “ชิน คอร์ป” มูลค่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ “สิงคโปร์ เทเลคอม” หรือ “สิงเทล” อันเป็นกิจการในเครือ ตามแผนการซึ่งจะรวมทรัพย์สินด้านโทรคมนาคมให้อยู่ในที่เดียวกัน อีกทั้งทำให้บริษัทลูกรายนี้ยิ่งผงาดในฐานะกิจการยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมนี้ของภูมิภาค โดยที่มีการหารือกันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่มีอันต้องสะดุดลงจากสถานการณ์การเมืองในไทย
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ได้ทราบเรื่องนี้จากแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ให้ออกนามเนื่องจากเป็นข้อมูลวงในที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว น่าจะเป็นไปตามแผนการของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ กิจการการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่บริหารทรัพย์สินกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องการจัดบริษัทต่างๆ ในพอร์ตลงทุนที่อยู่อุตสาหกรรมเดียวกันให้เข้าเป็นกลุ่มกิจการเดียวกัน ทั้งนี้ เทมาเส็ก ถือหุ้นชิน คอร์ป โดยผ่านบริษัทในเครือรายหนึ่ง อยู่ 41.6% และการเอาชิน คอร์ป ไปอยู่กับสิงเทลเต็มตัว ถือเป็นก้าวแรกในการรวมศูนย์พอร์ตกิจการด้านโทรคมนาคม อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะทำให้สิงคโปร์ เทเลคอม กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาค
หุ้นที่เทมาเส็กมีอยู่ในชิน คอร์ป บริษัทซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นั้น คิดเป็นมูลค่าตลาดปัจจุบันจะอยู่ที่ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ราคาหุ้นชิน คอร์ป ขณะนี้ ซื้อขายกันในระดับราคาสูงกว่าตอนที่เทมาเส็กซื้อมาเมื่อปี 2006 ประมาณกว่า 50% โดยในครั้งนั้นเทมาเส็กซื้อผ่านกิจการร่วมค้าที่ตนเองเป็นผู้นำ และมี สุรินทร์ อุพัทธกุล นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน รวมอยู่ด้วย โดยซื้อหุ้นชิน คอร์ป มาทั้งหมด 96% ในราคา 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ชิน คอร์ป นั้น ปัจจุบันถือหุ้นในแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัทโทรคมนาคมใหญ่สุดในไทย ในสัดส่วน 40.5% ขณะที่สิงเทลก็ถือหุ้นเอไอเอสอยู่แล้ว 23% ดังนั้น หากซื้อชินคอร์ป ทางสิงเทลก็จะมีสถานะมั่นคงยิ่งขึ้นในตลาดไทย และสามารถใช้เป็นตัวชดเชยภาวะการเติบโตชะลอตัวในพวกตลาดที่อิ่มตัวแล้วอย่างเช่น ออสเตรเลีย
คริส เลน นักวิเคราะห์ตลาดโทรคมนาคมเอเชีย-แปซิฟิกของแซนฟอร์ด ซี.เบิร์นสไตน์ ในฮ่องกง ระบุว่า ผู้บริหารสิงเทลมีส่วนร่วมในการดำเนินงานแบบวันต่อวันของเอไอเอสอยู่แล้วในขณะนี้ และการซื้อหุ้นชิน คอร์ปจากเทมาเส็ก คือการป้องกันความเป็นไปได้ที่อาจมีบริษัทโทรคมนาคมรายอื่นๆ เข้าไปถือหุ้นจำนวนมากในเอไอเอส
ไทยนั้นเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่สิงเทลเข้าไปทำธุรกิจ โดยภาพรวมแล้ว สิงเทลเวลานี้มียอดผู้บอกรับบริการโทรศัพท์อยู่มากกว่า 500 ล้านคน และรายได้หลักของบริษัทกว่า 3 ใน 4 ทีเดียวมาจากนอกสิงคโปร์ ทั้งนี้สิงเทลมียอดกระแสเงินสดถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ปัจจุบัน สิงเทลกำลังพยายามปรับปรุงยกเครื่องพอร์ตการลงทุนด้านโทรคมนาคมของตน โดยที่นอกจาก ชิน คอร์ป ในไทยแล้ว สิงเทลยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทออปตัสของออสเตรเลีย, ภารตี แอร์เทล ในอินเดีย, โกล เทเลคอมในฟิลิปปินส์ และพีที เทลคอมเซลในอินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้ว สิงเทลพยายามขายธุรกิจดาวเทียมในออสเตรเลีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เกี่ยวกับข่าวการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ป ครั้งนี้นั้น ทั้งเทมาเส็ก, สิงเทล และเจ้าหน้าที่ชิน คอร์ปในไทยต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
ขณะที่รอยเตอร์ระบุว่า การชะลอการหารือเรื่องซื้อขายหุ้นชินคอร์ป นับเป็นแนวโน้มการทำธุรกรรมในไทยครั้งที่ 2 ที่มีอันต้องสะดุดลงจากสถานการณ์ทางการเมือง ก่อนหน้านี้รอยเตอร์เองเคยรายงานว่า แผนการที่ไอเอ็นจี กรุ๊ป จะขายหุ้นธนาคารทหารไทยที่ตนถือครองอยู่จำนวน 31% ก็มีอันต้องระงับลงเช่นเดียวกัน
ชิน คอร์ป นั้น ถือเป็นบริษัทที่มีฐานะความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ในประเทศไทย เทมาเส็กและสุรินทร์ รวมทั้งนักลงทุนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันซื้อหุ้น 96% ในชิน คอร์ป ในปี 2006 ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ชื่อว่า ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ทว่าแม้ซีดาร์ได้ขายหุ้นชิน คอร์ป ที่ถือครองอยู่ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่เทมาเส็กยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของชินผ่านบริษัทในเครือชื่อว่า แอสเพน
การเปลี่ยนตัวเจ้าของชิน คอร์ป เมื่อปี 2006 นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่า มีการใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหุ้นและเลี่ยงภาษี หลังจากที่ตระกูลชินวัตรและพวกพ้องได้เงินจากการขายหุ้นโดยไม่ต้องหักภาษีถึง 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตอนนั้นทักษิณยืนยันว่า การขายหุ้นชินถูกต้องตามกฎหมายของไทยทุกประการ เนื่องจากการขายหุ้นผ่านตลาดหุ้นไม่จำเป็นต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไม่พอใจได้ลุกขึ้นประท้วงอย่างกว้างขวาง และสุดท้ายนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจจากทักษิณในเดือนกันยายนปี 2006