xs
xsm
sm
md
lg

“จุติ” ซัดรัฐแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจเอื้อพวกพ้อง-ชินคอร์ป ปูดหลาน “อาปู” ฟันปันผลบ้านหลังแรก 3 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุติ ไกฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ฝ่ายค้านอัดนายกฯ ไม่โปร่งใส แต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจเอาอดีตเพื่อนร่วมรุ่นทักษิณ อดีตผู้บริหารชินคอร์ป-เอไอเอส อธิการบดี ม.ชินวัตรนั่งเก้าอี้ เล็งสอยที่ดิน 6 แปลงหารายได้ อัดวิสัยทัศน์เพื่อพวกพ้อง “บิ๊กแจ๊ด” ได้เก้าอี้ท่าเรือเพราะน้องสาวให้ ปูดหลานนายกฯ ฟันปันผลบ้านหลังแรก 3 พันล้าน “โต้ง” ดีดดิ้นอ้างชินวัตรขายหุ้นไปแล้ว “เบญจา” อ้างแต่งตั้งตามผู้ถือหุ้น

วันนี้ (27 พ.ย.) นายจุติ ไกฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายโจมตีถึงความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลว่า รัฐวิสาหกิจของประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่มีรัฐวิสาหกิจอยู่ 3 กิจการที่มีการแต่งตั้งกรรมการไม่โปร่งใส ได้แก่ โทรคมนาคม พลังงาน และธนาคาร เพราะพบว่ามีการตั้งอดีตนายทหารที่เป็นเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลที่เคยผ่านการบริหารบริษัทในเครือชินคอร์ป เข้าไปเป็นกรรมการจำนวนมาก ที่สำคัญยังมีกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่เข้าไปมีตำแหน่งด้วย อย่างกลุ่มนักกฎหมายของครอบครัวชินวัตร กลุ่มอดีตข้าราชการที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล รวมไปถึงอดีต ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จึงถือเป็นพฤติกรรมที่การแจกจ่ายตำแหน่ง

อีกทั้งกรณีของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีการแต่งตั้งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุดที่ไม่สั่งฟ้องคดีการหลีกเลี่ยงภาษีของครอบครัวชินวัตรต่อศาลฎีกา นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระในธนาคารกรุงไทยด้วย ซึ่งจะมีที่กินราชการอีก 8 แปลง เกือบล้านล้านบาท ตนสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง อีเอ็นเอไม่สะอาด ปล่อยมาได้อย่างไร พนักงานก็ต้องเกรงใจเพราะเป็นบอร์ดกรุงไทย ตนตำหนิคนแต่งตั้ง ใช้สมองส่วนไหนคิด เช่นเดียวกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่มีนางอาภัททรา ศฤงคารินกุล เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของธนาคาร โดยในอดีตเคยเป็นผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สั่งมายังรองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร ไปดูทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งว่าจะมีที่ไหนบ้างที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับรัฐได้ โดยที่ดินของรัฐวิสาหกิจที่มีสำรวจประกอบด้วย 1. ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มักกะสัน 498 ไร่ มูลค่า 4 แสนล้านบาท และสถานีแม่น้ำช่องนนทรี 270 ไร่ 2. ที่ดินของ อสมท ที่ห้วยขวาง 50 ไร่ มูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน อสมท มีนายสุธรรม แสงประทุม อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย เป็นประธาน และเตรียมสร้างอาคารสูง 59 ชั้นพื้นที่ใช้สอย 3 หมื่นตารางเมตร 3. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริเวณสรรพาวุธ เขตบางนา 131 ไร่ มูลค่า 2 พันล้านบาท มีส่วนดีคือสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ได้เป็นพิเศษ 4. ที่ดินของอู่ต่อเรือกรุงเทพ ของกองทัพเรือ เขตยานนาวา 5. ที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริเวณคลองเตย 6.ที่ดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ศูนย์ซ่อมบำรุง พระราม 9 ประมาณ 1 พันไร่ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมนายกฯ ที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์ถึงได้สนใจเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งคิดว่าเรื่องนี้นายกฯ มีวิสัยทัศน์ แต่เป็นวิสัยทัศน์เพื่อพวกพ้องหรือเพื่อประชาชน

“การท่าเรือแห่งประเทศไทย มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน ซึ่งนอกจากจะมีวันนี้เพราะพี่ให้แล้ว ยังมีวันนี้เพราะน้องของพี่ให้เช่นกัน เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นคนแต่งตั้ง ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้สมัคร กทม.ของพรรคเพื่อไทยมาเป็นผู้ว่าฯ ทุกอย่างผมเกรงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน วันนี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มจากที่นายกฯ ไปกู้ แต่หลานนายกฯ ที่ถือหุ้นอสังหาฯ มีเงินปันผลจากผลพวงของนโยบายบ้านหลังแรก เพิ่มถึง 3 พันล้านบาท” นายจุติกล่าว

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สามารถให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งดำเนินการได้ภายในกรอบของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง แต่ถ้ามีมูลค่าเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดอาจจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกลั่นกรองและให้เกิดความรอบคอบ เพราะมิฉะนั้นแล้วรัฐวิสาหกิจจะให้ความสำคัญเฉพาะการบริหารอสังหาริมทรัพย์จนกระทบต่อการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบของรัฐวิสาหกิจในช่วงรัฐบาลชุดนี้มีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านบาทมาตลอด ซึ่งมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มบริษัทชินคอร์ป เท่าที่ตนทราบครอบครัวของนายกฯ และสมาชิกครอบครัวได้ขายหุ้นไปแล้ว และการเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตรคงไม่ได้ทำให้เป็นรัฐมนตรีคลังทุกคน

นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง กล่าวว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมจะต้องเป็นไปตามมติของผู้ถือหุ้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดังกล่าวมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนแล้ว เช่นเดียวกับกลุ่มพลังงานที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น การแต่งตั้งกรรมการจะต้องเป็นไปตามผู้ถือหุ้นเช่นกัน ส่วนกรณีของธนาคารกรุงไทยนั้นก็ถือว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้การแต่งตั้งกรรมการต้องเป็นไปตามผู้ถือหุ้นเช่นกัน และจะต้องผ่านการอนุมัติและการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น