ผ่าประเด็นร้อน
มติครม.เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องที่เป็นข่าวกรอบเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าพิจารณาเนื้อหาแล้วเป็นเรื่องใหญ่สำหรับแผ่นดิน และทรัพย์สินของชาติเป็นอย่างยิ่ง
เพราะมันส่อให้เห็นชัดเจนว่า “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” กำลังจะแปรทรัพย์สินชาติไปเป็นทุน พร้อมข้ออ้างเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของบรรดารัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน แต่มีที่ดินแปลงงาม ซึ่งบรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์น้ำลายไหลย้อยอยากได้กันมานานแล้ว
ไม่เชื่อก็ลองถาม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ดู เพราะในฐานะเจ้าแม่วงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารเอสซีแอสเสทมาก่อน ย่อมรู้ดีว่าที่ดินบริเวณไหนเหมาะสำหรับทำธุรกิจ เท่าๆ กับที่รู้ว่าที่ดินแปลงน้อยเอาไว้แสวงหาความสุขอย่างไร!
ดังนั้น ตั้งแต่ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศเราจึงเห็นนโยบายของรัฐบาลหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง โดยเอาผลประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ดินมาเป็นเหตุผลรองรับ ทำเอานักเศรษฐศาสตร์ถึงกับอึ้มกิมกี่ที่มีการคำนวณเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความคุ้มค่าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งกระทรวงคมนาคมถูกไล่จนมุม ยอมรับว่ารถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ 50 ปี 5.16 ล้านล้านบาทนั้น จะขาดทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเข้าไปอุดหนุน
แล้วยังไง...มันจะคุ้มค่าสำหรับประเทศและประชาชนตรงไหน กับการได้รถไฟความเร็วสูงขนผักสดแลกกับการปั่นราคาที่ดินรายทางให้สูงขึ้นจากข้อมูลวงใน ชนิดแค่นอนก็ได้ข่าวแล้ว!
ลองไล่เรียงการบริหารของยิ่งลักษณ์จะพบว่า มีการทุจริตเชิงนโยบายไม่ต่างจากยุคพี่ชายนักโทษ เพียงแต่เปลี่ยนประเภทธุรกิจเท่านั้น
ในยุคทักษิณ มุ่งที่การแก้สัมปทานเกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจสัมปทานของตัวเอง โดยหากพิจารณาจากคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของนักโทษหนีคดีจะพบว่า ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่แท้จริง และใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น, บริษัท แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยตรง อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น สูงขึ้น รวมทั้งได้ประโยชน์จากเงินปันผลจำนวนดังกล่าว
จึงมีคำพิพากษาให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล จำนวนทั้งสิ้น 46,373,687,454.64 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
จะเห็นได้ว่า พี่ชายใช้นโยบายเอื้อประโยชน์สร้างมูลค่าหุ้นปั่นจนได้กำไรเพิ่มจากมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท พุ่งขึ้นมาเป็น 7.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 60.52 %
ในขณะที่น้องสาวก็ไม่ได้น้อยหน้า เพราะเริ่มต้นขึ้นมาก็ออกนโยบายบ้านหลังแรก เอื้อบริษัทแอสซีแอสเสท โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มวงเงินมูลค่าที่อยู่อาศัยจากเพดานเดิมกำหนดไว้ที่ 3 ล้าน เป็น 5 ล้านบาท ซึ่งบังเอิญว่าอสังหาริมทรัพย์ในเครือของเอสซีแอสเสท มีสิทธิได้รับประโยชน์กว่า 1 พันยูนิต จากเดิมที่หมดสิทธิลุ้นผลประโยชน์ในโครงการนี้ เนื่องจากราคาเกิน 3 ล้านบาท
แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะชี้ว่าเรื่องดังกล่าวมิอาจชี้ได้ว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีบริษัทอื่นได้ประโยชน์ด้วย แต่ก็ไม่พ้นข้อครหาว่า เอสซีแอสเสท ก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งแสนสิริด้วย!
จากนั้นก็เกิดกรณี ว.5โฟร์ซีซั่นส์ ชั้น 7 กับบทสนทนาลับระหว่างเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์กับผู้นำหญิงของไทย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังหาพยานคนที่สามมาแสดงไม่ได้ว่า มีคนอื่นอยู่ด้วยหรือว่า “อยู่กันสองต่อสอง” ที่ชั้น 7 ซึ่งต้องจองห้องพักจึงจะขึ้นไปได้
เรื่องดังกล่าวคาวฉาวโฉ่ไม่ใช่เฉพาะในเชิงศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนมาวางทับท้องให้คนครหาอีกด้วย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลกำลังมีนโยบายเกี่ยวกับการทำฟลัดเวย์ป้องกันน้ำแตก น้ำท่วม ซึ่งหากมีข้อมูลภายใน จาก “ไก่” ก็กลายเป็นพญาอินทรีได้ ด้วยการกว้านซื้อที่ดินดักหน้า ซึ่งเจ้าพ่อแห่งแสนสิริเคยให้สัมภาษณ์ยอมรับด้วยว่า มีการกว้านซื้อที่ดินรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเอาไว้แล้ว
จนเกิดคำถามว่า เศรษฐา ทวีสิน รู้ได้อย่างไรว่าเส้นทางรถไฟจะผ่านทางไหนบ้าง เพราะขนาดชาวบ้านที่จะถูกเวนคืนที่ดินยังไม่รู้เลย
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ยิ่งลักษณ์ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง จัดทำบัญชีทรัพย์สิน เร่งสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนทรัพย์สินและประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดรายงานต่อรัฐบาลโดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้เหตุผลว่า “เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมต่อไป”
และแล้วเวลานั้นก็มาถึง เมื่อเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ได้เห็นทรัพย์สินที่ดินของราชการรัฐวิสาหกิจอันเป็นทรัพย์สินของชาติ แล้วก็นำไปสู่การคำนวณมูลค่าเพื่อเทียบกับหนี้สินที่รัฐบาลนี้กำลังจะสร้างให้กับประเทศและคนไทย โดยที่แทบจะไม่มีสื่อมวลชนติดตามหรือให้ความสนใจในเรื่องที่ยิ่งลักษณ์กำลังคิดขายสมบัติชาติ หรือทำอะไรกับสมบัติชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนตนบ้างหรือไม่
แต่กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เพราะทุกอย่างเริ่มปรากฏให้เห็นสอดรับกันว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ส่อทุจริตเชิงนโยบายไม่แตกต่างจากพี่ชายนักโทษ เพียงแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทนธุรกิจโทรคมนาคมเท่านั้น
คำถามที่ไม่ได้รับคำตอบจากยิ่งลักษณ์ ถึงการจัดสรรงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ว่าด้วย “การตั้งกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อพัฒนาที่ราชพัสดุในเชิงสังคมและพาณิชย์ เพื่อนำรายได้เป็นรายได้ของแผ่นดินมีพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพจำนวน 1 แปลง และจัดสรรงบดำเนินการ 1,500 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดพิกัดที่ชัดเจนว่า ที่ดินที่อ้างว่าจะพัฒนานั้นอยู่ซอกหลืบไหน ของด้ามขวานไทย
กระทั่งล่าสุด ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็มีมติรวบอำนาจการพัฒนาที่ดินของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดไว้ในมือของกิตติรัตน์ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายด้ายนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเพิ่งจะมีการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ผลักดันในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และพัฒนาทรัพย์สิน (ที่ดิน) ของรัฐวิสาหกิจ หรือ กนร. เห็นว่าการให้เช่าที่ดินที่มีระยะเวลาเช่าเกินกว่า 1 ปี ของรัฐวิสาหกิจ ควรมีขอบเขตของการพิจารณาให้เช่าที่ดินที่มีระยะเวลาเช่าเกินกว่า 1 ปี โดยที่ดินที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์และพัฒนาของรัฐวิสาหกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 8 แปลง บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่ดินผืนงามที่บรรดาเจ้าพ่อเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ อยากเข้าไปพัฒนาเพื่อทำเงินทั้งสิ้น
โดยมีการวางแผนดำเนินการอย่างมีระบบ เป็นขั้นเป็นตอนและต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ จักรกฤษฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน เคยให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ ที่พอจะทำให้เห็นเค้าลางของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พยายามจะแปรทรัพย์สินชาติไปเป็นทุนส่วนตัวได้เป็นอย่างดี โดยอ้างว่า
รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้ที่ดินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกิตติรัตน์ มีนโยบายให้กรมธนารักษ์ กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทรัพย์สินของภาครัฐทั้งหมด
จึงได้ผลักดันโครงการนำร่อง (Pilot Project) การจัดการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้วัดยานนาวา ที่มีที่ดินที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา วัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของอู่เรือกรุงเทพ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกองทัพเรือ รวมถึงที่ดินองค์การสะพานปลา (อสป.) ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันใช้เป็นแพปลาและตลาดกลางซื้อขายปลา ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นโซนท่องเที่ยวแทน และยังมีการเตรียมจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์จากภาครัฐ วงเงิน 5,000 ล้านบาทไว้ด้วย
ฟังดูเผินๆ ก็อาจคิดว่าดีเป็นการนำทรัพย์สินที่อยู่เฉยๆ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นวาระซ่อนเร้นที่จะมีเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากการเข้ามาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่สามารถซื้อที่ดินแปลงงามได้ในราคาถูก และยังเตรียมแผนระยะยาวที่จะฮุบที่ดิน 12.5 ล้านไร่ อันเป็นสมบัติของชาติมาทำในเชิงธุรกิจ
โดยรัฐบาลไพร่ไม่เคยพูดถึงการนำที่ดินรัฐวิสาหกิจ หรือราชการมาเอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้มีที่ดินทำกินเพื่อให้ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองเลยนอกจากแนวคิดแบบแม่ค้า ที่ต้องการแสวงหากำไรในเชิงพาณิชย์ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ประเทศชาติ แต่เป็นตระกูลที่กำลังทำมาหากินอยู่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยตอนนี้ นักโทษชายทักษิณ ไว้วางใจให้ลูกเขยไปบริหารงานอยู่
นับเป็นเวรกรรมของประเทศไทย พี่ชายหาประโยชน์จากการปั่นมูลค่าหุ้น น้องสาวเข้ามาหาประโยชน์จากการปั่นที่ดิน แปรทรัพย์สินของชาติ เป็นทุนส่วนตัวของตระกูลและเครือข่ายธุรกิจของตน?