(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Abe tunes up to militant beat
By Nancy Snow
13/02/2014
การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับพวกหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ๆ ในเอเชีย ไม่ใช่แนวทางสำคัญของคณะรัฐบาลชินโซ อาเบะ ในกรุงโตเกียวแต่อย่างใด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มพูนความไว้วางใจกันกับประชาคมระหว่างประเทศ สไตล์ของเขานั้นคือการกระหน่ำตีกลองศึกให้คำรามกึกก้องเข้าไว้มากกว่า ดังมีตัวอย่างให้เห็นจากการที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ และการที่เขาเคารพเลื่อมใสในตัว โนบุซุเกะ คิชิ คุณตาของเขา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
วันนั้นเป็นวันพฤหัสบดีในกรุงโตเกียว เป็นวันถัดจากวันคริสต์มาส ซึ่งในบางชาติบางประเทศเรียกขานกันว่าวัน “บ็อกซิ่ง เดย์” (Boxing Day วันแกะกล่องของขวัญที่ได้รับมาในช่วงคริสต์มาส) ช่วงเวลานี้ของปีซึ่งอยู่ในตอนท้ายๆ ของเดือนธันวาคม ย่อมสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับบรรยากาศอันเฟื่องฟุ้งไปด้วยความร่าเริงและความสุข ถึงแม้แดนอาทิตย์อุทัยไม่ใช่เป็นประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องศาสนาอะไร และแน่นอนทีเดียวว่าไม่ใช่ชาติคริสเตียน แต่ชาวญี่ปุ่นก็ชื่มชอบที่จะหาข้อแก้ตัวสำหรับการได้ออกไปเตร็ดเตร่เที่ยวชมประกายระยิบระยับของแสงไฟที่ประดับประดาตามต้นไม้ และแปลงร่างกลายเป็นนักเสพติดการช็อปปิ้งไม่แพ้คนชาติอื่นๆ
ทว่าในวันบ็อกซิ่งเดย์หลังคริสต์มาสคราวนี้ ความร่าเริงใจกลับค่อยๆ เหือดแห้งหมดสิ้นไป มันละลายหายลับไปไม่ใช่เนื่องจากประเพณีปฏิบัติของการที่ต้องเก็บกวาดจัดเก็บข้าวของลงกล่องให้เรียบร้อยในช่วงสิ้นปีอะไรนักหรอก หากแต่เป็นเพราะความรู้สึกของการถูกโอบล้อมอย่างแน่นหนาจนอึดอัดหดหู่เสียมากกว่า
วันบ็อกซิ่งเดย์ของปี 2013 กลายเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เลือกใช้เพื่อการเปิดตัวอัลบั้มใหม่ ซึ่งควรที่จะขนานนามให้ว่า “อาเบะ โรด” (Abe Road เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนใช้ชื่อนี้ก็เพื่อล้อเลียนและทำให้หวนนึกถึง “แอบบีย์ โรด” Abbey Road อัลบั้มโด่งดังของวง เดอะบีทเทิลส์ - ผู้แปล) อัลบั้มชุดนี้ประกอบด้วยเพลงซิงเกิลอย่างเช่น “Come Apart”, “He Came in through the War Shrine Gate”, และ “Japan Sun King” (เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนตั้งชื่อล้อเลียนเพลง “Come Together”, “She Came In Through the Bathroom Window”, และ “Sun King” ในอัลบั้ม “แอบบีย์ โรด” ของ เดอะบีทเทิลส์ - ผู้แปล) ดนตรีควรที่จะเป็นสไตล์ผสมผสานกันของเสียงดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิม, บทเพลงแห่งสงคราม, และเฮฟวี เมทัล ซึ่งกระหึ่มด้วยเสียงเบสที่กระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย “เทสโทสเตอโรน” (testosterone) ปฏิกิริยาของพวกนักวิจารณ์ต่ออัลบั้ม “อาเบะ โรด” นั้น อยู่ในลักษณะเกรี้ยวกราดไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกัน และเป็นปรปักษ์กันมาแต่ไหนแต่ไรอย่าง จีน และเกาหลี ซึ่งประณามว่ามันเป็นการถอยหลังกลับไปสู่ความก้าวร้าวแห่งยุคสงครามในอดีตของญี่ปุ่น แม้กระทั่งพวกแฟนคลับญี่ปุ่นตัวยงอย่างดิฉันก็ยังรู้สึกเช่นนั้นด้วย เพราะดิฉันนั้นต่อต้านคัดค้านทัศนคติทางการเมืองอย่างใหม่ที่มุ่งเน้นการโอ่อวดชิงดีชิงเด่นของประเทศนี้
เป็นที่คาดหมายได้ว่าพวกปรปักษ์ในภูมิภาคจะต้องฉวยใช้ประโยชน์ในเชิงแนวความคิดอุดมการณ์ทุกๆ อย่างที่ทำได้จากย่างก้าวอันผิดพลาดของแดนอาทิตย์อุทัยนี้ ด้วยการโหมประโคมเรื่องลัทธินิยมเชิดชูความเป็นทหารของญี่ปุ่น (Japanese militarism) ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า จีนเพิ่งกลายเป็นปีศาจร้ายของภูมิภาคนี้ไปหยกๆ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการประกาศใช้ระเบียบการแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defense identification system) เหนือทะเลจีนตะวันออก โดยครอบคลุมถึงพื้นที่หมู่เกาะซึ่งพิพาทช่วงชิงอยู่กับพวกประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่แล้วในวันบ็อกซิ่งเดย์ อาเบะก็กลับขโมยซีนมาจากจีน ด้วยการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) ในกรุงโตเกียว โดยที่ศาลเจ้าซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันมากแห่งนี้ เป็นสถานที่ไว้อาลัยพวกทหารญี่ปุ่นผู้วายชนม์ ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษฐานเป็นอาชญากรสงครามด้วย โตเกียวพยายามแก้ตัวอย่างน้ำขุ่นๆ ว่า การไปยาสุคุนิของอาเบะคราวนี้ เป็นเพียงการไปสักการะผู้เสียชีวิตจากสงครามตามแบบประเพณีภายในประเทศเท่านั้น ทว่าพวกนักวิจารณ์ไม่ได้เอออวยยอมรับคำอธิบายเช่นนี้เลย
สิ่งที่อาเบะและกลุ่มคนวงในของเขาไม่เข้าใจเอาเสียเลยก็คือ เมื่อเป็นคำพูดและการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว มันไม่สามารถแบ่งแยกได้หรอกระหว่างเรื่องภายในประเทศกับเรื่องระหว่างประเทศ พาดหัวในเวลานี้ของสื่อทั้งระดับโลกและภายในญี่ปุ่นเอง ต่างกรีดร้องออกมาอย่างเป็นเสียงเดียวกันว่า ญี่ปุ่นกำลังอยู่ “ในเส้นทางอันตราย” ดังที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เจแปน ไทมส์ (Japan Times) ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2014 เขียนเอาไว้อย่างตำหนิติเตียน (http://www.japantimes.co.jp/opinion/2014/01/27/editorials/abes-dangerous-path/#.UwI5adySyb8)
กระแสคลั่งชาติที่พุ่งสูงปริ๊ดอย่างฉับพลันของญี่ปุ่น กำลังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนต่อภาพลักษณ์แบรนด์แห่งชาติของแดนอาทิตย์อุทัย พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศอย่างวอลล์สตรีทเจอร์นัล บอกว่า ญี่ปุ่นกำลังกระหน่ำตีกลองศึก บอกว่าการไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของอาเบะมีแต่จะทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคยิ่งเลวร้ายลงไปอีก (http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702304483804579281103015121712) หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่างอาซาฮีชิมบุง ระบุว่า อาเบะวินิจฉัยผิดพลาดโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐฯอาจจะใช้ตอบโต้ต่อการกระทำของเขาคราวนี้ (https://ajw.asahi.com/article/behind_news/politics/AJ201312280043) ส่วนหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษกล่าวว่า นโยบาย “ปักหมุด” (pivot) ในเอเชีย-แปซิฟิกของโอบามา กำลังกลายเป็น “เรื่องน่าปวดหัวของนโยบายการต่างประเทศ” แทนที่จะเป็นเสาหลักของนโยบายการต่างประเทศ (http://www.theguardian.com/world/2014/jan/28/obama-china-japan-relations-asia)
**สำหรับอาเบะแล้ว อันดับแรกคือการทหาร**
ในแดนอาทิตย์อุทัยนั้น การตะโกนโห่ร้องสร้างขวัญกำลังใจตอนออกศึกด้วยประโยคที่ว่า “เรากลับมาแล้ว” (We’re back!) ครั้งหนึ่งในอดีตเคยหมายถึงการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เคยย่ำแย่หนักช่วงแพ้สงคราม กลับสามารถเติบโตขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1990 เราอาจจะระบุได้ว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สั่งสมพอกพูนมาอย่างยาวนานเช่นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อกำเนิดหนังสืออันแสดงความภาคภูมิใจในญี่ปุ่นอย่างชนิดไม่ยอมเป็นรองใครๆ อย่างเรื่อง The Japan That Can Say No: Why Japan Will Be First Among Equals. (ญี่ปุ่นที่กล้าพูดว่าไม่เอา: ทำไมญี่ปุ่นจึงจะกลายเป็นที่หนึ่งในบรรดาผู้ที่เท่าเทียมกัน) ของ ชินตาโร อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) สำหรับในทุกวันนี้ ประโยค “เรากลับมาแล้ว” กลับน่าที่จะก่อให้เกิดภาพของอาวุธทันสมัยขึ้นมาในใจ อย่างเช่นพวกอากาศยานไร้นักบินประเภทตรวจการณ์ และยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ดังที่ เจแปน ไทมส์ เตือนไว้ในบทบรรณาธิการฉบับวันที่ 27 มกราคม (http://www.japantimes.co.jp/opinion/2014/01/27/editorials/abes-dangerous-path/#.UwI5adySyb8) ดังนี้:
“ถ้าหากรัฐบาลอาเบะสามารถเดินหน้าไปจนบรรลุเป้าหมายของพวกเขาแล้ว มันก็จะเป็นการแผ้วถางทางให้ญี่ปุ่นเข้าไปพัวพันยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในต่างแดนร่วมกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกับสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นการพลิกผันอย่างสิ้นเชิงจากท่วงท่าพื้นฐานแบบ “การป้องกันที่มุ่งเพื่อการป้องกันจริงๆ เท่านั้น” (defense-only defense) ของญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม ซึ่งกำหนดจัดวางขึ้นมาก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดของการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสงครามเฉกเช่นที่ได้เคยกระทำมาในศตวรรษที่แล้ว อีกทั้งได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าเศร้าสลดทั้งสำหรับภูมิภาคแถบนี้และสำหรับญี่ปุ่นเอง ทั้งนี้ท่วงท่าพื้นฐานแบบ “การป้องกันที่มุ่งเพื่อการป้องกันจริงๆ เท่านั้น” ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นกลับได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาคมระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลังสงคราม”
อย่างไรก็ตาม การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับพวกหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่แนวทางสำคัญของคณะรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้แต่อย่างใด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มพูนความไว้วางใจกันกับประชาคมระหว่างประเทศ ลองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เอ็นเอชเค ซึ่งก็คือ บีบีซี ในเวอร์ชั่นของญี่ปุ่น ก็จะมองเห็นแง่มุมนี้ได้อย่างกระจ่างชัด ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริหารของเอ็นเอชเคเสียใหม่ โดยที่กรรมการหน้าใหม่ 4 คนเป็นพวกฝักใฝ่นิยมอาเบะ หนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ คัตสึโตะ โมมิอิ (Katsuto Momii) ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานขององค์การสื่อแห่งนี้ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี เขาเปิดตัวแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม และก็สร้างความตื่นตะลึงจากการกล่าวอย่างไม่มีอะไรปิดบังเคลือบคลุมว่า เอ็นเอชเคจะต้องเป็นพันธมิตรผู้โปร่งใสและยึดมั่นกับจุดยืนของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party) ของอาเบะ “เมื่อรัฐบาลกำลังบอกว่า ‘ขวา’ เราก็ไม่สามารถบอกว่า ‘ซ้าย’ ได้หรอก วงการแพร่ภาพออกอากาศระหว่างประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ (ในการแสดงตัวเป็นนักโฆษณาป่าวร้องของรัฐบาลของตนเช่นนี้)” โมมิอิ กล่าว
เขายังแสดงท่าทีไม่ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องที่ญี่ปุ่นถูกกล่าวหาอย่างอึกทึกครึกโครม จากการจัดให้มี “หญิงปลอบขวัญทหาร” (comfort women) ขึ้นในกองทัพยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่เขาบอกว่า พวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ประทับตราให้แก่ระบบนี้เสียใหม่อย่างผิดๆ ว่าเป็น “ทาสบำเรอกาม” สิ่งที่โมมิอิพูดแก้ต่างให้แก่ระบบนี้นั้น แปลความได้ว่า กองทัพของทุกๆ ประเทศต่างก็ทำเรื่องนี้กันทั้งนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะกองทัพญี่ปุ่น โดยที่ผู้หญิงเหล่านี้ก็มีบทบาทความสำคัญของตนเองอยู่ในสงครามด้วย นอกจากนั้นเขากล่าวว่า ไม่เห็นมีประเด็นอะไรเลยที่จะมาข้องใจตั้งคำถามเอากับกฎหมายความลับแห่งรัฐของญี่ปุ่นที่เพิ่งประกาศบังคับใช้และก่อให้เกิดการวิจารณ์ถกเถียงกันอย่างหนัก รวมทั้งเขายังประกาศให้คำมั่นว่า รายการนานาชาติของเอ็นเอชเค ซึ่งครอบคลุมถึงรายการภาษาอังกฤษของเอ็นเอชเค เวิลด์ ด้วยนั้น จะไม่มีการท้าทายตั้งแง่ต่อจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งญี่ปุ่นกับจีนช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ สรุปแล้วความคิดเห็นของประธานเอ็นเอชเคคนใหม่นี้ ให้ความรู้สึกราวกับกำลังได้เห็น คาร์ล โรฟ (Karl Rove ผู้ช่วยและนักยุทธศาสตร์การเลือกตั้งคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เขาขึ้นชื่อโด่งดังในเรื่องที่มีแนวความคิดแบบขวาจัด – ผู้แปล) เข้าไปเป็นผู้อำนวยการวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) ยังไงยังงั้นทีเดียว
แนนซี สโนว์ เป็นนักวิจัยทุนอาเบะ และศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ในกรุงโตเกียว เธอกำลังเขียนหนังสือว่าด้วยแบรนด์ภาพลักษณ์ประเทศของญี่ปุ่นนับแต่มหาภัยพิบัติเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งใกล้ที่จะเสร็จแล้ว เธอเป็นศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท (California State University) เมืองฟุลเลอร์ตัน (Fullerton), เป็นผู้เขียน/บรรณาธิการหนังสือรวม 9 เล่ม ปัจจุบันพำนักอาศัยด้วยการทำงานพาร์ตไทมส์อยู่ในโตเกียว สามารถติดต่อเธอได้ที่ www.nancysnow.com
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF เว็บไซต์ http://fpif.org/) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางนโยบาย ทั้งนี้ FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Abe tunes up to militant beat
By Nancy Snow
13/02/2014
การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับพวกหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ๆ ในเอเชีย ไม่ใช่แนวทางสำคัญของคณะรัฐบาลชินโซ อาเบะ ในกรุงโตเกียวแต่อย่างใด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มพูนความไว้วางใจกันกับประชาคมระหว่างประเทศ สไตล์ของเขานั้นคือการกระหน่ำตีกลองศึกให้คำรามกึกก้องเข้าไว้มากกว่า ดังมีตัวอย่างให้เห็นจากการที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ และการที่เขาเคารพเลื่อมใสในตัว โนบุซุเกะ คิชิ คุณตาของเขา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
วันนั้นเป็นวันพฤหัสบดีในกรุงโตเกียว เป็นวันถัดจากวันคริสต์มาส ซึ่งในบางชาติบางประเทศเรียกขานกันว่าวัน “บ็อกซิ่ง เดย์” (Boxing Day วันแกะกล่องของขวัญที่ได้รับมาในช่วงคริสต์มาส) ช่วงเวลานี้ของปีซึ่งอยู่ในตอนท้ายๆ ของเดือนธันวาคม ย่อมสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับบรรยากาศอันเฟื่องฟุ้งไปด้วยความร่าเริงและความสุข ถึงแม้แดนอาทิตย์อุทัยไม่ใช่เป็นประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องศาสนาอะไร และแน่นอนทีเดียวว่าไม่ใช่ชาติคริสเตียน แต่ชาวญี่ปุ่นก็ชื่มชอบที่จะหาข้อแก้ตัวสำหรับการได้ออกไปเตร็ดเตร่เที่ยวชมประกายระยิบระยับของแสงไฟที่ประดับประดาตามต้นไม้ และแปลงร่างกลายเป็นนักเสพติดการช็อปปิ้งไม่แพ้คนชาติอื่นๆ
ทว่าในวันบ็อกซิ่งเดย์หลังคริสต์มาสคราวนี้ ความร่าเริงใจกลับค่อยๆ เหือดแห้งหมดสิ้นไป มันละลายหายลับไปไม่ใช่เนื่องจากประเพณีปฏิบัติของการที่ต้องเก็บกวาดจัดเก็บข้าวของลงกล่องให้เรียบร้อยในช่วงสิ้นปีอะไรนักหรอก หากแต่เป็นเพราะความรู้สึกของการถูกโอบล้อมอย่างแน่นหนาจนอึดอัดหดหู่เสียมากกว่า
วันบ็อกซิ่งเดย์ของปี 2013 กลายเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เลือกใช้เพื่อการเปิดตัวอัลบั้มใหม่ ซึ่งควรที่จะขนานนามให้ว่า “อาเบะ โรด” (Abe Road เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนใช้ชื่อนี้ก็เพื่อล้อเลียนและทำให้หวนนึกถึง “แอบบีย์ โรด” Abbey Road อัลบั้มโด่งดังของวง เดอะบีทเทิลส์ - ผู้แปล) อัลบั้มชุดนี้ประกอบด้วยเพลงซิงเกิลอย่างเช่น “Come Apart”, “He Came in through the War Shrine Gate”, และ “Japan Sun King” (เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนตั้งชื่อล้อเลียนเพลง “Come Together”, “She Came In Through the Bathroom Window”, และ “Sun King” ในอัลบั้ม “แอบบีย์ โรด” ของ เดอะบีทเทิลส์ - ผู้แปล) ดนตรีควรที่จะเป็นสไตล์ผสมผสานกันของเสียงดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิม, บทเพลงแห่งสงคราม, และเฮฟวี เมทัล ซึ่งกระหึ่มด้วยเสียงเบสที่กระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย “เทสโทสเตอโรน” (testosterone) ปฏิกิริยาของพวกนักวิจารณ์ต่ออัลบั้ม “อาเบะ โรด” นั้น อยู่ในลักษณะเกรี้ยวกราดไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกัน และเป็นปรปักษ์กันมาแต่ไหนแต่ไรอย่าง จีน และเกาหลี ซึ่งประณามว่ามันเป็นการถอยหลังกลับไปสู่ความก้าวร้าวแห่งยุคสงครามในอดีตของญี่ปุ่น แม้กระทั่งพวกแฟนคลับญี่ปุ่นตัวยงอย่างดิฉันก็ยังรู้สึกเช่นนั้นด้วย เพราะดิฉันนั้นต่อต้านคัดค้านทัศนคติทางการเมืองอย่างใหม่ที่มุ่งเน้นการโอ่อวดชิงดีชิงเด่นของประเทศนี้
เป็นที่คาดหมายได้ว่าพวกปรปักษ์ในภูมิภาคจะต้องฉวยใช้ประโยชน์ในเชิงแนวความคิดอุดมการณ์ทุกๆ อย่างที่ทำได้จากย่างก้าวอันผิดพลาดของแดนอาทิตย์อุทัยนี้ ด้วยการโหมประโคมเรื่องลัทธินิยมเชิดชูความเป็นทหารของญี่ปุ่น (Japanese militarism) ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า จีนเพิ่งกลายเป็นปีศาจร้ายของภูมิภาคนี้ไปหยกๆ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการประกาศใช้ระเบียบการแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defense identification system) เหนือทะเลจีนตะวันออก โดยครอบคลุมถึงพื้นที่หมู่เกาะซึ่งพิพาทช่วงชิงอยู่กับพวกประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่แล้วในวันบ็อกซิ่งเดย์ อาเบะก็กลับขโมยซีนมาจากจีน ด้วยการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) ในกรุงโตเกียว โดยที่ศาลเจ้าซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันมากแห่งนี้ เป็นสถานที่ไว้อาลัยพวกทหารญี่ปุ่นผู้วายชนม์ ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษฐานเป็นอาชญากรสงครามด้วย โตเกียวพยายามแก้ตัวอย่างน้ำขุ่นๆ ว่า การไปยาสุคุนิของอาเบะคราวนี้ เป็นเพียงการไปสักการะผู้เสียชีวิตจากสงครามตามแบบประเพณีภายในประเทศเท่านั้น ทว่าพวกนักวิจารณ์ไม่ได้เอออวยยอมรับคำอธิบายเช่นนี้เลย
สิ่งที่อาเบะและกลุ่มคนวงในของเขาไม่เข้าใจเอาเสียเลยก็คือ เมื่อเป็นคำพูดและการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว มันไม่สามารถแบ่งแยกได้หรอกระหว่างเรื่องภายในประเทศกับเรื่องระหว่างประเทศ พาดหัวในเวลานี้ของสื่อทั้งระดับโลกและภายในญี่ปุ่นเอง ต่างกรีดร้องออกมาอย่างเป็นเสียงเดียวกันว่า ญี่ปุ่นกำลังอยู่ “ในเส้นทางอันตราย” ดังที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เจแปน ไทมส์ (Japan Times) ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2014 เขียนเอาไว้อย่างตำหนิติเตียน (http://www.japantimes.co.jp/opinion/2014/01/27/editorials/abes-dangerous-path/#.UwI5adySyb8)
กระแสคลั่งชาติที่พุ่งสูงปริ๊ดอย่างฉับพลันของญี่ปุ่น กำลังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนต่อภาพลักษณ์แบรนด์แห่งชาติของแดนอาทิตย์อุทัย พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศอย่างวอลล์สตรีทเจอร์นัล บอกว่า ญี่ปุ่นกำลังกระหน่ำตีกลองศึก บอกว่าการไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของอาเบะมีแต่จะทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคยิ่งเลวร้ายลงไปอีก (http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702304483804579281103015121712) หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่างอาซาฮีชิมบุง ระบุว่า อาเบะวินิจฉัยผิดพลาดโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐฯอาจจะใช้ตอบโต้ต่อการกระทำของเขาคราวนี้ (https://ajw.asahi.com/article/behind_news/politics/AJ201312280043) ส่วนหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษกล่าวว่า นโยบาย “ปักหมุด” (pivot) ในเอเชีย-แปซิฟิกของโอบามา กำลังกลายเป็น “เรื่องน่าปวดหัวของนโยบายการต่างประเทศ” แทนที่จะเป็นเสาหลักของนโยบายการต่างประเทศ (http://www.theguardian.com/world/2014/jan/28/obama-china-japan-relations-asia)
**สำหรับอาเบะแล้ว อันดับแรกคือการทหาร**
ในแดนอาทิตย์อุทัยนั้น การตะโกนโห่ร้องสร้างขวัญกำลังใจตอนออกศึกด้วยประโยคที่ว่า “เรากลับมาแล้ว” (We’re back!) ครั้งหนึ่งในอดีตเคยหมายถึงการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เคยย่ำแย่หนักช่วงแพ้สงคราม กลับสามารถเติบโตขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1990 เราอาจจะระบุได้ว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สั่งสมพอกพูนมาอย่างยาวนานเช่นนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อกำเนิดหนังสืออันแสดงความภาคภูมิใจในญี่ปุ่นอย่างชนิดไม่ยอมเป็นรองใครๆ อย่างเรื่อง The Japan That Can Say No: Why Japan Will Be First Among Equals. (ญี่ปุ่นที่กล้าพูดว่าไม่เอา: ทำไมญี่ปุ่นจึงจะกลายเป็นที่หนึ่งในบรรดาผู้ที่เท่าเทียมกัน) ของ ชินตาโร อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) สำหรับในทุกวันนี้ ประโยค “เรากลับมาแล้ว” กลับน่าที่จะก่อให้เกิดภาพของอาวุธทันสมัยขึ้นมาในใจ อย่างเช่นพวกอากาศยานไร้นักบินประเภทตรวจการณ์ และยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ดังที่ เจแปน ไทมส์ เตือนไว้ในบทบรรณาธิการฉบับวันที่ 27 มกราคม (http://www.japantimes.co.jp/opinion/2014/01/27/editorials/abes-dangerous-path/#.UwI5adySyb8) ดังนี้:
“ถ้าหากรัฐบาลอาเบะสามารถเดินหน้าไปจนบรรลุเป้าหมายของพวกเขาแล้ว มันก็จะเป็นการแผ้วถางทางให้ญี่ปุ่นเข้าไปพัวพันยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในต่างแดนร่วมกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกับสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นการพลิกผันอย่างสิ้นเชิงจากท่วงท่าพื้นฐานแบบ “การป้องกันที่มุ่งเพื่อการป้องกันจริงๆ เท่านั้น” (defense-only defense) ของญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม ซึ่งกำหนดจัดวางขึ้นมาก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดของการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสงครามเฉกเช่นที่ได้เคยกระทำมาในศตวรรษที่แล้ว อีกทั้งได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าเศร้าสลดทั้งสำหรับภูมิภาคแถบนี้และสำหรับญี่ปุ่นเอง ทั้งนี้ท่วงท่าพื้นฐานแบบ “การป้องกันที่มุ่งเพื่อการป้องกันจริงๆ เท่านั้น” ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นกลับได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาคมระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลังสงคราม”
อย่างไรก็ตาม การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับพวกหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่แนวทางสำคัญของคณะรัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้แต่อย่างใด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มพูนความไว้วางใจกันกับประชาคมระหว่างประเทศ ลองพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เอ็นเอชเค ซึ่งก็คือ บีบีซี ในเวอร์ชั่นของญี่ปุ่น ก็จะมองเห็นแง่มุมนี้ได้อย่างกระจ่างชัด ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริหารของเอ็นเอชเคเสียใหม่ โดยที่กรรมการหน้าใหม่ 4 คนเป็นพวกฝักใฝ่นิยมอาเบะ หนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ คัตสึโตะ โมมิอิ (Katsuto Momii) ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานขององค์การสื่อแห่งนี้ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี เขาเปิดตัวแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม และก็สร้างความตื่นตะลึงจากการกล่าวอย่างไม่มีอะไรปิดบังเคลือบคลุมว่า เอ็นเอชเคจะต้องเป็นพันธมิตรผู้โปร่งใสและยึดมั่นกับจุดยืนของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party) ของอาเบะ “เมื่อรัฐบาลกำลังบอกว่า ‘ขวา’ เราก็ไม่สามารถบอกว่า ‘ซ้าย’ ได้หรอก วงการแพร่ภาพออกอากาศระหว่างประเทศอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ (ในการแสดงตัวเป็นนักโฆษณาป่าวร้องของรัฐบาลของตนเช่นนี้)” โมมิอิ กล่าว
เขายังแสดงท่าทีไม่ให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องที่ญี่ปุ่นถูกกล่าวหาอย่างอึกทึกครึกโครม จากการจัดให้มี “หญิงปลอบขวัญทหาร” (comfort women) ขึ้นในกองทัพยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่เขาบอกว่า พวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ประทับตราให้แก่ระบบนี้เสียใหม่อย่างผิดๆ ว่าเป็น “ทาสบำเรอกาม” สิ่งที่โมมิอิพูดแก้ต่างให้แก่ระบบนี้นั้น แปลความได้ว่า กองทัพของทุกๆ ประเทศต่างก็ทำเรื่องนี้กันทั้งนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะกองทัพญี่ปุ่น โดยที่ผู้หญิงเหล่านี้ก็มีบทบาทความสำคัญของตนเองอยู่ในสงครามด้วย นอกจากนั้นเขากล่าวว่า ไม่เห็นมีประเด็นอะไรเลยที่จะมาข้องใจตั้งคำถามเอากับกฎหมายความลับแห่งรัฐของญี่ปุ่นที่เพิ่งประกาศบังคับใช้และก่อให้เกิดการวิจารณ์ถกเถียงกันอย่างหนัก รวมทั้งเขายังประกาศให้คำมั่นว่า รายการนานาชาติของเอ็นเอชเค ซึ่งครอบคลุมถึงรายการภาษาอังกฤษของเอ็นเอชเค เวิลด์ ด้วยนั้น จะไม่มีการท้าทายตั้งแง่ต่อจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งญี่ปุ่นกับจีนช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ สรุปแล้วความคิดเห็นของประธานเอ็นเอชเคคนใหม่นี้ ให้ความรู้สึกราวกับกำลังได้เห็น คาร์ล โรฟ (Karl Rove ผู้ช่วยและนักยุทธศาสตร์การเลือกตั้งคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เขาขึ้นชื่อโด่งดังในเรื่องที่มีแนวความคิดแบบขวาจัด – ผู้แปล) เข้าไปเป็นผู้อำนวยการวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) ยังไงยังงั้นทีเดียว
แนนซี สโนว์ เป็นนักวิจัยทุนอาเบะ และศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ในกรุงโตเกียว เธอกำลังเขียนหนังสือว่าด้วยแบรนด์ภาพลักษณ์ประเทศของญี่ปุ่นนับแต่มหาภัยพิบัติเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งใกล้ที่จะเสร็จแล้ว เธอเป็นศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท (California State University) เมืองฟุลเลอร์ตัน (Fullerton), เป็นผู้เขียน/บรรณาธิการหนังสือรวม 9 เล่ม ปัจจุบันพำนักอาศัยด้วยการทำงานพาร์ตไทมส์อยู่ในโตเกียว สามารถติดต่อเธอได้ที่ www.nancysnow.com
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF เว็บไซต์ http://fpif.org/) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางนโยบาย ทั้งนี้ FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)