เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ทหารตำรวจเนปาล เมื่อวันจันทร์ (17 ก.พ.) ตรวจพบซากเครื่องบินของสายการบิน “เนปาลแอร์ไลน์” ที่หายไปตั้งแต่วันอาทิตย์ (16) และดำเนินกู้ศพผู้โดยสารตลอดจนลูกเรือทั้ง 18 คน ซึ่งเสียชีวิตยกลำ ภายหลังอากาศยานขนาดเล็กลำนี้ ตกลงสู่พื้นที่เขตเขาทางภาคตะวันตกของประเทศ และกลายเป็นวินาศภัยครั้งล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นกับสายการบินของเนปาลที่ถูกนานาชาติขึ้นบัญชีดำด้านความปลอดภัยอยู่แล้ว
ชิ้นส่วนศพผู้เสียชีวิตและซากเครื่องบิน 2 ใบพัด “ทวิน ออตเตอร์” ของเนปาลแอร์ไลน์ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 15 คนและลูกเรือ 3 คน ในขณะเกิดเหตุลำนี้ ถูกพบกระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ถัดจากจุดที่เครื่องบินตกในวันอาทิตย์ บริเวณนี้อยู่ในเขตอำเภออาร์กาคันจี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงกาฐมาณฑุ ไปทางทิศตะวันตก 226 กิโลเมตร
ตำรวจซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุเล่าว่า พวกเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องขุดลงไปในหิมะซึ่งตกลงมาปกคลุมศพผู้เสียชีวิตในช่วงกลางคืน ศพส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเลวร้ายมาก มีหลายส่วนของร่างกายถูกไฟไหม้ และมีเพียง 8 คนเท่านั้นที่ส่วนใบหน้าไม่ได้เสียหายอะไร
ขณะที่ โมหัน กฤษณะ สัปโคตา ซึ่งทำหน้าที่โฆษกให้กระทรวงการท่องเที่ยวและการบินพลเรือนแจ้งว่า ได้พบกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินแล้ว และรัฐบาลก็ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุคราวนี้แล้วด้วย
เครื่องบิน 2 ใบพัดลำนี้ ซึ่งบนเครื่องมีผู้โดยสารชาวเดนมาร์ก 1 คน นอกนั้นเป็นชาวเนปาลทั้งหมด ได้ขาดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ไม่นานนักภายหลังขึ้นบินจากสนามบินเมืองโปขระ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์
อากาศยานจากสายการบินของรัฐ ซึ่งถูกใช้งานอยู่เป็นประจำตั้งแต่ปี 1971 ลำนี้ ต้องเผชิญกับฝนที่ตกกระหน่ำอย่างหนัก ขณะกำลังมุ่งตรงไปยังเมืองจัมลา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกาฐมัณฑุไปทางทิศตะวันตก 353 กิโลเมตร
ฝนที่เทลงมายังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามในการค้นหาเครื่องบินลำนี้ในวันอาทิตย์ โดยมีเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำต้องบินกลับไปเนื่องจากสภาพอากาศอันเลวร้าย กระทั่งในวันจันทร์จึงสามารถเริ่มการค้นหาได้ใหม่ และมองเห็นจุดที่มีซากเครื่องบินตกเกลื่อนในที่สุด
อุบัติเหตุคราวนี้เป็นชนวนให้เกิดกระแสความวิตกกังวลต่อวงการการบินของประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้อีกครั้ง ซึ่งเคยถูกบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของนานาประเทศวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตหลายระลอก
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้สั่งห้ามไม่ให้สายการบินทั้งหมดของเนปาลบินเข้าไปในประเทศสมาชิกอียู
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนปาลที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก กำลังเผชิญกับปัญหาอุบัติเหตุทางอากาศหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งปกติแล้วมีสาเหตุมาจากนักบินที่ขาดประสบการณ์ การบริหารจัดการที่ไม่ได้คุณภาพ และการขาดการซ่อมบำรุงที่ถูกต้อง