xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 35 ปี ‘สงครามสั่งสอน’ ‘ฮานอย’ ขวางผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้าน ‘ปักกิ่ง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ประท้วงฟังสุนทรพจน์สั้นๆ ของผู้นำการชุมนุม (ซ้าย) ขณะที่พวกเชารวมตัวกันที่วัดหง็อกเซิน ในกรุงฮานอยเมื่อวันอาทิตย์ (16) เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีของสงครามชายแดนอันดุเดือดรุนแรงระหว่างเวียดนามกับจีน
เอเจนซีส์ – เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีของศึกอาบเลือดบริเวณชายแดน ที่จีนระบุว่าเป็น “สงครามสั่งสอน” เวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.พ.) พวกผู้ประท้วงชาวเวียดนามได้ออกมาชุมนุมเดินขบวนเปล่งคำขวัญต่อต้านจีน ร้องเพลงรักชาติ และวางดอกไม้ไว้อาลัยที่วัดใจกลางกรุงฮานอย ทว่าความพยายามของพวกเขาที่จะเข้าไปวางดอกไม้ ณ อนุสาวรีย์กษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมืองหลวงแห่งนี้ ได้ถูกขัดขวางจากกลุ่มคนซึ่งเชื่อกันว่าถูกรัฐบาลเกณฑ์ให้มาจัดการลีลาศและคลาสแอโรบิกที่เปิดเพลงดังสนั่น เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงอนุสาวรีย์และกล่าวปราศรัย

ผู้ประท้วงบางคนที่พยายามเข้าถึงอนุสาวรีย์พระเจ้าลี้ ท้าย โต๋ ผู้ก่อตั้งกรุงฮานอย อีกทั้งเป็นผู้นำซึ่งพวกชาตินิยมในปัจจุบันให้ความเคารพยกย่อง แต่ปรากฏว่าถูกพวกที่ลีลาศและเต้นแอโรบิกอยู่บริเวณนั้นโห่ไล่

การประท้วงเพื่อระลึกวาระครบรอบ 35 ปีของสงครามชายแดนอันนองเลือดระหว่างจีนกับเวียดนามคราวนี้ ยังบังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวเวียดนามมีความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่จีนแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นดินแดนของตนเช่นเดียวกัน

การพิพาทขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ทั้งสองประเทศโต้เถียงทางการทูตบ่อยครั้งเกี่ยวกับสิทธิ์ในการสำรวจแหล่งน้ำมันและการประมง รวมทั้งจุดชนวนความโกรธแค้นและการประท้วงที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในเวียดนาม โดยบางครั้งรัฐบาลก็ปล่อยให้มีการประท้วงอย่างเสรี แต่บางคราวก็ใช้กำลังสลายการชุมนุม

ประเทศทั้งสองเคยทำสงครามรบราครั้งใหญ่กันหนสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 1979 เมื่อจีนส่งกองทหารบุกจังหวัดทางตอนเหนือสุดของเวียดนาม เนื่องจากไม่พอใจที่เวียดนามยกทัพบุกกัมพูชาและขับไล่ระบอบเขมรแดงที่ปักกิ่งให้การสนับสนุน

การสู้รบช่วงสั้นๆ แต่รุนแรงและนองเลือดบริเวณชายแดนเวียดนาม-จีน ซึ่งผู้นำจีนเรียกว่าเป็นการทำสงครามสั่งสอนเวียดนามคราวนั้น ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายผู้เสียชีวิตนับหมื่น และจบลงด้วยการที่กองทัพจีนถอนตัวกลับออกไป โดยต่างฝ่ายต่างอ้างชัยชนะ ฝ่ายปักกิ่งบอกว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของตนแล้ว ส่วนฝ่ายฮานอยก็ประโคมว่าสามารถขับไล่ผลักดันผู้รุกรานกลับไป

สำหรับกองทัพเวียดนามในกัมพูชานั้น ยังคงอยู่ในประเทศนั้นจนถึงปี 1989

ถึงแม้รัฐบาลเวียดนามจัดพิธีการเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือกองทัพฝรั่งเศสและกองทัพอเมริกัน แต่กลับไม่เคยจัดงานฉลองชัยในสงครามชายแดนที่ทำกับจีนอย่างเป็นทางการ สร้างความผิดหวังให้แก่บรรดาทหารผ่านศึกและนักเคลื่อนไหวชาตินิยมตลอดมา

เหวียน จ่อง วิงห์ อดีตเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำจีน แสดงความคิดเห็นว่า ผู้นำเวียดนามอาจถูกกดดันจากจีน จึงไม่อยากพูดถึงสงครามดังกล่าว

ทั้งนี้ในปัจจุบันจีนอยู่ในฐานะคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2012

ในวันอาทิตย์ เหวียน กว่าง เอ ผู้ต่อต้านรัฐบาลที่เป็นที่รู้จักกันดี และผู้ประท้วงคนอื่นๆ ราว 100 คน ซึ่งพยายามเข้าไปวางดอกไม้ไว้อาลัยที่อนุสาวรีย์พระเจ้าลี้ ท้าย โต๋ ตลอดจนอนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียง ทว่ากลับเผชิญกับผู้คนหลายสิบคนซึ่งอยู่ที่บริเวณดังกล่าวก่อนแล้วตั้งแต่เช้ามืด และกำลังเต้นรำขณะเปิดเพลงดังสนั่น

กว่าง ระบุว่า รัฐบาลเกณฑ์คนมาออกมาลีลาศและเต้นแอโรบิก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงไปชุมนุม ซึ่งเป็นกลวิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอย่างละมุนละม่อม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งปะปนอยู่ในกลุ่มคน ขณะที่ตำรวจในเครื่องแบบในบริเวณนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ดี ไม่มีการจับกุมผู้ประท้วงแต่อย่างใด

กว่างเล่าว่า ได้ขอให้พวกนักเต้นรำหยุดชั่วครู่ แต่ถูกปฏิเสธ

พวกผู้ประท้วงที่โพกผ้าสีแดงและถือกุหลาบผูกโบสีดำ จึงได้แต่กล่าวคำไว้อาลัยสั้นๆ ว่า “ประชาชนจะไม่มีวันลืม” จากนั้นจึงเดินขบวนไปรอบๆ ทะเลสาบฮว่านเกี๋ยม ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงฮานอย และไปวางนำดอกไม้แสดงความระลึกถึงชาวเวียดนามที่เสียชีวิตในสงคราม, กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ, และร่วมตะโกนคำขวัญต่อต้านจีน ที่วัดหง็อกเซิน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย รวมทั้งถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพร่วมกันเพื่อนำไปโพสต์บนบล็อกของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและหน้าเฟซบุ๊ก

หลังจากนั้น 90 นาที คนเหล่านี้ก็แยกย้ายกลับบ้านอย่างสงบ

แม้มีสื่อมวลชนไปทำข่าวการประท้วง ทว่า สื่อของรัฐที่ถูกควบคุมเคร่งครัดกลับไม่ได้นำข่าวนี้ไปเผยแพร่แต่อย่างใด

การประท้วงต่อต้านจีนในฮานอยก่อนหน้านี้มักจบลงโดยที่ผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่จับตัวลากขึ้นรถหรือเกิดการตะลุมบอนกัน รัฐบาลพยายามป้องกันไม่ให้ภาพเหล่านี้แพร่หลายในสื่อสังคม เนื่องจากกลัวถูกมองว่าปกป้องจีนจากความขุ่นเคืองของกลุ่มชาตินิยม ซึ่งกำลังมีอิทธิพลแพร่หลายในหมู่ประชาชนจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น