เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนในความปกครองของสหรัฐฯ ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่เกาะมาเรียนานั้น ถือเป็นดินแดนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการรุกรานของ “งู” จำนวนมากมาเป็นเวลาช้านานไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะบรรดา “งูต้นไม้สีน้ำตาล” ที่ถือเป็นผู้มาเยือนจากต่างถิ่น
ก่อนหน้าที่จะมีการรุกรานของงูต้นไม้สีน้ำตาล (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Boiga irregularis) นั้น เกาะกวมซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 190 ของโลกจากการมีเนื้อที่ราว 541.3 ตารางกิโลเมตร ถูกระบุว่า มีงูประจำถิ่นหรืองูพื้นเมืองอยู่เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นนั่นคือ “งูตาบอด” ซึ่งกินปลวกและมดเป็นอาหาร โดยไม่เป็นภัยคุกคามใดๆ ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ดี มีการพบงูต้นไม้สีน้ำตาลบนเกาะกวมครั้งแรกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยเชื่อว่าพวกมันถูกนำเข้ามาแบบไม่ตั้งใจผ่านทางกระบวนการขนส่งลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และสัมภาระทางทหารของสหรัฐฯ ระหว่างที่กองทัพอเมริกันเข้ามาปักหลักในแปซิฟิกเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะไม่มีการยืนยันได้แน่ชัดว่าเจ้างูสายพันธุ์นี้ซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดอยู่ในเขตป่าลึกของปาปัวนิวกินีและตอนเหนือของออสเตรเลีย เข้ามายังเกาะกวมได้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่เท่าใดก็ตาม
หลังการค้นพบงูต้นไม้สีน้ำตาลบนเกาะกวมครั้งแรกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 มีรายงานว่า พวกมันได้แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถยึดครองพื้นที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเกาะเมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ก่อนที่จะมีการยืนยันว่าพบงูต่างถิ่นสายพันธุ์นี้ในทั่วทุกพื้นที่ของเกาะกวมในปี 1968
การรุกรานของงูต้นไม้สีน้ำตาลบนเกาะกวมส่งผลให้ประชากรนกของเกาะกวมลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางของเกาะซึ่งถูกระบุว่า มีงูต่างถิ่นชนิดนี้อาศัยอยู่อย่างชุกชุมที่สุด และเมื่อถึงทศวรรษที่ 1970 หน่วยงานด้านการคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชของรัฐบาลอเมริกันก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีนกพื้นเมือง กิ้งก่า และสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิดได้ “สูญพันธุ์” จากเกาะแห่งนี้อย่างถาวร เพราะไม่อาจรอดพ้นจากงูนักล่าที่เข้ามาทำลายสมดุลของห่วงโซ่อาหาร บนเกาะกวมจนหมดสิ้น
ผลสำรวจล่าสุดของทางการสหรัฐฯ ที่มีการเผยแพรเมื่อไม่นานมานี้ยืนยันว่า ประชากรงูต้นไม้สีน้ำตาลบนเกาะกวมล่าสุดนั้นมีอยู่มากกว่า 13,000 ตัวในพื้นที่ทุกๆ 2.5 ตารางกิโลเมตรของเกาะกวม ซึ่งหมายความว่าตลอดพื้นที่ทั่วทั้ง 541.3 ตารางกิโลเมตรของเกาะในปกครองของสหรัฐฯแห่งนี้ จะมีประชากรงูนักล่าชนิดนี้มากจนเหลือประมาณ
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนประชากรบนเกาะกวมที่มีไม่ถึง 170,000 คนต่างคิดค้นหลากหลายวิธีเพื่อกำจัดงูต้นไม้สีน้ำตาลออกจากเกาะของตน แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าล่าสุด กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เตรียมส่งหน่วย “คอมมานโดหนู” ชุดแรกจำนวน 2,000 ตัวลงไปยังเกาะกวม หวังให้พวกมันช่วยกำจัดประชากรงูต้นไม้สีน้ำตาล ที่เป็นต้นเหตุให้รัฐบาลอเมริกันต้องประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 128 ล้านบาท) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า ทางการสหรัฐฯ มิได้มีแผนจะนำหนูตัวเป็นๆที่ยังมีชีวิตมาใช้ใน “ภารกิจด้านความมั่นคง”ครั้งนี้แต่พวกเขาจะใช้ร่างของ “หนูที่ตายแล้ว” บรรจุในกล่องกระดาษแข็งขนาดเล็กที่เจาะรูและผูกติดกับร่มชูชีพ ก่อนจะทิ้งพวกมันลงมาจากเครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตามพื้นที่เป้าหมายต่างๆ บนเกาะกวม
โดยความพิเศษของหน่วยคอมมานโดหนู 2,000 ตัวนี้ คือ การที่ร่างของพวกมันต่างถูกฉีด “ยาแก้ปวด” ปริมาณเข้มข้นไว้ภายในไม่ต่ำกว่า 500 มิลลิกรัม และเมื่องูต้นไม้สีน้ำตาลบนเกาะกวมมากินซากของพวกมัน งูนักล่าสายพันธุ์ดังกล่าวก็จะจบชีวิตลงในเวลาไม่นานเนื่องจากผลการทดลองร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และกองทัพสหรัฐฯ ในห้องปฏิบัติการในช่วงก่อนหน้านี้ พบข้อมูลที่น่าเหลือเชื่อว่า ยาเม็ดแก้ปวดลดไข้ที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปอย่างเช่น ยายี่ห้อดัง “ไทลินอล” มีส่วนประกอบซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่องูสายพันธุ์ที่ว่านี้
ผลการทดลองล่าสุดยืนยันว่า งูต้นไม้สีน้ำตาลจะเสียชีวิตทันทีหากพวกมันได้รับยาแก้ปวดเข้าสู่ร่างกายเพียง 80 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับ ปริมาณ 1 ใน 6 ส่วนของยาแก้ปวดขนาดมาตรฐาน 1 เม็ด
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าโครงการวิจัยดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯที่มีมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 8 ล้านดอลลาร์ (ราว 257 ล้านบาท) นี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ในการลดจำนวนประชากรงูนักล่าชื่อดังบนเกาะกวม ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการยืนยันว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากในอนาคต เจ้างูต้นไม้สีน้ำตาลเหล่านี้เกิด “ดื้อยาแก้ปวด” ขึ้นมา ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริง ความพยายามในการกำจัดพวกมันอาจยากขึ้นอีกเป็นเท่าทวีคูณ